ปลูกป่าคือ CSR ที่แท้ของ ปตท.จริงหรือ
  AREA แถลง ฉบับที่ 167/2558: วันอังคารที่ 23 มิถุนายน 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ในขณะนี้กำลังมีการรณรงค์เกี่ยวกับ "ป่าในกรุง" ของสถาบันปลูกป่า ปตท. นับเป็นการริเริ่มที่ดีของ ปตท. แต่ในอีกแง่หนึ่งอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่คำถามสำคัญว่าการปลูกป่าคือกิจกรรม CSR ที่แท้ของ ปตท.จริงหรือไม่

            ปตท. ปลูกป่ามาแล้ว 1 ล้านไร่ และอ้างว่าประสบความสำเร็จด้วยดี ซึ่งกรณีนี้ควรที่จะแสดงหลักฐานให้ชัดเจน เพราะปกติการปลูกป่าทั่วไป ส่วนมากมักไม่รอด ต้องปลูกซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ในกรณี ปตท. อาจปลูกในพื้นที่พิเศษ เป็นโครงการพิเศษ อาจรอดในอัตราพิเศษที่มากกว่าปกติก็ได้ แต่ก็ควรเปิดเผยเพื่อนำมาเป็นตัวอย่างหรือกรณีศึกษาสำหรับวิสาหกิจอื่น ๆ เช่นกัน

            อย่างไรก็ตามขณะนี้ ปตท.กำลังมีโครงการใหม่ คือ โครงการ "ป่าในกรุง" ซึ่งเป็นโครงการที่มีการโฆษณากันอย่างขนานใหญ่ และเป็นโครงการที่ดี แต่ก็คงไร้ผลต่อการลดมลภาวะ สิ่งที่สังคมพึงเข้าใจให้ชัดเจนก็คือปัญหาฝุ่นละอองในอากาศนั้นเกิดจากรถยนต์เป็นสำคัญ (http://goo.gl/aC2X6m) หากในกรุงเทพมหานครยังไม่มีการใช้ระบบขนส่งมวลชนอย่างขนานใหญ่ จนทำให้การขับรถน้อยลงเช่นในมหานครชั้นนำของโลก ก็ยังคงไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ จะมีพื้นที่สีเขียวอีกมากแค่ไหน ก็แก้ปัญหานี้ไม่ได้

            ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า "ปัจจุบันคอนโดฯ ขึ้นมากมาย และเราก็อยู่ในกรุงเทพฯ กันอย่างแออัดเบียดเสียด" (https://goo.gl/yHaj69) ข้อนี้ไม่เป็นความจริง ความหนาแน่น (Density) ของประชากรกรุงเทพมหานครเป็นเพียงประมาณ 3,500 คนต่อตารางกิโลเมตร ในขณะที่สิงคโปร์มีสัดส่วนสูงถึง 7,000 คนต่อตารางกิโลเมตร ความจริงหากเราทำแบบสิงคโปร์ คือให้สร้างตึกสูง ๆ และเว้นโดยรอบให้เป็นพื้นที่สีเขียวให้มาก ก็จะไม่เกิดความแออัดเบียดเสียดแต่อย่างใด

            โครงการป่าในกรุงของ ปตท. ตั้งอยู่บนพื้นที่ราว 12 ไร่แถวถนนสุขาภิบาล 2 เขตประเวศ ก็คงเป็นเพียงโครงการเล็ก ๆ เท่านั้น งบประมาณที่ใช้คงมาก แต่เชื่อว่างบประมาณในการประชาสัมพันธ์โครงการคงมหาศาล แม้จะเป็นเงินพอสมควร แต่หากมาดูว่า ปตท. มีรายได้ประมาณ 2.87 ล้านล้านบาท (รายงานประจำปี 2557)  หาก ปตท. บริจาคเพียง 0.5% ของรายได้เพื่อสังคม ก็จะเป็นเงินสูงถึง 14,350 ล้านบาท ซึ่งคงจะพัฒนาอะไรเป็นชิ้นเป็นอันได้มากกว่านี้  แต่ปกติแล้ววิสาหกิจใหญ่ ๆ จะใช้เงินเพื่อสังคมในสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้ ในขณะที่ประชาชนทั่วไป มีสัดส่วนการบริจาค การเสียภาษีสังคม สูงถึงประมาณ 2.69% ของรายได้ (http://goo.gl/LX3f59)

            แม้ ปตท. จะเคยเป็นรัฐวิสาหกิจ และขณะนี้เป็นบริษัทมหาชน ก็ถือเป็นวิสาหกิจแสวงหากำไร การปลูกป่าหรือการบำเพ็ญประโยชน์ใด ๆ เป็นสิ่งที่ควรดำเนินการเพื่อการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสังคม โดยเฉพาะกิจการน้ำมัน แก๊ส ปิโตรเคมี ฯลฯ อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน จึงยิ่งต้องสมควรทำความดีเพื่อให้เกิดการยอมรับในสังคม

            อย่างไรก็ตามการบริจาค การอาสาทำดีคงไม่ใช่ภารกิจหลักของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR)  การบริจาคเป็นเพียงองค์ประกอบเสริมส่วนหนึ่งเท่านั้น  CSR ที่สำคัญที่สุดของ ปตท. หรือวิสาหกิจยักษ์ใหญ่อื่นก็คือ

            1. การพัฒนาคุณภาพและบริการให้คุ้มค่าต่อเม็ดเงินที่ประชาชนซื้อบริการ พัฒนาสินค้าให้ดีและถูกลงกว่าเดิมตลอดเวลาได้อย่างไร ไม่ใช่ขายสินค้าในราคาแพง ได้กำไรงาม แล้วค่อยมาแบ่งปันเพื่อสังคมในส่วนเล็กๆ เท่านั้น CSR สำคัญที่สุดจึงเป็นการทำให้สินค้าถูกลงเรื่อย ๆ เช่นกิจการสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีราคาลดลงแต่คุณภาพสูงขึ้นตลอดเวลา เพื่อไม่ดำรงสถานะการเอาเปรียบด้วยการผูกขาด ซึ่งทำลายภาพลักษณ์ของวิสาหกิจโดยที่การปลูกป่านับล้านไร่ ก็ช่วยอะไรไม่ได้เลย

            2. การดูแลพนักงาน ซึ่งไม่ใช่หมายถึงพนักงานในบริษัทที่ได้รับสิทธิประโยชน์มากหลาย อยู่อย่างมีความสุขเป็นอย่างมากอยู่แล้ว แต่หมายถึง "เด็กปั้ม" ซึ่งเป็นพนักงาน (หรือ ปตท. ไม่ถือว่าพวกเขาเป็นพนักงาน) ที่ใกล้ชิดกับผู้ใช้บริการมากที่สุด ถ้า "เด็กปั้ม" ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร  ยังแลดูไม่น่าเชื่อถือ (คล้ายพนักงานในสถานีบริการยี่ห้ออื่น) การทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์อื่น ๆ ก็เป็นเพียงกลยุทธ์ทางการตลาดเท่านั้น ไม่ได้ส่งผลต่อการสร้างมูลค่าของตรายี่ห้อสินค้าแต่อย่างใด

            3. การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ตอบสนองคำถามต่อสังคมอย่างทันท่วงที ใส่ใจ เพื่อให้สังคมไม่เคลือบแฝงต่อการดำเนินงานของ ปตท. การนี้จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อวิสาหกิจนี้มากกว่าการปลูกป่า ซึ่งหลังจากหมดงบประมาณในการโฆษณา คนก็จะค่อย ๆ ลืมและไม่ได้เป็นผลดีต่อการสร้างยี่ห้อสินค้าในระยะยาว

            โดยสรุปแล้ว แม้การปลูกป่าในชนบทและในเมืองจะมีความสำคัญและเป็นโครงการที่น่ายกย่อง แต่กิจเช่นนี้ก็ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของ ปตท.  ปตท. ยังมีหนทางการสร้างมูลค่าของยี่ห้อสินค้าเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและลดความเสี่ยงทางธุรกิจของ ปตท.เอง ด้วยกลยุทธ์ CSR ที่แท้ (http://goo.gl/UBSzUl)

อ่าน 7,009 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved