สร้างแฟลตให้ชุมชนแออัด: รัฐบาลไม่ควรทำเอง
  AREA แถลง ฉบับที่ 175/2558: วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            มีข่าวว่ารัฐบาลจะสร้างแฟลต/บ้านคนจนให้กับชาวชุมชนแออัด การนี้มีความสมควรจริงหรือ หรือจะเป็นความสูญเปล่าที่น่าเสียดาย

            เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน 2558 นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติว่า "เรื่องของการดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อย ชุมชนแออัดต่าง ๆ เหล่านี้ต้องคิดกันแล้วว่าเราต้องตั้งประเด็นไว้ว่า เราจะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้มีที่อยู่อาศัย ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีอาชีพมีรายได้ มีตลาดค้าขายที่เพียงพอ มีคุณภาพชีวิตที่ดีเราจะมีการวางแผนเป็นระยะว่า ปีนี้หรือ 3 ปีควรจะมีที่พักในลักษณะที่เป็นอะพาร์ตเม้นต์ เป็นแฟลตอะไรต่าง ๆ ให้คนจน คนมีรายได้น้อยอยู่ ปีหนึ่งคนละเท่าไหร่ สักกี่หน่วย อันนี้เขาให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กำลังไปวางแผนมาอยู่ ก็ต้องไปสอดคล้องกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) สอดคล้องกับกระทรวงมหาดไทยด้วยทั้งในกรุงเทพฯ ทั้งในต่างจังหวัด ในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดอันหนึ่งที่อยากให้ไปคิดเพิ่มก็คือว่า ถ้าเรามีเส้นทางรถไฟ เราสามารถที่จะหางาน หาพื้นที่ให้เขาอยู่แถว ๆ นี้ได้หรือไม่ อย่างน้อยก็เป็นการพัฒนาเมืองขยายเมืองต่อไปในอนาคตด้วย"

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ได้เคยทำรายงาน the Global Report on Human Settlements เสนอต่อองค์การสหประชาชาติ (UNCHS) (http://unhabitat.org/books/housing-finance-mechanisms-in-thailand/) และตีพิมพ์เมื่อปี 2551 พบว่า ชุมชนแออัดทั่วประเทศมีเพียง 3% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งถือว่าน้อยมาก เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คาดว่าจะมี 16% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ณ ปี 2546 อย่างไรก็ตามในปัจจุบันคาดว่าน่าจะเหลือน้อยมาก ไม่เกิน 10% เพราะการพัฒนาบ้านจัดสรร อาคารชุดพักอาศัยและแฟลตเช่าต่าง ๆ ของภาคเอกชนมีเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ชุมชนแออัดลดลง

            ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่ภาครัฐจะยื่นมือเข้าไปสร้างที่อยู่อาศัยเพิ่มเติมให้กับชุมชนแออัด ยกเว้นบริเวณที่จะมีการเวนคืนหรือเจ้าของที่ดินต้องการที่ดินคืน เป็นต้น ยิ่งในกรณีจังหวัดภูมิภาค ปัญหาชุมชนแออัดค่อนข้างจะเบาบาง เมื่อเทียบกับในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล การสร้างที่อยู่อาศัยใหม่จึงไม่น่าจะมีความจำเป็น ยิ่งในกรณีการบุกรุกที่ป่าสงวนในต่างจังหวัด ก็ไม่เกี่ยวกับชุมชนแออัด จึงไม่ควรนำมาปะปนกัน

            รัฐบาลไม่ควรสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ให้กับผู้มีรายได้น้อย เพราะในขณะนี้การเคหะแห่งชาติ ยังมีบ้านในโครงการเคหะชุมชน บ้านเอื้ออาทร เหลืออยู่พอสมควร หากก่อสร้างใหม่ จะสิ้นเปลืองงบประมาณ ควรขายบ้านเหล่านี้ออกไปก่อน เพื่อเป็นการปลดภาระของการเคหะแห่งชาติ นอกจากนี้คาดว่ายังจะมีบ้านที่ผู้ซื้อไปแล้ว ไม่เข้าอยู่ หรือย้ายออก กลายเป็นบ้านว่าง ซึ่งควรจะนำมาใช้สอยให้เกิดประโยชน์แทนการก่อสร้างใหม่

            ดร.โสภณ เคยสำรวจชุมชนแออัด พบว่า กว่าหนึ่งในสามของครัวเรือนในชุมชนแออัดเป็นผู้ที่เช่าบ้านอยู่ แสดงว่าภายในชุมชนแออัดก็ยังมีการประกอบธุรกิจเช่าบ้านอยู่เช่นกัน ทั้งนี้เพราะผู้อยู่อาศัยเดิมย้ายออก หรือบ้างก็เป็นเรือนแถว แฟลต หรือห้องเช่าที่จัดสร้างเพื่อการให้เช่าโดยเฉพาะ แม้แต่แฟลตเช่าของการเคหะแห่งชาติที่ดินแดงหรืออื่น ๆ ก็ยังมีผู้เช่าช่วงต่อเช่นกัน

            ในด้านที่นายกรัฐมนตรีจะจัดหาอาชีพ สร้างรายได้ และให้มีตลาดค้าขายที่เพียงพอสำหรับชุมชนแออัดนั้น ข้อนี้คงไม่ต้องเป็นห่วง เพราะผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัดทำงานอยู่บริเวณใกล้เคียงอยู่แล้วส่วน ส่วนหนึ่งก็มีงานทำที่ชัดเจน ประเภทว่างงานคงเป็นคนส่วนน้อยมาก อัตราการว่างงานค่อนข้างต่ำ ประชากรในชุมชนแออัดในเมืองต่างจากหมู่บ้านในภูธรที่ทางราชการสมควรพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ หรือหาตลาดให้สินค้าเกษตรกรรมหรือหัตถกรรมรายกลุ่ม แต่ในชุมชนแอัดในเมือง อาชีพมีคามหลากหลายในตัวเอง

            ในตลาดเปิดปัจจุบัน มีตลาดบ้านเช่าราคาถูก ทั้งที่เป็นแฟลต หรืออะพาร์ตเมนต์ให้เช่า ตลอดจนห้องเช่าภาคเอกชนให้ผู้มีรายได้น้อยในเมืองได้เลือกเช่าอยู่แล้ว รัฐบาลจึงไม่ควรมีนโยบายไปแทรกแซงตลาดแต่อย่างใด ควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนดำเนินการ โดยรัฐบาลเป็นผู้คอยควบคุมดูแล ดีกว่าที่จะลงมือดำเนินการเอง ซึ่งมีโอกาสรั่วไหลบ้าง หรือเป็นการสูญเสียทรัพยากรโดยใช่เหตุบ้าง

            นโยบายสำคัญของรัฐบาลจึงควรส่งเสริม (Enabling Policy) มากกว่าการดำเนินการเอง

อ่าน 1,995 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved