ตามที่มีข่าวว่ารัฐมนตรีการท่องเที่ยวของไทย จะจัดทัวร์ซีเอสอาร์ไปเนปาลหลังแผ่นดินไหวเพื่อหาเงินให้เนปาลและพาคนไปบำเพ็ญประโยชน์นั้น ดร.โสภณ ให้ข้อคิดว่าเป็นแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง
กรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อ "นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. . .มีไอเดียช่วยเหลือฟื้นฟูประเทศเนปาล โดยได้หารือกับบริษัททัวร์ของไทย เพื่อวางแผนในการจัดโปรแกรมท่องเที่ยวที่ประเทศเนปาล ในเชิงรูปแบบของกิจกรรมการทำประโยชน์ต่อสังคม (CSR) เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยทางธรรมชาติในครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าน่าจะเห็นความคืบหน้าที่ชัดเจนภายในเดือนพฤษภาคมนี้แน่นอน" (http://goo.gl/S5tSQf)
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ซึ่งเป็นกรรมการ CSR (Corporate Social Responsibility หรือความรับผิดชอบต่อสังคม) ในหอการค้าไทยที่มีนางกอบกาญจน์เคยเป็นประธาน (ก่อนเป็นรัฐมนตรี) และเคยไปสำรวจวิจัยอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเนปาลตั้งแต่ พ.ศ.2553 จนถึงปัจจุบัน เห็นความเห็นว่า แนวคิดของรัฐมนตรีในการนี้ไม่มีความเป็นไปได้:
1. ภาวะในขณะนี้อยู่ในห้วงวิกฤติของประเทศเนปาล (http://goo.gl/VnVhGZ) อยู่ในช่วงการบรรเทาทุกข์ไปอีกหลายเดือน ยังไม่มีความพร้อมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยว โรคระบาดก็กำลังจะแพร่กระจาย ลำพังการกินอยู่ภายในประเทศก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว
2. จากประสบการณ์ไปสำรวจวิจัยบ่อยครั้งในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ในห้วงเวลาปกติ สนามบินกรุงกาฐมาณฑุก็มีการจัดการจราจรทางอาการที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ บ่อยครั้งที่เที่ยวบินจากต่างประเทศต้องบินวนอยู่บนท้องฟ้านานกว่า 30 นาทีกว่าจะได้ลง หรือบางครั้งถึงขนาดต้องบินกลับหรือไปลงสนามบินอื่น ยิ่งในช่วงบรรเทาทุกข์นี้คงยิ่งมีการจราจรทางอากาศที่หนาแน่น การบินไปท่องเที่ยวจึงเป็นไปได้ยากและอาจไม่ปลอดภัย
3. โบราณสถานต่าง ๆ ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไปเยี่ยมชม ก็เสียหาย คงต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูหลายปี (http://goo.gl/ZrrKOQ) เพราะต้องก่อสร้างใหม่
4. มีการประเมินกันว่าการท่องเที่ยวแบบปีนเขา จะกลับมาใหม่อีกครั้งหนึ่งก็ต่อเมื่อถึงฤดูกาลปีนเขาอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2558 (http://goo.gl/uTDGnv)
5. การที่กระทรวงมีแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงนี้ก็เพราะกระทรวงเข้าใจว่า "เนปาลมีรายได้หลักจากการท่องเที่ยว" (http://goo.gl/qbZv5t) ทั้งที่การท่องเที่ยวมีส่วนแบ่งในผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติเพียง 4.3% ในปี 2557 (http://goo.gl/xI1TJN)
ดร.โสภณ ขอเสนอถึงบทบาทที่ควรทำของกระทรวงนี้ ได้แก่:
1. การทำความเข้าใจ เช่น การแชร์คลิปสึนามิญี่ปุ่น แต่ไพล่ว่าเป็นแผ่นดินถล่มที่เนปาล ทำให้คนเข้าใจผิดและกลัว เพราะแผ่นดินถล่มในเนปาลจำกัดพื้นที่มาก (http://goo.gl/AZqZo8) หรือการโยงว่าเพราะมีการบูชายัญควายที่กระทำทุก 5 ปี ณ เมืองชายแดนเนปาล-อินเดียโดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 5 ล้านคนซึ่งส่วนมากเป็นชาวอินเดีย จึงทำให้เกิดธรณีพิโรธ ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดและซ้ำเติมชาวเนปาลผู้บริสุทธิ์ที่เสียชีวิตไป (http://goo.gl/sHI7HR) เป็นต้น
2. การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวไทย
3. ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลอาจให้วงเงินคุ้มครองอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นแก่นักท่องเที่ยวไทยไปเนปาล เพื่อความมั่นใจในการไปท่องเที่ยวเนปาล เป็นต้น
4. ถ้าจะใช้ CSR ในการทำงานด้านการท่องเที่ยว ก็ต้องพยายามส่งเสริมให้วิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นบริษัททัวร์ สถานประกอบการต่าง ๆ ยึดหลัก CSR คือการดำเนินธุรกิจตามกฎหมาย ไม่โกง ไม่ละเมิดลูกค้า มีจรรยาบรรณทางวิชาชีพโดยเคร่งครัด และมีส่วนในการบริจาคตามสมควรอีกด้วย โปรดดูสาระเกี่ยวกับ CSR ได้ที่ www.csr-thai.blogspot.com
หากทางราชการมีความเข้าใจถึงสถานการณ์และแนวทางการแก้ไขคลาดเคลื่อน ก็อาจส่งผลกระทบต่อการสร้างผลงานที่ดีแก่สังคมได้ ดร.โสภณ จึงให้ข้อเสนอแนะข้างต้น