ยื่น คสช.ใช้ ม.44 สร้างเขื่อนแม่วงก์
  AREA แถลง ฉบับที่ 182/2558: วันพฤหัสบดีที่ 01 กรกฎาคม 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

         ชาวบ้านในพื้นที่นครสวรรค์และใกล้เคียงต้องการเขื่อนแม่วงก์ และผลสำรวจก็พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องการ รัฐบาลควรตอบสนองความต้องการของชาวบ้าน

         เมื่อวันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน 2558 นายบุญชู พรหมมารักษ์ (กำนันโต) ตัวแทนคณะกรรมการลุ่มน้ำสะแกกรัง ได้ร่วมกับผู้นำชุมชนซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนในเขตอำเภอแม่วงก์ อำเภลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ที่ต้องการจะให้สร้างเขื่อนแม่วงก์ ได้เดินทางไปที่ กองพลทหารราบที่ 4 กองทัพภาคที่ 3 เพื่อยื่นหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้ คสช. ใช้ ม.44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 สั่งให้สร้างเขื่อนแม่วงก์ เพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่

         ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานก่อตั้งมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้เคยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนถึง 2 ครั้งเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนแมวงก์ และได้ข้อสรุปว่าจำนวนผู้เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน ได้เพิ่มขึ้นเป็น 226,993 คน ส่วนที่ไม่เห็นด้วยได้ลดลงเหลือ 90,721 คน เทียบเป็นสัดส่วนเท่ากับ 71% ต่อ 29% นั่นเอง การที่มีประชาชนเห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน อาจเป็นเพราะกระแสต้านเขื่อนลดลง (http://goo.gl/t6sKWr)

         การสร้างเขื่อนแม่วงก์ จึงก่อเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ตามหลักการ มีน้ำ ย่อมมีชีวิต ดังนี้:

         1. ป่าไม้ จะได้เขียวชอุ่ม รกชัฏ ชุ่มฉ่ำ น้ำช่วยดับไฟป่าที่เกิดปีละนับร้อยหนได้ด้วย

         2. สัตว์ป่าจะได้มีอาหารมากขึ้น มีเขื่อนเป็นปราการป้องกันการล่าสัตว์ ดูกรณีเขื่อนรัชชประภาที่สร้างอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ สัตว์ป่ากลับยิ่งขยายพันธุ์ ไม่ได้ลดน้อยลงดังคำโกหกแต่อย่างใด

         3. ประชาชนจะได้รับการแก้ปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง เขื่อนยังช่วยผลิตประปา ชลประทาน ประมง ท่องเที่ยว ฯลฯ ที่สำคัญยังสามารถผลิตไฟฟ้าได้อีกด้วย ทุกวันนี้ธนาคารโลกเร่งส่งเสริมให้แต่ละประเทศสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าลดโลกร้อนกันแล้ว

         ในความเป็นจริงมีอยู่ 8 สิ่งที่ประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ไม่รู้ และถูกกลุ่มคนค้านเขื่อนบิดเบือน ดังนี้:

         1. เมื่อ 30 ปี มีการโยกย้ายประชาชนออกมาถึง 200 ครัวเรือนเพื่อเตรียมสร้างเขื่อนในบริเวณนี้ซึ่งเป็นอดีตป่าเสื่อมโทรม ไร่ข้าวโพด พื้นที่ปลูกมะพร้าวของชาวบ้านเดิมบางส่วนนั่นเอง แต่ตอนนี้บอกว่าเป็นป่าสมบูรณ์

         2. เขื่อนแม่วงก์มีเพียง 2 เท่าของเขตสาทร เล็กกว่าเขื่อนภูมิพล 50 เท่า

         3. ที่ว่าเป็นที่อยู่ของเสือโคร่งก็เป็นข้ออ้างเท็จ ไม่เคยพบรอยเท้าเสือในที่สร้างเขื่อน ไทยมีเสือโคร่งมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกจึงไม่วันสูญพันธุ์จากไทย ในสวนสัตว์ยังมีอีกมาก บางครั้ง NGOs ภาพเสือโคร่งแม่ลูกเดินๆ กัน นั่นอยู่ในป่าลึก ที่ต้องเดินนับสิบวันจึงจะถึง ลูกเสือคงไม่สามารถเดินมาแถวที่ก่อสร้างเขื่อนได้แน่นอน บางครั้งมีคลิปเสือตัวใหญ่ แต่ดูฉากหลังจะเห็นว่าอยู่บนยอดเขาสูง ซึ่งเป็นคนละที่กับที่ก่อสร้างเขื่อนเช่นกัน

         4. นกยูง เนื้อทราย (กวาง) ไก่ฟ้า และไก่ป่าในที่สร้างเขื่อนแม่วงก์ เพิ่งถูกจับมาปล่อยในวันที่ 17 ธันวาคม 2552 โดยจัดเป็นพิธีใหญ่โต นกยูงที่เลี้ยงไว้แรกๆ ก็ถูกสุนัขกัดตายไปบ้าง

         5. มีการอ้างกระทั่งข้อมูลที่ไร้สาระเพื่อค้านเขื่อน เช่น พบไส้เดือนยักษ์ (ซึ่งมีชื่อเท่ๆ ว่า "เขียดงูดอยสุเทพ" เพราะพบที่ดอยสุเทพ เชียงใหม่ ตรงที่สร้างเขื่อน หรือพบค้างคาวจมูกหลอดเล็กท้องขาว ซึ่งมีอยู่หลายแห่ง ไม่ได้จำเฉพาะในพื้นที่นี้

         6. ในทุกวันนี้นับว่าอนาถมากที่ในหน้าแล้ง ประชาชนในพื้นที่ต้องซื้อน้ำประปาคันรถละ 300 บาท ทั้งที่มีลำน้ำเรวาไหลผ่าน เพราะไม่มีเขื่อนกักเก็บน้ำ น้ำบาดาลก็ต้องขุดลึก 60-120 เมตร และกลับได้น้ำที่มีสารละลายเหล็กอยู่สูงมากจนไม่อาจดื่มได้ ชาวนาก็ต้องเสียค่าขุดบ่อบาดาลรายละนับหมื่นๆ บาทเพื่อทำนา

         7. คนส่วนใหญ่ถึง 71% ต้องการเขื่อนแม่วงก์ ชาวไร่ชาวนาก็แทบทั้งหมด พวกเขาได้สรุปบทเรียนและประสบการณ์ในการจัดการน้ำมามากกว่า 30 ปีแล้ว แม้แต่นักการเมืองจากต่างพรรค ต่างก็เห็นพ้องกันในเรื่องนี้

         8. เขื่อนจะทำให้ป่าไม้ เขียวชอุ่ม รกชัฏ ชุ่มฉ่ำ น้ำช่วยดับไฟป่าที่เกิดปีละนับร้อยหนได้ด้วย สัตว์ป่าจะได้มีอาหารมากขึ้น มีเขื่อนเป็นปราการป้องกันการล่าสัตว์ และประชาชนจะได้รับการแก้ปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง เขื่อนยังช่วยผลิตประปา ไฟฟ้า ชลประทาน ประมง ท่องเที่ยว ฯลฯ

         ในปีหนึ่ง ๆ รัฐบาลต้องชดเชยเงินค่าเสียหายแก่ประชาชนอันเนื่องมาจากน้ำท่วม ฝนแล้ง ปีหนึ่งนับร้อยนับพันล้านในท้องที่เหล่านี้ หากนำเงินมาสร้างเขื่อน ก็ประหยัดเงินไปมากมาย คุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง การสร้างเขื่อนจึงเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์เป็นอย่างยิ่ง

            อนึ่ง ดร.โสภณ ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ กับการสร้างเขื่อน แต่เป็นเพียงนักวิชาการด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ดำเนินการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 มีความเป็นกลางทางวิชาการและวิชาชีพมาโดยตลอด โดยไม่ได้เป็นนายหน้าหรือมีผลประโยชน์ในการพัฒนาที่ดินเอง ดร.โสภณ เห็นใจประชาชน ป่าไม้และสัตว์ป่าที่จะเสียหายจากการไม่สร้างเขื่อน จึงทำการศึกษาต่าง ๆ ในพื้นที่ด้วยตนเองหลายครั้งโดยใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัว รวมทั้งจัดพิมพ์หนังสือ "สร้างเขื่อนแม่วงก์เถอะนะ เพื่อชีวิตสัตว์ ป่าและมนุษย์" โดยทุกท่านสามารถ Download ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ได้ที่ www.maewongdam.blogspot.com

อ่าน 1,955 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved