ดร.โสภณ ไม่เห็นด้วยกับการย้ายหมอชิต เพิ่มภาระการเดินทางให้กับประชาชน ทั่วโลกเน้นให้ขนส่งผู้โดยสารเข้าถึงใจกลางเมือง และให้กระจายโดยระบบขนส่งมวลชน พร้อมให้ข้อสังเกตว่าขนาดที่ดินที่จะซื้อ น่าจะเล็กไป และควรให้มีการเชื่อมกับระบบขนส่งมวลฃน รวมทั้งควรมีการว่าจ้างประเมินค่าทรัพย์สินให้ถูกต้อง
ตามข่าว "ชงย้าย 'หมอชิตใหม่'ไปรังสิต-ห้ามไกลเกินมธ. เร่งหาที่ดิน 80 ไร่-เปิดใช้ในปี 61" (http://goo.gl/2RnIaM) นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า "คาดเริ่มก่อสร้างปีหน้า แล้วเสร็จปี 2561 ส่วนขนส่งเดิมขอพื้นที่ 10 กว่าไร่ สำหรับวิ่งระยะสั้นและรถนำเที่ยว ที่เหลือคืนให้ รฟท. สร้างสถานีกลางบางซื่อ" ยิ่งกว่านั้น นายนพรัตน์ การุณยะวนิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบริหารการเดินรถ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส. ยังกล่าวว่า "สำหรับงบประมาณที่จะใช้ในการก่อสร้างสถานีขนส่ง แห่งใหม่บริเวณรังสิตนั้นยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน เพราะขณะนี้บอร์ด บขส. ขอให้มีการปรับลดขนาดสถานีลงเหลือเพียง 80 ไร่ จากเดิม 150 ไร่ เพื่อให้เกิดความคล่องตัว คาดว่าว่างบการก่อสร้างจะปรับลดลงจากวงเงินเดิม 4,000 ล้านบาทแน่นอน"
กรณีนิวยอร์ก "บขส" ของเขาอยู่ใจกลางเมืองที่ Port Authority ส่วนสถานีรถไฟอยู่ Penn Station เดินถึงกันได้เลย
ในกรณีนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส มีความเห็นในประเด็นที่พึงพิจารณาดังนี้
1. การสร้างสถานีขนส่งออกไปนอกเมืองนั้น สร้างความลำบากแก่ประชาชนเป็นอย่างยิ่ง ควรวิ่งส่งเข้ามาถึงในเมืองเช่นกรณีหมอชิต แม้แต่ในนครนิวยอร์กหรือมหานครใหญ่ ๆ แทบทั่วโลก สถานีขนส่งผู้โดยสารก็อยู่ในเมืองแทบทั้งสิ้น เพียงแต่ควรที่จะเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่นให้ดีต่างหาก แต่แปลกใจที่ในกรณีประเทศไทย ต้องพยายามย้ายออกนอกเมือง สร้างปัญหาต่อผู้โดยสาร ชุมชนโดยรอบและระบบขนส่งมวลชนโดยรวม
2. ดังนั้นที่ตั้งหมอชิตในปัจจุบันที่จะมีรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าหลายสายมาเชื่อมต่อกัน จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะมีสถานีรถโดยสารเช่นหมอชิตอยู่ในบริเวณนี้เพื่ออำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อด้วย และยิ่งสามารถเชื่อมต่อกับทางด่วนขั้นที่ 2 เพื่อให้รถโดยสารสามารถขึ้นลงได้เลย ก็จะยิ่งสะดวกยิ่งขึ้น
3. การกำหนดพื้นทื่ไว้ที่รังสิต หากไม่ได้มีการประสานกับหน่วยงานอื่น เช่น การเชื่อมต่อทางด่วนหรือทางพิเศษ หรือการเชื่อมต่อด้วยรถไฟฟ้า ก็จะกลายเป็นการสร้างปัญหาให้กับย่านรังสิตเพิ่มขึ้นอีก
4. การขยับขนาดจาก 150 ไร่เหลือเพียง 80 ไร่นั้น มีความเหมาะสมเพียงใด ไม่ได้คิดเผื่อการขยายตัวในอนาคตหรือไม่ สถานีหมอชิตเดิม ก็มีขนาด 63 ไร่ สถานีหมอชิตปัจจุบันก็มีขนาด 73 ไร่ สถานีใหมจะมีขนาดเพียง 80 ไร่จะพอรองรับการใช้สอยได้หรือไม่
5. การประมูลมีการประเมินค่าทรัพย์สินโดยผู้ประเมินอิสระหรือไม่ มีการเปรียบเทียบให้เหมาะสมตามหลักวิชาหรือไม่เพียงใด
กรณีลอนดอน "บขส" ของเขาอยู่ใกล้พระราชวังบักกิงแฮมเลย ชื่อ Victoria Coach Station
อนึ่ง กรณีที่ ดร.โสภณ กล่าวถึงการประเมินค่าทรัพย์สินนี้ ดร.โสภณ ไม่ได้มุ่งจะทำธุรกิจ ไม่ต้องว่าจ้างศูนย์ฯ ทำประเมินก็ได้ และในความเป็นจริงค่าจ้างทางวิชาชีพประเมินถูกมาก เช่น กรณีประเมินที่ดิน 80 ไร่ หากมูลค่าอยู่ประมาณ 1,200-1,500 ล้านบาท ค่าจ้างตามอัตราของสมาคมก็เป็นเงินเพียง 30,000 บาทเท่านั้น จะว่าจ้างสัก 5 บริษัทเพื่อตรวจสอบให้ถ้วนถี่ก็เป็นเงินเพียง 150,000 บาท หรือเท่ากับ 0.012% ของค่าที่ดิน 1,200 ล้านบาทเท่านั้น แต่จะเพิ่มความโปร่งใสได้เป็นอย่างมาก