มีคนคิดเพี้ยนๆ ว่าวิธีแก้ผังเมืองหมดอายุเกือบ 100 ผัง หรือ 44% ของทั้งหมด คือการต่ออายุผังเมืองให้นานขึ้น จาก 5 เป็น 10 ปี นี่เท่ากับกวาดขยะอยู่ใต้พรม ผังเมืองที่วางไว้ไม่เหมาะสมก็อยู่ต่อไปนาน ๆ ไม่ต้องแก้ไข นี่คือการสร้างปัญหาต่อประเทศชาติ
ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2558 ผังเมืองทั้งหมดในประเทศไทยมี 215 ผัง หมดอายุไปแล้ว 94 ผัง หรือ 44% คงเหลือที่ยังไม่หมดอายุอีก 121 ผัง ในรายละเอียดพบว่าผังเมืองที่หมดอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปมี 5 ผัง โดยผังเมืองที่หมดอายุถึงตั้ง 12 ปีแล้ว (2546) มีจำนวน 1 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุถึงตั้ง 11 ปีแล้ว (2547) มีจำนวน 2 ผัง และผังเมืองที่หมดอายุถึงตั้ง 10 ปีแล้ว (2548) มีจำนวน 2 ผัง
ส่วนผังเมืองที่หมดอายุตั้งแต่ 5-9 ปี มีถึง 47 ผัง โดยเป็นผังเมืองที่หมดอายุถึง 9 ปีแล้ว (2549) มีจำนวน 4 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุถึง 8 ปีแล้ว (2550) มีจำนวน 9 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุถึง 7 ปีแล้ว (2551) มีจำนวน 9 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุถึง 6 ปีแล้ว (2552) มีจำนวน 16 ผัง และผังเมืองที่หมดอายุถึง 5 ปีแล้ว (2553) มีจำนวน 9 ผัง ส่วนผังเมืองที่หมดอายุไปพอสมควรและยังไม่ได้จัดทำใหม่ คือที่หมดไป 2 ปีแล้ว มี 31 ผัง โดยเป็นผังเมืองที่หมดอายุ 4 ปีแล้ว (2554) มีจำนวน 10 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุ 3 ปีแล้ว (2555) มีจำนวน 11 ผัง และผังเมืองที่หมดอายุ 2 ปีแล้ว (2556) มีจำนวน 10 ผัง
การที่ผังเมืองรวมหมดอายุ เป็นปัญหาประการหนึ่ง ส่วนกลางอาจให้เหตุผลว่าได้ถ่ายโอนอำนาจให้ส่วนท้องถิ่นไปดำเนินการแล้ว แต่ส่วนท้องถิ่นอาจไม่มีบุคลากรและทรัพยากรในการดำเนินการ แต่หากมีการหมดอายุเป็นจำนวนมาก ย่อมแสดงว่ายังมีปัญหาที่ควรแก้ไข นอกจากนั้นปัญหาการก่อสร้างนอกเขตผังเมืองรวมเกิดขึ้นมากมาย กลายเป็นการรุกที่ชนบท ทำให้เมืองขยายตัวอย่างไร้ขอบเขต ก็เป็นปัญหาใหญ่ที่ผังเมืองไม่ได้ช่วยแก้ปัญหานี้เลย แม้ในปัจจุบันจำนวนผังเมืองหมดอายุจะน้อยลงกว่าแต่ก่อน แต่ ณ 44% ที่หมดอายุก็ยังถือว่ามากอยู่
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ซึ่งเป็นผู้ที่จบดุษฎีบัณฑิตด้านการวางแผนพัฒนาเมือง และทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านนี้มาโดยตลอดในโครงการขององค์การระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก และอื่น ๆ ให้ความเห็นต่อการแก้ปัญหาผังเมืองหมดอายุว่า
1. การแก้ไขผังเมืองหมดอายุนั้น มีบางฝ่ายเสนอให้ต่ออายุผังเมืองให้ยาวนานจาก 5 ปี เป็น 10 หรือ 20 ปี และต่ออายุได้อีกครั้งละ 5 ปี 2 ครั้ง จากเดิมครั้งละ 1 ปี 2 ครั้ง การเสนอเช่นนี้ก็เท่ากับว่า เป็นการแก้ไขปัญหาแบบมักง่าย หากผังเมืองใด ไม่มีความเหมาะสม ก็ไม่ต้องแก้ไขใด ๆ เพียงป้องกันการหมดอายุของผังเมืองง่าย ๆ ด้วยการต่ออายุ ทั้งที่ความจริงแล้วควรจะทุ่มเททรัพยากรในการแก้ไขให้ทันสมัย เพราะผังเมืองกำหนดการใช้ที่ดินต่าง ๆ ล้วนแต่กระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนแทบทั้งสิ้น
2. บ้างเสนอให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วม โดยให้มีตัวแทนประชาชนจากชุมชนต่าง ๆ เข้าร่วมในคณะกรรมการผังเมืองจังหวัด ข้อนี้ดูดีแต่ไร้หลักการ คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะชุมชนในแต่ละผังเมืองอาจมีนับร้อยๆ แห่ง การคัดเลือกก็คงได้มาจำนวนหนึ่ง อาจเป็นจำนวนที่เห็นด้วยกับทางราชการสถานเดียว ก็ไม่ได้ช่วยเป็นปากเสียงให้ประชาชน ทางแก้ที่ควรจะเป็นควรให้แต่ละชุมชนได้ออกเสียงกันโดยตรงว่าในซอยของพวกเขา (สมมติเป็นซอยร่วมฤดีที่มีปัญหาเรื่องการสร้างโรงแรมสูงใหญ่) นับแต่นี้ไปอีก 5 ปีตามผังเมืองรวม สมควรจะให้มีตึกสูงหรือไม่ ไม่ใช่ไปฟังแต่นักผังเมืองวางแผนโดยขาดฉันทามติของประชาชน
ผังเมืองที่ดี ควรวางโดยประชาชนมีส่วนร่วมจริง ไม่ใช่วางโดยนักผังเมืองตามระบบ Top-Down หรือแบบ "เจ้าขุนมูลนาย" ที่สั่งการจากบนลงล่าง ซึ่งไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตยที่แท้ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญต่อผังเมือง ทุ่มเทงบประมาณและบุคลากรในการจัดทำผังเมืองแบบประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ใช่สักแต่จ้างภาคเอกชน (ที่อาจแปลงร่างมาจากข้าราชการเอง) มาวางผังเมือง (ส่งเดช) .โดยไม่มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน