การเสนอให้ผังเมืองไม่มีวันหมดอายุเพราะผังเมืองหมดอายุไปเกือบครึ่งนั้นคือการยอมจำนน แก้ปัญหาไม่ถูกจุด ซุกอยู่ใต้พรม การไปตั้งผังเมืองเป็นกระทรวงก็เท่ากับได้เพิ่มตำแหน่งข้าราชการมากกว่าจะแก้ปัญหาผังเมือง ที่ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการกำหนดผังแต่ละท้องถิ่น แทนที่จะให้ราชการเขียน-วาดสีไปเอง
ตามที่อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองกล่าวว่า "จะเสนอคณะกรรมการผังเมืองเพื่อขอแก้ไข พ.ร.บ.การผังเมือง มาตรา 26 ในประเด็นการหมดอายุของผังเมืองจากเดิมที่กำหนดให้ผังเมืองมีอายุเพียง 5 ปีสามารถขยายได้ 2ครั้งครั้งละ 1ปี" (http://goo.gl/j4RWrw) ประเด็นนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ให้ข้อมูลว่าไม่ควรทำเช่นนี้ ผังเมืองหมดอายุก็ต้องปรับปรุง ไม่ใช่แก้ง่าย ๆ แบบไม่ให้หมดอายุ
ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2558 ผังเมืองทั้งหมดในประเทศไทยมี 215 ผัง หมดอายุไปแล้ว 94 ผัง หรือ 44% คงเหลือที่ยังไม่หมดอายุอีก 121 ผัง ในรายละเอียดพบว่าผังเมืองที่หมดอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปมี 5 ผัง โดยผังเมืองที่หมดอายุถึงตั้ง 12 ปีแล้ว (2546) มีจำนวน 1 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุถึงตั้ง 11 ปีแล้ว (2547) มีจำนวน 2 ผัง และผังเมืองที่หมดอายุถึงตั้ง 10 ปีแล้ว (2548) มีจำนวน 2 ผัง
การแก้ไขผังเมืองหมดอายุ ก็ต้องระดมสรรพกำลังมาจัดทำผังเมืองให้ทัน จะได้ไม่บกพร่องต่อหน้าที่ มีการคิดเตรียมการล่วงหน้าในการจัดทำผังเมืองให้ดี เจตนารมย์ที่ต้องการให้มีการแก้ไขผังเมืองทุก 5 ปีก็คือจะได้แก้ไขได้บ่อย ๆ แต่ทางราชการอ้างว่าจะแก้ไขให้ทุกปีนั้น ในทางปฏิบัติ ไม่ได้รับการแก้ไข เช่น ผังเมืองกรุงเทพมหานคร มีผู้ขอแก้ไขนับพัน ๆ ราย แต่มีการแก้ไขราว 3 ราย เป็นต้น
กรณีการแก้ไขหนึ่งที่เคยมีก็คือการแก้ไขพื้นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยบริเวณนวมินทร์ซิตี้อเวนิว ให้กลายเป็นพื้นที่เขตพาณิชยกรรม พ.3 โดยมีพื้นที่ก่อสร้างต่อพื้นที่ดินสูงถึง 7 เท่าของที่ดิน ทั้งที่เป็นที่ดินว่างเปล่า ในขณะที่ที่ดินพาณิชยกรรมแถวถนนนวมินทร์ คริสตัลปาร์ค ลาดพร้าว-โชคชัยสี่ มัยราบ ยังได้แค่เขตพาณิชยกรรม พ.1 และตอนนี้ทางเจ้าของที่ดิน ก็นำมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ เช่น หอประชุมขนาดใหญ่ เป็นต้น (http://goo.gl/8QewCy)
ส่วนที่ว่าจะให้การผังเมืองเป็นหน่วยงานระดับชาตินั้น ในแง่หนึ่งก็ดูคล้ายดี แต่เกรงจะกลายเป็นการสร้างองคาพยพที่เทอะทะ เช่นทุกวันนี้ เรามีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็ไม่รู้ว่าหน่วยราชการต่าง ๆ ได้มีแผนปฏิบัติการที่ล้อไปตามแผนพัฒนาการระดับชาติเพียงใด แต่การตั้งหน่วยงานระดับกระทรวงใหม่ ก็เท่ากับการเพิ่มตำแหน่งและอำนาจของข้าราชการไปอีก อย่างไรก็ตามผังเมืองในเมืองหนึ่ง ๆ ก็ควรเป็นผังแม่บทที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันทำ ทั้งไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ถนน ทางหลวง เพื่อให้แผนปฏิบัติการในระยะ 5-10 ปีของแต่ละหน่วยงานสอดคล้องกับผังเมืองดังกล่าวนั่นเอง
ดังนั้นการซุกปัญหาอยู่ใต้พรมด้วยการต่ออายุผังเมืองไปโดยไม่มีอายุนั้นจึงไม่ใช่การแก้ไขปัญหา แต่เป็นการหลีกเลี่ยงทำให้การทำผังเมืองล่าช้าออกไปอีก ทุกวันนี้ผังเมืองหลายแห่งหมดอายุไปนับสิบปีมีเป็นจำนวนมาก เราจึงควรเร่งจัดทำผังเมือง และให้ประชาชนมีส่วนร่วมว่าต้องการให้ผังเมืองในถนน ซอยหรือชุมนุมอาคาร ชุมชนของตนเป็นอย่างไร เพื่อลดความขัดแย้งกับประชาชน แต่ไม่ใช่การมีส่วนร่วมตามรูปแบบที่ให้มีคณะกรรมการจากภาคประชาชน 2-3 คนไปนั่ง (ประดับบารมี) แต่ไม่ได้เป็นผู้แทนของประชาชนที่แท้จริง และปล่อยให้ข้าราชการวาดสีเขียนผังเมืองตามถนัดต่อไป