เรื่องผังเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัว ทำไมคนกรุงต้องตื่นตี 5 เดินทางจากบ้านชานเมืองเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แล้วกว่าจะกลับถึงบ้านก็มืดค่ำ ก็เพราะผังเมืองไม่ดี ทำไมบ้านเมืองรถติดวินาศสันตะโร สร้างอะไรกันส่งเดชไปหมด ก็เพราะผังเมืองไม่ดีนั่นเอง วันนี้เราจึงมาช่วยรัฐบาลในยุคปฏิรูปกระทุ้งสักหน่อยครับ
ผมไม่ได้เขียนจากความคิดของผมเท่านั้น แต่เขียนตามคำบอกเล่าจากผู้เดือดร้อนจากผังเมืองมาทุกหย่อมหญ้าด้วย ผมก็ไม่ต้องเกรงใจหน้าอินทร์หน้าพรหมที่ไหนเสียด้วย ไม่ได้ขอพวกราชการหน่วยงานเหล่านี้กิน ไม่ได้หวังจะได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการโน่นนี่ ได้อภิสิทธิพิเศษเท่ๆ กับตัวเองเพื่อที่จะปิดปากผม ไม่ให้พูดเพื่อประเทศชาติและประชาชน มีเพียงกระสุนตะกั่วแหละครับที่จะปิดปากผมได้
ผังเมืองไทย เกิดและอยู่มาอย่างเพี้ยนๆ
ผังเมืองไทยนั้นริเริ่มมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เราจ้างฝรั่งมาช่วยวางผังเมืองให้ ชื่อผัง Litchfieldที่เรียกขานตามบริษัทอเมริกันชื่อ Litchfield and Whiting Browne ท่านเชื่อหรือไม่ เราวางผังเมืองมาตั้งแต่ปี 2500 คือปีกึ่งพุทธกาล และหวังใจว่าจะประกาศใช้ในปี 2503 โดยทศวรรษใหม่ตามแบบคริสตศักราช 1960 เช่นเดียวกับการเริ่มมีแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกเมื่อปี 2503 แต่จนแล้วจนรอดผังเมืองกรุงเทพฯ ฉบับดังกล่าวก็ไม่ได้ประกาศใช้ แก้ไขอยู่นั่น แก้ไขร่ำไป จนประกาศใช้ในปี พ.ศ.2535
ประเทศไทยมีกฎหมายผังเมืองมาตั้งแต่ ปี 2495 แต่ผังเมืองกรุงเทพฯ มีในปี 2535 หรือ 40 ปีให้หลัง ผมเชื่อว่าเรามี "มือที่มองไม่เห็น" พยายามไม่ให้มีผังเมือง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรัฐบาลเก่า (ป) เป็นคนเริ่ม รัฐบาลใหม่ (ส) ก็คงกลัวว่าไม่ใช่ผลงานตน ก็เลยดองเปรี้ยวดองเค็มกันไป แต่อีกแรงหนึ่งก็คือ พวกคหบดีมีเงินมีอำนาจทั้งหลาย คงไม่อยากให้มีผังเมืองเกิดขึ้น ด้วยกลัวว่าตนจะเสียประโยชน์จากการใช้ที่ดินนั่น
ผังเมืองควรเป็นเสมือนแผนแม่บทสำหรับการวางแผนพัฒนาเมือง ให้ทุกหน่วยงานใช้ร่วมกันทั้งไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ทางด่วน ถนน รถไฟฟ้า เพื่อวางแผนว่าตรงไหนจะพัฒนา ตรงไหนสงวนไว้ไม่พัฒนา ที่ๆ ได้รับการพัฒนาก็ต้องเสียภาษีมากกว่า ที่ๆ สงวนไว้ทำการเกษตรก็ต้องมีมาตรการส่งเสริมให้ได้ดี หาไม่ก็คงมีคนเลี่ยงกฎหมายผังเมือง เพราะเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมนั่นเอง
ตลกร้าย ผังเมือง 215 ผังหมดอายุไปเกือบครึ่ง
มัวทำอะไรกันอยู่!?! ณ วันที่ 3 กรกฎาคม 2558 ผังเมืองทั้งหมดในประเทศไทยมี 215 ผัง หมดอายุไปแล้ว 94 ผัง หรือ 44% คงเหลือที่ยังไม่หมดอายุอีก 121 ผัง ในรายละเอียดพบว่าผังเมืองที่หมดอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปมี 5 ผัง โดยผังเมืองที่หมดอายุถึงตั้ง 12 ปีแล้ว (2546) มีจำนวน 1 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุถึงตั้ง 11 ปีแล้ว (2547) มีจำนวน 2 ผัง และผังเมืองที่หมดอายุถึงตั้ง 10 ปีแล้ว (2548) มีจำนวน 2 ผัง
ส่วนผังเมืองที่หมดอายุตั้งแต่ 5-9 ปี มีถึง 47 ผัง โดยเป็นผังเมืองที่หมดอายุถึง 9 ปีแล้ว (2549) มีจำนวน 4 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุถึง 8 ปีแล้ว (2550) มีจำนวน 9 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุถึง 7 ปีแล้ว (2551) มีจำนวน 9 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุถึง 6 ปีแล้ว (2552) มีจำนวน 16 ผัง และผังเมืองที่หมดอายุถึง 5 ปีแล้ว (2553) มีจำนวน 9 ผัง ส่วนผังเมืองที่หมดอายุไปพอสมควรและยังไม่ได้จัดทำใหม่ คือที่หมดไป 2 ปีแล้ว มี 31 ผัง โดยเป็นผังเมืองที่หมดอายุ 4 ปีแล้ว (2554) มีจำนวน 10 ผัง ผังเมืองที่หมดอายุ 3 ปีแล้ว (2555) มีจำนวน 11 ผัง และผังเมืองที่หมดอายุ 2 ปีแล้ว (2556) มีจำนวน 10 ผัง
การที่ผังเมืองรวมหมดอายุ เป็นปัญหาประการหนึ่ง ส่วนกลางอาจให้เหตุผลว่าได้ถ่ายโอนอำนาจให้ส่วนท้องถิ่นไปดำเนินการแล้ว แต่ส่วนท้องถิ่นอาจไม่มีบุคลากรและทรัพยากรในการดำเนินการ แต่หากมีการหมดอายุเป็นจำนวนมาก ย่อมแสดงว่ายังมีปัญหาที่ควรแก้ไข นอกจากนั้นปัญหาการก่อสร้างนอกเขตผังเมืองรวมเกิดขึ้นมากมาย กลายเป็นการรุกที่ชนบท ทำให้เมืองขยายตัวอย่างไร้ขอบเขต ก็เป็นปัญหาใหญ่ที่ผังเมืองไม่ได้ช่วยแก้ปัญหานี้เลย แม้ในปัจจุบันจำนวนผังเมืองหมดอายุจะน้อยลงกว่าแต่ก่อน แต่ ณ 44% ที่หมดอายุก็ยังถือว่ามากอยู่
ผังเมืองไทยเพี้ยน ทำลายชนบท 316 ตร.กม.
ผังเมืองที่ไม่ดี กลับทำลายพื้นที่ชนบทไปถึง 316 ตารางกิโลเมตรหรือ 400 เท่าของพื้นที่มักกะสันที่เราอยากจะเอามาทำสวนให้ได้ แต่ทีกรณีที่บรรทัดทองของจุฬาฯ ที่โรงเรียนเตรียมทหารข้างสวนลุมพินีเอง กลับไม่เคยคิดจะเอาไปทำสวน นี่จึงเป็นความคิดผิดเพี้ยนของนักผังเมืองไทยที่มุ่งให้กรุงเทพมหานครแลดู "หลวม" เก็บที่ไว้ให้ลูกหลาน (คนรวยๆ) ทำให้กรุงเทพมหานครเพี้ยนไป
ในช่วง พ.ศ.2545-57 มีประชากรลดลง 1.6% คือ 5,782,159 คน เหลือเพียง 5,692,284 คน แต่ในเขตปริมณฑลกลับมีประชากรเพิ่มจาก 3,886,695 คน ในปี 2545 เป็น 5,032,228 คนในปี 2557 หรือเพิ่มขึ้น 29.5% หรือเพิ่มขึ้นปีละ 2.2% และหากเทียบประชากรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลทั้งหมดในปี 2545 และปี 2557 จะพบว่าประชากรเพิ่มจาก 9,668,854 คน เป็น 10,724,512 คน หรือเพิ่มขึ้น 10.9% หรือเท่ากับเพิ่มขึ้นปีละ 0.9% นั่นเอง
อาจกล่าวได้ว่าในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา ประชากรในเขตปริมณฑล เพิ่มขึ้น 1,145,533 คน หากในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตรมีผู้อยู่อาศัย 3,630 คนตามค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร ประชากรจำนวนข้างต้นนี้ ก็จะใช้พื้นที่เพิ่มขึ้นประมาณ 316 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 403 เท่าของพื้นที่มักกะสัน 490 ไร่ที่มีบางกลุ่มพยายามที่จะนำมาทำสวน ทั้งที่เหมาะแก่การทำศูนย์คมนาคมในใจกลางเมือง พร้อมการพัฒนาเชิงพาณิชย์ประกอบ พื้นที่ 316 ตารางกิโลเมตรนี้คือขนาดพื้นที่ ๆ รุกเข้าไปในเรือกสวนไร่นา พื้นที่เกษตรกรรมในจังหวัดปริมณฑล เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น นี่เท่ากับเป็นการเพิ่มมลพิษให้กับเมือง นอกจากนี้ยังเสียต้นทุนอีกมหาศาลในการจัดหาสาธารณูปโภคในย่านชานเมืองอีกด้วย
สร้างนิคมอุตสาหกรรม แก้ผังเมืองไทย
ภาพที่เราเห็นจนชินตา แต่จริงๆ มันคือมหันตภัยสำหรับเมืองและประชาชนเมืองรวมทั้งพื้นที่ชนบทก็คือ โรงงานใหญ่น้อยทั้งหลายรุกเข้าไปในนาข้าวหรือพื้นที่เกษตรกรรมต่าง ๆ กันมากมาย ในสมัยก่อนเรามีบางนาที่ทำนาได้คุณภาพยอดเยี่ยมยิ่งกว่าอยุธยาเสียอีก แต่บัดนี้ก็ไม่มีแล้ว สวนส้มบางมด สวนทุเรียนเมืองนนทบุรี เรือกสวนในบางกระเจ้า ต่างถูกทำลายไปมากมาย พื้นที่ทุ่งรังสิตที่ครั้งหนึ่ง เราจัดสรรไว้เพื่อการเกษตรกรรมเมื่อ 120 ปีก่อน บัดนี้ก็ถูกรุกไล่ไปหมด แม้แต่เขตชนบทในอยุธยา ก็แทบจะแปลงสภาพกันแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่ทุ่งนาในจังหวัดฉะเชิงเทราและจังหวัดโดยรอบอื่น ๆ ก็ถูกรุกไล่ไปหมดเลย
ทำไมจึงมีโรงงานรุกเข้าไปในพื้นที่นา ประเด็นสำคัญก็คือ ในเขตกรุงเทพมหานคร เขาห้ามสร้างโรงงาน ดังนั้นเพื่อความสะดวกในการเดินทางเข้าเมือง เจ้าของโรงงานจึงไปหาทำเลใกล้เคียงกรุงเทพมหานคร อันได้แก่พื้นที่นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม สมุทรสงคราม อยุธยา ฉะเชิงเทรา มาก่อสร้างโรงงาน ยิ่งผังเมือง "กำมะลอ" ของไทย กำหนดให้มีการบังคับใช้ผังเมืองเฉพาะในเขตเมือง นอกเขตเมือง ไม่มีการบังคับ ซึ่งเท่ากับ "ปล่อยผี" การพัฒนาที่ดินนอกเขตผังเมืองรวมจึงเกิดขึ้นดกดื่น
ถ้ากรมโยธาธิการและผังเมืองมีวิสัยทัศน์ในการวางผังเมืองที่ดี ที่จะกำหนดว่าบริเวณไหนจะให้เมืองขยายไป ก็จะสามารถเวนคืนที่ดินมาทำเมืองใหม่ โดยในเมืองนั้นมี นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีการควบคุมมลพิษอย่างดี มีทั้งแปลงที่ดินสำหรับโรงงานใหญ่ ๆ ให้เช่าหรือซื้อขาย มีที่ตั้งโรงงานเล็ก ๆ แบบ SMEs รวมทั้งมีสำนักงานติดต่อของโรงงานต่าง ๆ ตลอดจนบริเวณพื้นที่การค้า พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่นันทนาการ ยิ่งกว่านั้นยังควรจะมีระบบขนส่งมวลชนทางรางและทางด่วนเชื่อมต่อเข้าเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
ยิ่งกว่านั้นเราสามารถประกาศได้ว่า ในพื้นที่ทำนารอบ ๆ เมืองหรือในเขตชานเมือง ห้ามนำไปทำกิจกรรมเชิงพาณิชย์ใด ๆ ใช้ได้แต่ทำนา มีการควบคุมการใช้ที่ดินโดยเคร่งครัด ไม่เอา "หูไปนา ตาไปไร่" ไม่ปล่อยโอกาสให้ท้องถิ่นหรือหน่วยงานใด แอบให้ใบอนุญาตใช้พื้นที่ผิดไปจากที่วางผังเมืองไว้ การนี้จะทำให้ราคาที่ดินชนบทไม่สูงขึ้น ไม่จูงใจให้ใครนำไปพัฒนาในทางอื่น รัฐบาลยังสามารถที่จะเสริมด้วยการอุดหนุนภาคการเกษตรในบริเวณชานเมืองเพื่อให้เกษตรกรรมชานเมืองมีความยั่งยืนอีกด้วย
ผังเมืองต้องให้ประชาชนทำ
ผังเมืองต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไมใช่ให้ กทม. ซึ่งเป็นหน่วยราชการทำฝ่ายเดียว โดยไม่ฟังชาวบ้าน อย่างกรณีโรงแรมดิเอทัสในซอยร่วมฤดีถูกศาลสั่งให้กรุงเทพมหานครรื้อ (ไม่ได้สั่งเจ้าของอาคารรื้อ) ก็เป็นอุทาหรณ์ ผมไปสำรวจดูพบว่ามีอาคารขนาดยักษ์ในซอยร่วมฤดีมากมาย โดยปริมาณการจราจรน่าจะมีมากกว่าของโรงแรมดิเอทัสเสียอีก อาคารเหล่านี้บางแห่งมีความสูงถึง 37 ชั้น สร้างอยู่ติดกับซอยร่วมฤดีเลย แต่อาคารเหล่านี้อาจรอดไปเพราะอ้างได้ว่ามีทางออกถนนวิทยุทั้งที่มีรถเข้าออกซอยร่วมฤดีเป็นจำนวนมาก
ความจริงไม่ควรสร้างอาคารดิเอทัส! นี่คือคำตอบ ถ้าถามชาวบ้านเมื่อ 50 ปีก่อนเพราะในย่านนั้นมีแต่บ้านขุนน้ำขุนนาง หรือผู้มีอันจะกินมากมาย อยู่กันอย่างสงบ โดยผมไปพบบ้านหลายหลังที่ยังหลงเหลืออยู่ อย่างในรูปที่แสดงนี้ ปัจจุบันล้อมรั้วไว้แล้ว แสดงว่าคงเพิ่งขายไปเพื่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ แต่หากนึกภาพดูว่าเมื่อ 50 ปีที่แล้ว คงมีแต่บ้านแบบนี้ และชาวบ้านก็คงไม่ยินดีหากมีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่
การนี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าการผังเมืองไทยให้คนท้องถิ่นมีส่วนร่วมตั้งแต่แรกก็คงไม่มีอาคารขนาดใหญ่รบกวนชาวบ้าน แต่โดยที่ๆ ผ่านมามีการก่อสร้างกันตามอำเภอใจ สถานการณ์ในวันนี้จึงเปลี่ยนไป ให้ชาวบ้านในซอยร่วมฤดีหรือในย่านสุขุมวิทลงประชามติว่าต้องการให้มีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่หรือรักษาอาคารเล็ก ๆ ไว้เช่นเดิม ก็เชื่อว่าส่วนใหญ่อาจต้องการการเปลี่ยนแปลงที่จะสามารถก่อสร้างอาคารสูงเพื่อเพิ่มมูลค่าของที่ดินมากกว่า การวางผังเมืองจึงจำเป็นต้องให้คนในท้องถิ่นเป็นผู้ตัดสิน
กรณีที่ถนนซอยกว้างไม่ถึง 10 เมตร สมมติว่าหากชาวบ้านบางส่วนยอมถอยร่นเพื่อให้ถนนมีขนาดกว้างขวางขึ้นมีมูลค่าที่ดินมากขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เชื่อว่าชาวบ้านคงมีความยินดี แต่หากถามชาวบ้านเพียงบางส่วนที่ไม่มีความเดือดร้อนและไม่นำพาต่อการเพิ่มมูลค่า เจ้าของที่ดินเหล่านั้นก็อาจอ้างข้อกฎหมายและทำตัวเป็น "จระเข้ขวางคลอง" อยู่ร่ำไป
เราต้องให้ประชาชนร่วมกันวางแผนพัฒนาเมืองครับ อย่าให้ทางราชการทำแบบบนลงล่างโดยประชนชนไม่มีสิทธิใดๆ
ถ้าทำตามผังเมืองฉบับแรก ป่านนี้เรามีแม่น้ำเจ้าพระยา 2 แล้ว
การวางผังเมืองไม่ดี นอกจากไม่มีพื้นที่สีเขียวแล้ว ยังทำลายชนบท
ชนบทถูกอุตสาหกรรมรุกเพราะเราวางผังเมืองแบบซุกปัญหาอยู่ใต้พรม
ที่อยู่อาศัยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาไปย่านไหนบ้าง ผังเมืองอาจไม่มีข้อมูล!