ฝนแล้ง ขุดบ่อ ลอกคลอง สร้างเขื่อน ดีกว่า
  AREA แถลง ฉบับที่ 212/2558: วันพุธที่ 22 กรกฎาคม 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ในโอกาสที่ฝนแล้ง น้ำท่าน้อย รัฐบาลควรพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ด้วยการสร้างงานการขุดบ่อ ลอกคลอง สร้างเขื่อน โดยเฉพาะเขื่อนขนาดกลาง-ขนาดเล็ก เช่น เขื่อนแม่วงก์

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ให้ข้อคิดว่า ในหน้าน้ำ โอกาสที่จะขุดลอกคลองย่อมไม่มี แม่น้ำลำคลองต่าง ๆ ก็ตื้นเขินมากแล้ว  ดังนั้นในช่วงที่ไม่มีฝน ไม่มีน้ำ แห้งแล้ง แทนที่รัฐบาลจะนำเงินไปแจก ก็ควรนำเงินไปจ้างแรงงานชาวบ้านกึ่งอาสามาขุดบ่อ ทำฝาย ลอกคลอง แม่น้ำ ตลอดจนการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำไว้เป็นจำนวนมาก เหมือนการมีตุ่มตั้งอยู่เป็นระยะ ๆ เพื่อกับเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง และช่วยชะลอน้ำในฤดูฝน หรือป้องกันน้ำท่วมได้ด้วย

            ในมลรัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา มีเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดยักษ์ชื่อ Taum Sauk ใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้า และกักเก็บน้ำไว้ใช้ ปรากฏว่าครั้งหนึ่งได้แตกของทางมุมหนึ่ง น้ำไหลทะลักจนป่าไม้โดยรอบพังทลายไปในพริบตา บ้านเรือนชาวบ้านถูกน้ำพัดพังเสียหาย แต่ในที่สุดก็ได้ก่อสร้างใหม่ให้แข็งแรงกว่าเก่า นี่ถ้าเกิดขึ้นในประเทศไทย ก็คงถูกสาปส่งไปแล้ว แต่ในประเทศตะวันตก เขามุ่งเอาชนะธรรมชาติ


            ในกรณีเขื่อนแม่วงก์ ดร.โสภณ เคยไปสำรวจความเห็นของประชาชนมา 2 ครั้งแล้ว ครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2556 พบว่าในเบื้องต้นพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 57% ต้องการให้สร้างเขื่อนแม่วงก์ 16% ยังไม่ได้ตัดสินใจ และ 27% ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อน อย่างไรก็ตามสำหรับกลุ่มที่ยังไม่แสดงความเห็นนั้น ส่วนหนึ่งตัดสินใจแล้วแต่ยังสงวนท่าที ไม่แสดงความเห็น แต่ส่วนหนึ่งยังไม่ได้ตัดสินใจไปในทางใดทางหนึ่ง หากต้องตัดสินใจไปในทางใดทางหนึ่ง ก็คงต้องเลือกในที่สุด แต่ในเบื้องต้นนี้ หากตัดกลุ่มที่ยังไม่ได้แสดงความเห็นออก ให้เหลือเฉพาะกลุ่มที่ต้องการและไม่ต้องการเขื่อนแม่วงก์ สัดส่วนจะเป็น 69% และ 31%ตามลำดับ หรือมีสัดส่วนเท่ากับ 2:1 หรืออีกนัยหนึ่งก็อาจกล่าวได้ว่าประชาชนประมาณสองในสามเห็นควรสร้างเขื่อนแม่วงก์

           ผลการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 ก็ออกมาในทำนองเดียวกัน โดยยังสมมติใช้จำนวนประชากรรวมตามเดิมเพื่อการเทียบเคียง ก็พบว่า จำนวนผู้เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน ได้เพิ่มขึ้นเป็น 226,993 คน ส่วนที่ไม่เห็นด้วยได้ลดลงเหลือ 90,721 คน เทียบเป็นสัดส่วนเท่ากับ 71% ต่อ 29% นั่นเอง การที่มีประชาชนเห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน อาจเป็นเพราะกระแสต้านเขื่อนลดลง

            โดยรวมแล้วประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ต้องการให้มีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จะสังเกตได้ว่ามีประชากรอยู่จำนวนหนึ่งที่ไม่ตอบว่าให้ควรให้สร้างเขื่อนหรือไม่ กลุ่มนี้แม้มีจำนวนน้อยแต่ก็แสดงให้เห็นถึงการสงวนท่าทีในการตอบแบบสอบถาม ซึ่งคงเป็นผลจากความขัดแย้งในเรื่องนี้ที่ยังไม่ได้ข้อยุติโดยเร็ว อย่างไรก็ตามกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจก็ลดน้อยลงจากเดิม

          ข้อสังเกตประการหนึ่งก็คือประชาชนในเขตเมืองอันได้แก่ผู้ที่อยู่อาศัยในเขตเทศบาลมักไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน เพราะตนเองไม่ได้รับประโยชน์ด้วยโดยตรง แม้แต่ประชาชนในเขตชนบทแต่ไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ประกอบอาชีพอื่น ก็มีเป็นจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน แต่ก็มีผู้ที่ไม่ใช่เกษตรกร แต่เห็นใจเกษตรกร และเห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนในจำนวนไม่น้อยเช่นกัน

            อนึ่งเขื่อนแม่วงก์มีประโยชน์ต่อป่าไม้ เพราะจะทำให้ป่าไม้เขียวชะอุ่มทั้งปีเพราะมีน้ำ สัตว์ป่าก็มีแหล่งอาหารมากขึ้น ประชาชนคนเล็กคนน้อยก็จะได้ประโยชน์จากการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง นำน้ำมาผลิตประปา ก็ยังได้  นำน้ำมาดับไฟป่าได้ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ด้วยสำหรับกรณีเขื่อนแม่วงก์ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาชีพประมง รวมทั้งอาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวอีกด้วย

            รัฐบาลพึงเอาใจใส่ต่อความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ จึงควรรีบสร้างเขื่อนตามที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ได้อนุมัติไว้แล้ว จะเป็นการซื้อใจของประชาชนได้เป็นอย่างดี


สั่งซื้อ หรือดาวน์โหลดฟรี ที่  http://goo.gl/LBer91

อ่าน 4,237 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved