รัฐกับที่ดินกลางเมือง: แง่คิดนานาชาติ
  AREA แถลง ฉบับที่ 220/2558: วันพุธที่ 29 กรกฎาคม 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

         ไทยเราควร "เอาเยี่ยงกา" หาใช่ "เอาอย่างกา" ผมจึงทำหน้าที่สื่อสารนำข้อคิดต่าง ๆ จากต่างประเทศมาร่วมพัฒนาชาติไทยของเรา ให้ยืนยงสถาพรครับ

"หมอชิต" แห่งนิวยอร์กและลอนดอน
         เรื่องแรกที่อยากกล่าวถึงก็คือข่าวการย้ายหมอชิต 2 จากที่รถไฟไปไกลโพ้นถึงรังสิต นี่แสดงว่าต่อไปเราไม่มีสถานีขนส่งกรุงเทพมหานคร มีแต่สถานีปทุมธานี (รังสิต) หรือไร เรามาดูกันว่าในต่างประเทศเขาทำกันอย่างไร

         เรามาดูนครนิวยอร์ก "บขส" คือ Port Authority Bus Terminal และ "หัวลำโพง" ของนครนิวยอร์ก (Penn Station) ก็ตั้งอยู่ใกล้กันในย่านใจกลางเมืองบนเกาะแมนฮัตตัน หรือในกรณีกรุงลอนดอน "บขส" ก็อยู่ใกล้พระราชวังบักกิงแฮมเลย ชื่อ Victoria Coach Station หากกรณีกรุงเทพมหานครไปตั้งอยู่นอกเมือง ห่างจากกรุงเทพมหานครถึง 40 กิโลเมตร ก็เท่ากับไม่มีรถ "บขส" เข้าเมืองเลยในอนาคต ต้องต่อรถกันพัลวัน ถ้ามีคนใช้บริการกันปีละนับล้านๆ คน ก็เท่ากับต้องเสียค่าต่อรถมหาศาล แถมทำให้แถวรังสิตกลายเป็นอัมพาตไปเสียอีก

         ข้อคิดสำหรับไทยเราก็คือ รัฐบาลจะปล่อยให้ บขส. กับการรถไฟแห่งประเทศไทยเจรจากันเองคงเป็นไปไม่ได้ รัฐบาลควรเป็นผู้ประสาน "หมอชิต" ควรอยู่ที่เดิม เพราะประชาชนสามารถเลือกต่อรถไฟ รถไฟฟ้า 4 สาย หรือรถประจำทางได้สะดวก ไม่สิ้นเปลืองเงินทองและเวลาของผู้เดินทาง การทำทางเชื่อมกับทางด่วนขั้นที่ 2 ทั้งขาเข้าและขาออกเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางด้วยรถโดยสาร เป็นสิ่งจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง อันที่จริงหากพัฒนา "หมอชิต" ใหม่ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น น่าจะรองรับการเดินทางได้สะดวกกว่าในปัจจุบันเป็นอย่างมาก

เกาหลีรื้อทางด่วนทำสวนสาธารณะ
         เมื่อไม่นานมานี้ผมไปออกรายการ "เถียงให้รู้เรื่อง" ทาง TPBS เรื่องมักกะสัน (https://goo.gl/DQArNh) มีกรณีตัวอย่างคลองช็องกเยช็อน (Cheong Gye Cheon) ที่มีผู้อ้างว่าได้รื้อทางด่วนที่คร่อมคลองน้ำเน่านี้มาปรับให้สวยงาม (https://goo.gl/YnTnI8) ดูเหมือนกับว่าการพัฒนาเมืองแต่เดิมเป็นความไม่เหมาะสม แต่ในความเป็นจริง กรณีนี้เกิดขึ้นเพราะปัจจัยหลายอย่าง (http://goo.gl/XhTc27):

         1. ธุรกิจใหญ่ ๆ ย้ายออกไปศูนย์ธุรกิจใจกลางเมืองใหม่ที่กังนำ (Gangnam) และอุตสาหกรรมในเขตใจกลางเมืองก็เสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว
         2.  ถนนที่เห็นคร่อมคลองแห่งนี้อยู่นั้น อยู่ในสภาพทรุดโทรม ค่าบำรุงรักษาสูงมาก เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการใช้สอย
         3. กรุงโซลใช้ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินและรถประจำทางมากขึ้น และจำกัดการใช้รถส่วนบุคคลเข้าสู่เขตใจกลางเมือง ความต้องการใช้ทางด่วนที่ทรุดโทรมดังกล่าวจึงลดน้อยลงตามลำดับ
         4. งบประมาณที่ใช้ในการทำสวนเป็นของกรุงโซลเอง ไม่ใช่เอางบฯ ของประชาชนทั้งประเทศมาใช้ และคนในพื้นที่รวมทั้งธุรกิจก็มีส่วนร่วมในการสนับสนุนด้วย (http://goo.gl/8Efqzp) ต่างจากกรณีมักกะสันที่จะใช้เงินหลวงทั้งในการชดเชยให้การรถไฟแห่งประเทศไทย 80,000 ล้านบาท ค่าก่อสร้างอีกนับพันล้านบาท และค่าดูแลอีกปีละนับร้อย ๆ ล้านบาท

         ดังนั้นการอ้างการพัฒนาคลองนี้ลอย ๆ โดยไม่แสดงที่มาที่ไปที่ชัดเจน จึงเป็นก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เกี่ยวกับการพัฒนาโครงการนี้ เพียงเพื่อมาสนับสนุนการสร้างสวนสาธารณะในบริเวณมักกะสันอย่างผิดๆ

การใช้สนามบินเก่า
         สนามบิน Tempelhof ที่ตั้งอยู่นอกใจกลางกรุงเบอร์ลิน รายล้อมด้วยที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย อาจนำไปทำสวนสาธารณะ ต่างจากมักกะสันที่ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ที่เชื่อมต่อรถไฟฟ้าหลายสาย เหมาะที่จะพัฒนาในเชิงพาณิชย์เพื่อประเทศชาติ แต่สนามบิน Riem ในใจกลางนครมิวนิก (http://goo.gl/h9csXO) หลังจากการเลิกใช้ ก็นำมาพัฒนาเป็นศูนย์ประชุม อาคารชุดพักอาศัย และแน่นอนย่อมมีส่วนหนึ่งเป็นสวน ส่วนตัวรันเวย์ยังเก็บไว้เพื่อการดัดแปลงการใช้สอยในอนาคต

         สนามบินที่พอเทียบกับไทยได้คงเป็นสนามบินไคตักเก่าบนเกาะฮ่องกงก็ไม่ยอมกลายเป็นสวน หลังจากสนามบินแห่งนี้ปิดตัวลงในปี 2541 ทางการฮ่องกงไม่เอาไปทำสวน แต่มีวิสัยทัศน์กว่านั้นมาก เขานำมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ คล้ายที่เซี่ยงไฮ้ โดยมีทั้งโรงแรม อาคารสำนักงานทั้งของรัฐและเอกชน ศูนย์การค้า ห้องชุดหรูเลิศขายให้กับคนรวยๆ เพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศ (http://bit.ly/1HdooTG)

ศูนย์คมนาคมมาเลเซีย
         ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ มีการนำที่ดินแปลงหนึ่งมาทำเป็นศูนย์คมนาคม ชื่อ KL Sentral หรือ Kuala Lumpur Central (http://bit.ly/1QcygPZ) เป็นตัวอย่าง ที่นี่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ มีขนาด 200 ไร่  นำมาทำเป็นศูนย์ต่อรถคล้าย ๆ กับที่มักกะสันของกรุงเทพมหานครของเรา ทั้งนี้มีการก่อสร้างเต็มพื้นที่ ไม่ได้กันพื้นที่เป็นสวนแต่อย่างใด แต่อาคารอาจก่อสร้างเป็น Zero-Carbon หรือไม่ปล่อยมลพิษเลยก็ว่าได้

         อันที่ดินที่ดินใจกลางเมืองเช่นค่ายทหารกลางกรุงมะนิลาหลายแห่ง ก็ให้ย้ายออกและพัฒนาเป็นศูนย์การค้าไปแล้ว ท่าเรือกลางกรุงลอนดอน (London Docklands) 1,338 ไร่ ก็นำมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์อย่างเข้มข้น นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างที่ตั้งเวิลด์เอ็กซ์โป กลางนครเซี่ยงไฮ้ 3,300 ไร่ แต่เดิมก็เป็นย่านโรงงาน-โกดังเก่าใจกลางเมือง นำมาพัฒนาเพื่อรับใช้คนเมือง ไม่ได้คิดจะเก็บโกดังเก่าแก่ไว้เป็นอนุสรณ์สถานแต่อย่างใด

       การพัฒนาเมืองต้องคิดให้รอบคอบ เราไม่ลืมอดีต ใครอยากชื่นชมความขลังของอาคารโกดัง-โรงซ่อมรถไฟอายุร้อยปี ก็สามารถไปชื่นชมที่หัวลำโพง นำไปสร้างไว้รวมกันเป็นพิพิธภัณฑ์  แต่อย่าให้ "คนตายขายคนเป็น" นะครับ

 "บขส" นิวยอร์กอยู่ใจกลางเมืองที่ Port Authority ส่วนสถานีรถไฟอยู่ Penn Station เดินถึงกันได้เลย

"บขส" ลอนดอน "บขส" อยู่ใกล้พระราชวังบักกิงแฮมเลย ชื่อ Victoria Coach Station

คลองคลองช็องกเยช็อนก่อนและหลังการพัฒนา

สภาพทางด่วนเหนือคลองช็องกเยช็อนที่พังจนต้องรื้อ

สนามบิน Riem ใจกลางนครมิวนิก ที่พัฒนาเป็นในเชิงพาณิชย์มีทั้งที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม

สนามบินไคตักใจกลางนครรัฐฮ่องกงที่พัฒนาเป็นอสังหาริมทรัพย์ราคาแพง

อ่าน 2,100 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved