AREA แถลงฉบับนี้ เป็นการนำเสนอความเห็นส่วนตัวของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เกี่ยวกับเอกสารถ่านหินและโรงไฟฟ้ากระบี่ของกลุ่มกรีนพีซ
วิพากษ์กรีนพีช: เอกสารถ่านหินกระบี่ที่บิดเบือน
ดร.โสภณ พรโชคชัย
ในเอกสาร "กระบี่บนทางแพร่ง ถ่านหินสกปรก หรือระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด" นั้น ดูเป็นเอกสารที่เอนเอียง ให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านถ่านหินเพียงด้านเดียว ผมจึงขออนุญาตวิพากษ์เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องดังนี้:
1. ที่กรีนพีซว่า "ถ่านหินสกปรก" เป็นการบิดเบือน แน่นอนว่าขึ้นชื่อว่าถ่านแล้วย่อมสกปรก แต่ทั่วโลกมีกระบวนการผลิตที่สะอาด แม้แต่ไฟฟ้าพลังลมยังส่งมลภาวะทางเสียงออกมา ประเด็นจึงอยู่ที่การจัดการมากกว่า ถ่านหินบิทูมินัสที่ใช้เป็นถ่านหินชั้นดีกว่าถ่านหินลิกไนต์และได้รับการพิสูจน์จากโรงไฟฟ้าถ่านหินในมาเลเซียที่ตั้งอยู่ริมทะเล (กระบี่อยู่บนผืนดินห่างจากทะเล) หลายโรง อีกทั้งตั้งอยู่ใกล้กับชุมชน ตลอดจนโรงแรมรีสอร์ตต่าง ๆ ก็ไม่ได้ก่อมลภาวะอะไร ผลการศึกษาที่ผ่านก็ชี้ว่าไม่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม ( http://goo.gl/BHb6yb) อย่างไรก็ตาม ก็ย่อมมีผลศึกษาที่พยายามป้ายสีให้เห็นภาพลบของถ่านหินบ้างก็ได้ ไม่เพียงแต่ในมาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา อินโดนีเซียและอื่น ๆ ต่างก็มีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใช้ถ่านหินบิทูมินัส ซึ่งมีคุณภาพสูง และที่สำคัญกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้ายุคใหม่ สามารถป้องกันปัญหาได้ดี
2. กรีนพีซเรียกเอกสารนี้ว่างานวิจัย แต่ไปฟังเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบ เป็น "คำให้การ" อยู่จำนวนหนึ่ง โดยไม่ได้ดูกลุ่มอื่นๆ และไม่ได้ประเมินให้รอบคอบ ในช่วงปี 2509-2538 โรงไฟฟ้ากระบี่ผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินลิกไนต์ อาจมีผลกระทบบ้าง แต่ในสมัยใหม่ใช้ถ่านหินบิทูมินัสซึ่งปลอดภัยกว่าและเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก ใช้ช่วงปี 2509-2538 โรงแรมรีสอร์ตต่าง ๆ เกิดขึ้นสวนทางเป็นดอกเห็นในพื้นที่กระบี่ แสดงชัดว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด และภายหลัง ยังใช้น้ำมันเตาและอื่น ๆ ทำเชื้อเพลิงอีก การบิดเบือนว่าจะส่งผลแระทบจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
3. ในกรณีพื้นที่ชุ่มน้ำที่ว่าไม่อาจสร้างโรงไฟฟ้าก็ไมเป็นจริง ในมาเลเซีย โรงไฟฟ้า Tanjung Bin Power Station ซึ่งเปิดดำเนินการบางส่วนตั้งแต่ปี 2549 หรือ 9 ปีที่แล้ว พร้อมท่าเรือขนาดใหญ่มีลานขนถ่ายสินค้ายาว 4 กิโลเมตร (คลองเตยยาวเพียง 1 กิโลเมตร) และมีพื้นที่กว้างขวางกว่าท่าเรือคลองเตยนับสิบเท่า ก็อยู่ติดกับพื้นที่ชุ่มน้ำ ตรงปากแม่น้ำ ไม่เห็นว่าจะมีปัญหาอะไร แต่สำหรับในประเทศไทย พวก NGOs นำพื้นที่ชุ่มน้ำมาอ้างเล่นประหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แตะต้องไม่ได้ นี่อาจเป็นการ "แหกตา" หลอกลวงประชาชนไปหรือไม่ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องพึงพิจารณา ในขณะที่โรงไฟฟ้ากระบี่ (ที่จะสร้างใหม่ซึ่งคงใช้เทคโนโลยีที่ใหม่กว่าอีก) จะสร้างบนบก และมีเพียงท่าเทียบเรือที่ยื่นลงไปในน้ำ
4. การอ้างว่าให้ไปสร้างที่อื่น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะโรงไฟฟ้าใกล้ที่สุดจากกรุงเทพมหานครก็อยู่ราชบุรี ถ้าย้ายจากกระบี่ไปสงขลา ชุมพร ระนอง สตูล หลายที่ก็คงกังวลอีก แต่ในเมื่ออยู่ที่กระบี่และประสบความสำเร็จ ไม่ได้สร้างมลพิษ และต่อไปใช้เทคโนโลยีใหม่และถ่านหินชนิดดี (บิทูมินัส) ก็ยิ่งปลอดภัยยิ่งขึ้น การจะให้ไทยต้องพึ่งพิงไฟฟ้าจากมาเลเซีย คงทำให้ขาดความมั่นคงทางพลังงานเป็นอย่างยิ่ง
5. การอ้างว่าจะใช้พลังงานสะอาดต่าง ๆ เช่น พลังแสงอาทิตย์ พลังงานลม ก็คงเป็นสิ่งที่ไม่เพียงพอ พลังงานน้ำจากเขื่อน พลังงานจากขยะ หรือพลังนิวเคลียร์ (ซึ่งแม้แต่มาเลเซียก็เริ่มวางแผนใช้แล้ว) ก็ถูก NGOs ต่อต้านอีก ถ้าพลังงานอื่น ๆ มีเพียงพอ ก็คงไม่ต้องมีการขุดเจาะน้ำมันหรือถ่านหินมาใช้อย่างแน่นอน ต้นทุนจากแหล่งพลังงานอื่นแพงกว่าถ่านหินมาก ในขณะที่ถ่านหินก็ยังพิสูจน์การใช้อย่างปลอดภัยมาแล้วทั่วโลก
ยิ่งกว่านั้นสถิติต่าง ๆ ในเอกสารของกรีนพีซ ก็ขาดการอ้างอิงในเชิงวิชาการ เป็นตัวเลขที่ยกขึ้นมาลอย ๆ โดยไมมีสมมติฐานที่ชัดเจน ถือเป็นการ "มองอย่างสวยหรู" ด้านเดียว ทำให้ประชาชนและสังคมส่วนรวมเข้าใจผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง ทำให้สังคมหลงทางไปสู่กับดักพลังงานที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญโดยการชักนำไปในทางที่ไม่น่าจะถูกต้องแต่อย่างใด
ดร.โสภณ เห็นว่า กรีนพีซควรจัดทำและเผยแพร่เอกสารต่าง ๆ อย่างตรงไปตรงมาและมีความรับผิดชอบกว่านี้ การจัดทำอย่างสวยงาม ดูอาศัยความน่ารักน่าสงสารของคน สัตว์ สิ่งของมาให้คนเชื่อ ดูประหนึ่งเป็นการโฆษณาชวนเชื่อมากกว่าการให้เหตุผลอย่างอารยะ