ในเช้าวันนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้รับเชิญจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติให้ไปบรรยายเกี่ยวกับที่ดินกับการพัฒนาเมือง ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร ดร.โสภณ ได้นำเสนอเกี่ยวกับโครงการสร้างถนนริมแม่น้ำเจ้าพระยาว่าไม่ควรสร้าง
ตามที่รัฐบาลมีโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ( http://bit.ly/1KgrOsH) ตามกรอบเวลาที่จะใช้ก่อสร้าง 18 เดือน ด้วยงบประมาณดำเนินการเบื้องต้น จำนวน 14,600 ล้านบาท และเมื่อเสร็จสิ้นคงเป็นเงินอีกมหาศาลนั้น ดร.โสภณ เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควรดำเนินการเป็นอย่างยิ่ง จึงสมควรทบทวนโครงการ
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ในฐานะผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาเมืองและผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ให้ข้อคิดเห็นว่า
1. หากจะสร้างขึ้นมาเพื่อการขี่จักรยาน คงเป็นการสิ้นเปลืองอย่างยิ่ง ในกรณีขี่จักรยาน กรุงเทพมหานครสามารถไปซื้อที่ดินชานเมืองไร่ละ 4 ล้านบาท สัก 20 ไร่ รวม 80 ล้านบาท และค่าพัฒนาอีก 20 ล้านบาท รวม 100 ล้านบาท เพื่อเป็นพื้นที่ขี่จักรยานได้ถึง 146 แห่งด้วยงบประมาณ 14,600 ล้านบาท
2. ในกรณีป้องกันน้ำท่วม ก็สามารถสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม ซึ่งกรุงเทพมหานครก็ได้ดำเนินการอยู่แล้ว ไม่ต้องเสียเงินซ้ำซ้อน และเป็นเงินจำนวนมหาศาลเช่นนี้
3. หากจะแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่สาธารณะ กรุงเทพมหานครก็ควรดำเนินการอยู่แล้ว เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม ไม่พึงปล่อยให้มีการใช้ที่สาธารณะเพื่อประโยชน์ส่วนตัวดังที่เป็นอยู่มานานเช่นนี้
อย่างไรก็ตาม ในการก่อสร้างริมแม่น้ำเจ้าพระยา ควรมีเป้าหมายที่มีคุณค่าต่อสังคมมากกว่านี้ คือ การเพิ่มพื้นที่ถนนให้รถได้วิ่ง โดยอาจสร้างถนนข้างละ 2-4 ช่องจราจร รวม 4-8 ช่องจราจร เพราะทุกวันนี้พื้นที่ถนนในเขตใจกลางเมืองมีจำกัดมาก จึงควรเร่งสร้างถนนริมแม่น้ำเจ้าพระยา เช่นที่ดำเนินการในกรุงโซลและมหานครอื่นทั่วโลก ซึ่งไม่มีประเทศไหน หรือมหานครไหน สร้างถนนขึ้นมาเพื่อการพักผ่อนและการขี่จักรยานเป็นหลักเช่นในประเทศไทย ที่เป็นประเทศที่ยากจนกว่าประเทศเหล่านั้นแต่อย่างใด
กรณีถนนเลียบแม่น้ำขนาดใหญ่ มีตัวอย่างที่ดีที่เห็นได้ 2 ตัวอย่างล่าสุดได้แก่ กรุงโซล ประเทศเกาหลี และนครโฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม ที่มีการรื้อสิ่งก่อสร้างริมแม่น้ำทั้งหมด แล้วสร้างถนนเพื่อเพิ่มที่การจราจรริมสองฝั่งแม่น้ำ โปรดดูรูปต่อไปนี้:
กรณีกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้
กรณีนครโฮจิมินห์ซิตี้ ประเทศเวียดนาม
ที่มา: http://indochinaimages.photoshelter.com/image/I00006gbetI76Lqo
ในการเวนคืนเพื่อการก่อสร้างถนนริมแม่น้ำเจ้าพระยานั้น สามารถที่จะจัดทำในแนวทางใหม่ กล่าวคือ แทนที่จะจ่ายค่าทดแทนเพียงอย่างเดียว ก็อาจสร้างโครงการอาคารชุดรองรับผู้ที่ถูกเวนคืน โดยก่อสร้างในบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้วิถีชีวิตในการไปโรงเรียน ที่ทำงาน และความเป็นชุมชนไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ส่วนผู้ที่เต็มใจจะรับแต่ค่าทดแทนเพียงอย่างเดียวแล้วย้ายไปอยู่ที่อื่น ก็สามารถทำได้เช่นกัน
อีกประเด็นหนึ่งที่พึงพิจารณาก็คือ ในการก่อสร้างผ่านบริเวณวังหลวงหรือสถานที่สำคัญทางศาสนา ถนนนี้ก็สามารถสร้างให้เลียบกับถนนปัจจุบันโดยไม่ต้องยกสูงให้เป็นเขื่อนเช่นในบริเวณอื่น มีเพียงเขื่อนกั้นน้ำที่จะสูงกว่าระดับถนนประมาณ 1.5 - 2 เมตรผ่านหน้าเท่านั้น เพื่อยังคงทัศนียภาพอันงดงาม
ทั้งนี้บางบริเวณยังอาจก่อสร้างถนนเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยาบางส่วนด้วย เพราะแม่น้ำเจ้าพระยามีความกว้างเพียงพอที่จะรองรับถนนได้ การสูญเสียพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาเพียงบางส่วน บางบริเวณ แต่รักษาสภาพแวดล้อมที่ดีของแม่น้ำไว้ได้ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดทางหนึ่ง
ปกติเมื่อมีการสร้างสวนสาธารณะขนาดใหญ่ๆ กลับมีคนไปใช้น้อยมาก เมื่อเทียบกับการทำสวนสาธารณะเล็ก ๆ จะคุ้มกว่า เช่น สวนลุมพินี มีคนใช้วันละ 8,500 คน สวนจตุจักร 3,500 คน สวนหลวง ร.9 ประมาณ 1,000 คน เป็นต้น การทำสถานที่พักผ่อนเช่นถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาในลักษณะนี้ คงมีผู้ไปใช้สอยน้อยมากเช่นกัน
การนำภาษีอากรของประชาชนทั่วประเทศมาสร้างทางจักรยานริมแม่น้ำเพื่อการขี่จักรยานเป็นหลัก จึงเป็นแนวคิดที่เอื้อประโยชน์ต่อพวกกระฎุมพีและเหล่าอภิชนบางส่วนในเมือง ไม่ได้สร้างสรรค์ประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนโดยรวมแต่อย่างใด มีหนทางดี ๆ ที่จะทำเพื่อประชาชนมากมายให้รัฐบาลนำไปใช้ได้