ผมมีแนวทางการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมที่อยากนำเสนอ ที่ไม่ใช่ไป “ไถ” เงินคนอื่นมาทำดี หรือไม่ได้ใช้อภิสิทธิ์จากเครือข่ายใดมาทำดี ลองพิจารณาเป็นกรณีศึกษาในที่นี้
ในสังคมนี้ ต้นทุนในการทำความดีมักมาจากการไปรีดไถคนอื่นโดยใช้ตำแหน่งหน้าที่ เช่น ข้าราชการใหญ่ๆ จะไปทอดกฐิน ผ้าป่า หรือจัดงานการกุศล ก็ "บอกบุญ" (รีดไถ) จากลูกน้อง ๆ ก็ไปรีดไถจากพ่อค้าคหบดีต่ออีกทอดหนึ่ง ใคร "รีดไถ" ได้มากกว่า ก็กลับได้หน้าได้ตาเสียอีก เป็นการกระทำ "ต่างตอบแทน" เป็นบ่อเกิดของการ "เลีย" การทุจริตและประพฤติมิชอบต่าง ๆ นานา ได้บาปมากกว่าได้บุญ
อย่างไรก็ตามการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมหรือการช่วยเหลือสังคม (Social Contribution) ก็เป็นปางหนึ่งของความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) ซึ่งยังประกอบด้วยอีกสองปางคือการปฏิบัติตามครรลองของกฎหมาย (Hard Laws) โดยเคร่งครัด และการมีมาตรฐานจรรยาบรรณ (Soft Laws) ในกรณีการบำเพ็ญประโยชน์สไตล์หนึ่ง ดร.โสภณ พรโชคชัย คือการก่อตั้งมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย
ผมก่อตั้งมูลนิธินี้ตั้งแต่ พ.ศ.2544 เพื่อมุ่งหวังบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม ให้ความรู้แก่ประชาชนด้วยคติที่ว่า Knowledge Is Not Private Property หรือ ความรู้ไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของใคร ควรได้รับการแบ่งปัน จนบัดนี้มูลนิธิถือเป็นองค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มีกิจกรรมถี่/มากที่สุด มูลนิธิไม่ได้แข่งขันกับสมาคมวิชาชีพที่ผมก็เคยเป็นกรรมการและร่วมก่อตั้ง แต่ยังช่วยสนับสนุนสมาคมอยู่เนือง ๆ
การก่อตั้งมูลนิธินี้ ผมใช้เงินสดส่วนตัว 200,000 บาทเพื่อบริจาคตามกฎหมาย และขณะนี้มีเงินทุนเพื่อการบำเพ็ญประโยชน์ประมาณ 2 ล้านบาทแล้ว เงินจำนวนนี้ ผมไม่ได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปเที่ยว “ไถ” ลูกน้องหรือคหบดีในนามการกุศลแต่อย่างใด แต่ได้มาจากการจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่าง ๆ เป็นสำคัญ
สิ่งที่มูลนิธิดำเนินการจนถือเป็นองค์กรที่มีความคึกคักที่สุด เช่น
1. การจัดเสวนาวิชาการรายเดือนติดต่อกันทุกเดือนมา 158 ครั้ง (นับถึงเดือนกันยายน 2558) โดยสมาชิกเข้าร่วมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทุกคนในสังคมสามารถ Download เอกสารประกอบย้อนหลังได้ทุกครั้งโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการศึกษาต่อเนื่อง (Continuing Professional Development หรือ CPD Program) สำหรับนักวิชาชีพได้อีกด้วย
2. การจัดพิมพ์วารสารราย 2 เดือนติดต่อกันมา 12 ปีติดต่อกัน โดยมียอดพิมพ์ครั้งละ 5,000 เล่ม แจกจ่ายไปตามหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศโดยไม่คิดมูลค่า ทุกคนในสังคมสามารถ Download วารสารสี่สีรูปสวยงามได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ฉบับพิมพ์จริงพิมพ์เพียงสีเดียวเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
3. การจัดประกวดเรียงความ ครั้งล่าสุดเป็นครั้งที่ 6 (2557) ชิงโล่รางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พัฒนาท้องถิ่น พัฒนาประชาธิปไตย พัฒนาชาติ” การจัดประกวดเรียงความแต่ละครั้งใช้จ่ายเงินประมาณ 400,000 บาท เพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาต่าง ๆ
4. การจัดดูงานอสังหาริมทรัพย์ต่างประเทศเพื่อเปิดวิสัยทัศน์สากล โดยผมซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาขององค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก และอื่น ๆ และเป็นกรรมการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ระดับนานาชาติ จึงคุ้นเคยกับหน่วยงานทั่วโลก สามารถติดต่อดูงานทั้งในเอเชีย ยุโรป อเมริกาและออสเตรเลีย ทำให้ผู้ไปดูงานได้ประโยชน์อย่างลึกซึ้ง ทั้งนี้รายได้จากการนี้ ผมยกให้กับมูลนิธิทั้งหมด โดยตัวเองเป็นผู้ร่วมออกเงิน-แรงด้วย
มูลนิธิคิดค่าสมาชิกเพียงปีละ 1,000 บาท โดยสมาชิกจะได้รับหนังสือมูลค่า 300 บาท กระเป๋ามูลค่า 200 บาท เสวนาวิชาการรายเดือนฟรีตลอด 12 เดือน (ปกติครั้งละ 750 บาท) วารสารทุก 2 เดือน รวมทั้งส่วนลดในกิจกรรมอื่น ๆ ดังนั้นมูลนิธิจึงไม่ได้หวังหารายได้จากสมาชิก แต่เพียงให้สมาชิกมีส่วนร่วมสนับสนุนมูลนิธิบ้างเท่านั้น
ทำไมผมจึงสามารถสร้างเงินทุนให้มูลนิธิได้ถึง 2 ล้านบาท เงินเหล่านี้มาจากการบริจาคส่วนหนึ่งซึ่งมูลนิธิก็ประกาศรายชื่อผู้บริจาคในเว็บไซต์ชัดเจน แต่ส่วนสำคัญมาจากผม เช่น ในกรณีการเสวนาวิชาการทุกเดือน ซึ่งส่วนมากจัด ณ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส นั้น ค่าอาหาร เครื่องดื่ม ค่าประสานงาน และสถานที่ ผมเป็นผู้จ่าย แต่เงินบริจาคทั้งหมดโดยไม่หักค่าใช้จ่าย ยกให้มูลนิธิ เราจึงมีเงินทำกิจกรรมจนเป็นองค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มีกิจกรรมคึกคักที่สุดในประเทศไทย
ผมไม่ได้ทำบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีรายได้ปีละนับแสนล้าน แต่บริจาคสักปีละ 100 ล้าน ซึ่งสามารถทำอะไรได้มากมาย แต่นั่นคือเงินเพียง 0.1% ของรายได้เท่านั้น การทำดีของบริษัทใหญ่ ๆ บางทีแทบไม่ต้องใช้เงิน เพราะมีสื่อต่างๆ ที่เป็นผู้ให้บริการโฆษณา คอย "ชเลียร์" ลงข่าวให้อยู่แล้ว ส่วนผมทำกิจการบริษัทแบบ SMEs ที่มีรายได้ระดับร้อยล้าน แต่เราก็ออกแรง ออกเงินทำเพื่อส่วนรวมในสัดส่วนที่มากกว่าบริษัทใหญ่ ๆ นับสิบเท่าตัวเสียอีก
การที่มูลนิธิได้บำเพ็ญประโยชน์อยู่เนือง ๆ จึงมีผู้สนับสนุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บุคคลที่มีชื่อเสียงและสมาชิกที่สนใจจึงเมตตามาร่วมเป็นคณะกรรมการมูลนิธิ แม้แต่ตำแหน่งประธานกรรมการ ผมก็เชิญศาสตราภิชานกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล เป็นประธานแทน และตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะกรรมการก็จะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนทุก 1-2 ปี มูลนิธิไม่ได้รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ จากกรรมการ และกรรมการก็อาสามาช่วยงานโดยไม่ได้มาแสวงหาประโยชน์ใด การบำเพ็ญประโยชน์ด้วยการตั้งมูลนิธินี้ ผมตั้งใจให้เห็นว่า ขนาดคน ๆ เดียวยังทำงานเพื่อสังคมได้มากมาย หากทุกคนในวงการร่วมกันดำเนินการ ก็คงสร้างประโยชน์ได้เป็นอเนกอนันต์ การทำดีแบบนี้ก็ส่งผลดีในทางอ้อมต่อธุรกิจบริการวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินและวิจัยอสังหาริมทรัพย์ด้วยความศรัทธาในการทำดีของผมเป็นสำคัญ
การทำดีแบบนี้ ทำด้วยความบริสุทธิ์ เงินทุนไม่ได้เปื้อนสิ่งใดมา ไม่สงวนสิทธิ์การลอกเลียนแบบ และหวังให้มีการทำดีที่ดีกว่านี้อีกเพื่อสังคมที่ดียิ่งขึ้น