รัฐบาลไม่ควรสร้างบ้านยั่งยืน เฉพาะใน กทม.และปริมณฑลยังมีบ้านราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท เหลือขายในตลาดเกือบ 20,000 หน่วย ถ้ารวมบ้านมือสองด้วยอาจถึง 100,000 หน่วย ทั่วประเทศอาจมีรวมกันอีกเกือบ 50,000 หน่วย
ตามที่การเคหะแห่งชาตินำโครงการบ้านยั่งยืน (บ้านเอื้ออาทร) ซึ่งเป็นบ้านและอาคารชุดพร้อมอยู่ สำหรับผู้มีรายได้น้อย รวม 244 โครงการ จำนวน 13,583 หน่วยทั่วประเทศ มาเปิดให้จองในวันที่ 28 สิงหาคม - 6 กันยายน 2558 โดยราคาเริ่มต้น 230,000 – 500,000 บาท และสามารถวางเงินจองเพียง 1,000 บาท (http://bit.ly/1X3zmnr)นั้น นับเป็นแง่ดีประการหนึ่งในการผ่องถ่ายขายทรัพย์ของการเคหะแห่งชาติ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ชี้ให้เห็นว่าบ้านเอื้ออาทรที่วางเป้าจะพัฒนาถึง 1,000,000 หน่วย และต่อมาลดเป้าเหลือ 600,000 หน่วย และสร้างได้จริงราว 300,000 หน่วยนั้น ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
ในช่วงของการจองซื้อบ้านเอื้ออาทร ก็มีผู้จองโดยจ่ายเงินจองเพียง 1,000 บาทเช่นกัน และมีผู้จองเป็นจำนวนมาก แต่ปรากฏว่าเมื่อจองซื้อแล้ว ก็มีผู้ซื้อเป็นจำนวนมาก ทิ้งใบจองบ้านเอื้ออาทร (http://bit.ly/1hNGjJn) หรือยอดคืนบ้านเอื้ออาทรในบางช่วงพุ่งเดือนละ 500 หน่วย (http://bit.ly/1NI5av4) แสดงถึงความต้องการบ้านเอื้ออาทรที่มีอยู่จำกัด จนเหลือขายมาจนถึงทุกวันนี้
ในปัจจุบันเฉพาะที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) พบว่า ยังมีที่อยู่อาศัยที่มีราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทเหลืออยู่อีก 19,364 หน่วย แยกเป็น:
บ้านแฝด 35 หน่วย
ทาวน์เฮาส์ 1,107 หน่วย
ห้องชุดพักอาศัย 18,135 หน่วย
และที่ดินจัดสรร 87 แปลง
นอกจากนี้ยังเชื่อว่ามีบ้านมือสองที่มีราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท และส่วนมากเป็นห้องชุดพักอาศัยรอขายอยู่อีกประมาณ 100,000 หน่วย ยิ่งในต่างจังหวัดอาจมีที่อยู่อาศัยมือสองที่มีราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท อีกราว 50,000 หน่วย การสร้างที่อยู่อาศัยใหม่เข้ามาในตลาดจึงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด และรังแต่จะสร้างภาวะล้นตลาดให้เพิ่มมากขึ้น กลายเป็นการสร้างปัญหาให้กับภาคเอกชนและผู้บริโภคอีกด้วย รัฐบาลควรเร่งผ่องถ่ายขายทรัพย์สินของภาครัฐและภาคเอกชนให้ถึงมือประชาชนในราคาถูกมากกว่าการส่งเสริมการซื้อบ้านใหม่ในตลาด
ภาพประกอบจาก http://money.kapook.com/view127841.html