มาฟังชาวบ้านแท้ ๆ จากกระบี่ที่มาบอกว่าโรงไฟฟ้านั้นปลอดภัย ชาวบ้านส่วนน้อยเท่านั้นที่ต้านโรงไฟฟ้า คงต้านด้วยอคติ
เมื่อครั้งที่ผมไปออกรายการโทรทัศน์โต้กับ ผอ.กรีนพีซ หลังจากออกอากาศ ท่านบอกว่าที่ผมพูดไปเห็นด้วยกับโรงไฟฟ้ากระบี่เช่นนี้ ถ้าไปคุยกับคนกระบี่อาจจะไม่ได้รับการต้อนรับหรือทำนองไม่ปลอดภัย ในระหว่างออกอากาศ ท่านยังบอกว่า ท่านบอกว่า (กรีนพีซ) "มีการรวบรวมรายชื่อเป็นพันคน" http://goo.gl/1wQatX) อย่างไรก็ตามในหนังสือดังกล่าว ก็ไม่ได้มีปรากฏรายชื่อคนนับพันดังการกล่าวอ้าง แต่ผมมั่นใจว่าคนกระบี่ส่วนใหญ่ต้องการโรงไฟฟ้ามากกว่า (http://bit.ly/1Jkkx6x) เพราะผมเคยคุยกับผู้เกี่ยวข้องมาหลายรายแล้ว ต่างจากที่กรีนพีซและพวกเอ็นจีโออื่นให้ภาพไว้
เมื่อเร็ว ๆ นี้มีสกู๊ฟเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่ง เรื่อง "จากหัวใจ คนอยู่ใกล้โรงไฟฟ้า" ซึ่งสะท้อนมุมมองของประชาชนในท้องที่ (http://bit.ly/1UoJ7Iz) ในเรื่องที่รายงาน "ป๊ะแหล้หมัน แดงกุล ชายวัย 78 ที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ใกล้เหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ มาตั้งแต่เหมืองเปิดจนกระทั่งโรงไฟฟ้าถ่านหินเดิมหมดอายุลง ได้ย้อนอดีตให้ฟังว่า 'สมัยนั้น ป๊ะเข้าไปขายของ เลยได้เข้าไปเห็น เขายังใช้คนขุดอยู่เลย เหมืองใหญ่มากนะ แต่เขามีหลายบ่อนะ ตอนนี้ก็กลายเป็นสระน้ำไปแล้ว มีปลาชุมด้วย เขาไปหากันก็ได้เยอะนะ'"
"ส่วนประเด็นเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพนั้น ป๊ะแหล้หมัน เล่าเสริมว่า 'สมัยนั้น มันก็มีฝุ่นมาเกาะตามต้นไม้บ้าง แต่เท่าที่รู้ ก็ไม่ได้มีใครเจ็บป่วยนะ อย่างป๊ะเอง ปีนี้ก็ 78 แล้ว ไปหาหมอตรวจ หมอก็ว่าแข็งแรงดี' ข่าวคราวที่ออกไปว่า ประชาชนในพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ ไม่เห็นด้วยและมีการต่อต้านอย่างรุนแรงนั้น อาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น" นี่คือข้อสังเกตของชาวบ้านในพื้นที่แท้ ๆ
"บังสาท คลองยวน เล่าว่า 'ไม่จริง คนที่ค้านก็มีบ้าง แต่เป็นส่วนน้อย ส่วนคนที่เห็นด้วยมีเยอะมาก แต่เขาไม่ได้ไปออกข่าว คนเลยเข้าใจไปว่าพวกเราต่อต้านหมด อันที่จริงมันไม่มีอะไรหรอก คือมันมีคนจากข้างนอกเข้ามา เป็นพวก NGO มาบอกให้ต้าน มาบอกว่าถ่านหินอันตราย แต่โดยส่วนตัวผม ผมไม่เชื่อ ถ้าอันตรายอย่างที่ว่าจริง ป่านนี้คนเฒ่าคนแก่แถวนี้ คงตายหมดแล้วครับ คงไม่เหลืออยู่ถึงทุกวันนี้หรอก"
ในความเป็นจริง โรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่มีมาตั้งแต่ปี 2509 - 2538 โดยใช้ถ่านหินลิกไนต์ที่คุณภาพแย่กว่าถ่านหินบิทูมินัส ที่ดีกว่า และใช้กันทั้งในไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ฯลฯ จะสังเกตได้ว่า นับตั้งแต่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นต้นมาจนถึงปี 2538 ปรากฏว่าโรงแรม รีสอร์ทต่าง ๆ กลับเกิดขึ้นในบริเวณที่ไม่ห่างไกลจากโรงไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก แสดงว่าไม่ได้มีผลกระทบร้ายแรงใด ๆ แม้ผลิตด้วยลิกไนต์ในสมัยก่อน
ยิ่งหากดูในมาเลเซีย เขาตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินตรงบริเวณพื้นที่ติดชายทะเล ติดพื้นที่ชุ่มน้ำ ก็ไม่ทำให้เกิดปัญหาใด ๆ บรรดารีสอร์ทต่าง ๆ ในพื้นที่ก็ยังเพิ่มขึ้น ผู้มาพักก็ไม่มีใครบ่นเรื่องโรงไฟฟ้า สัตว์น้ำที่กลัวจะสูญพันธุ์ พื้นที่ชุ่มน้ำ ก็ยังอยู่ แต่แน่นอนว่าบางส่วนก็ถูกเอามาทำท่าเรือขนาดใหญ่และโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่เช่นกัน ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ควรให้พวกเอ็นจีโอใช้นิยายความกลัวที่ไม่เป็นจริงมาปั่นหัวเรา
ประเทศไทยไม่ควรยอมให้พวกเอ็นจีโอเอาข้อมูลด้านเดียวมาสร้างความแตกแยกให้กับสังคม ในโลกนี้ ถ่านหินกำลังขยายตัวขนานใหญ่ โรงไฟฟ้า เมือง และรีสอร์ทอยู่ด้วยกันได้ (http://bit.ly/1Juue2c) อย่าไปเชื่อการวิพากษ์ที่เลื่อนลอยและเบาหวิวของกรีนพีซ กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินในมาเลเซีย (http://bit.ly/1MCbFiw) เพราะเราสามารถสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ชุ่มน้ำได้ ไม่อันตราย (http://bit.ly/1O5i9UB)
กรีนพีซเองก็ยังยอมรับว่ามาเลเซีย ซึ่งมีน้ำมันและแก๊สมหาศาลกว่าไทย ยังจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจากร้อยละ 33 ในปัจจุบันเป็นร้อยละ 64 ภายในปี พ.ศ. 2562 (http://bit.ly/1MMKose) แต่ไทยกลับถูกขัดขวางไม่ให้ใช้ถ่านหินที่มีกระบวนการผลิตที่สะอาดปลอดภัย ซึ่งได้รับการพิสูจน์ในมาเลเซีย สิงคโปร์ จีน อินเดีย ฯลฯ ในขณะที่พลังงานจากลมและแดด ซึ่งแม้สะอาด แต่กลับสกปรกในด้านการทุจริตจัดซื้อ เทคโนโลยีที่แทบไม่มีอะไรพิสดาร กลับมีราคาแสนแพง ทำให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าต่อหน่วยแพงกว่าจากถ่านหิน 3 เท่า นี่เท่ากับเป็นการผลักดันไทยให้ต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีในราคาแพง ถือเป็นการทำลายผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ
อย่าไปเชื่อพวก “สะอาด” ที่แสน “สกปรก” มาเลเซีย สิงคโปร์ กัมพูชา พม่า อินเดีย จีน ฯลฯ พิสูจน์มาให้เห็นแล้วว่า ถ่านหินบิทูมินัส ผลิตไฟฟ้าได้ดีกว่า ประหยัดกว่า สะอาดกว่า ผมอยากบอกว่าเอกสารของกรีนพีซ ถ้าเป็นในกรณีมาเลเซีย ลาว กัมพูชา อินเดีย คงถูกระงับให้เผยแพร่ไปแล้ว เพราะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และทำร้ายผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนไทย