ดร.โสภณ เสนอขอให้มีบางมาตราเพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญที่กำลังจะให้ สปช.พิจารณากันในสัปดาห์หน้านี้ บางส่วนเกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์
มาตรา 1 การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม และต้องชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรมภายในเวลาอันควรแก่เจ้าของตลอดจนผู้ทรงสิทธิบรรดาที่ได้รับความเสียหายในการเวนคืนนั้น ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
การกำหนดค่าทดแทนตามวรรคหนึ่ง ต้องกำหนดให้อย่างเป็นธรรมบนพื้นฐานราคาตลาดโดยจ่ายให้สูงกว่าราคาตลาดร้อยละยี่สิบ รวมทั้งพิจารณาทดแทนค่าความเสียหายอื่นของผู้ถูกเวนคืน แต่หากการเวนคืนทำให้ทรัพย์สินของผู้ถูกเวนคืนมีมูลค่าสูงขึ้นเกินกว่ามูลค่าที่ถูกเวนคืนและรวมความเสียหายอื่น ผู้ถูกเวนคืนไม่ต้องรับค่าทดแทน
ในมาตรานี้ ดร.โสภณ เห็นว่าการเวนคืนต้องดำเนินไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม แต่ไม่จำเป็นต้องไม่ประกอบการพาณิชย์ ในมาเลเซียยังมีการเวนคืนเพื่อเอาที่ดินมาพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมหรืออื่น ๆ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เวนคืนแล้วนำมาทำในเชิงพาณิชย์ได้ ตราบเท่าที่เงินได้เอาเข้าคลังหลวงหรือเอามาใช้เพื่อการพัฒนาประเทศ ไม่ได้เอาไปโกงกินกัน
ยิ่งกว่านั้น ยังเสนอให้การเวนคืน นอกจากจากตามราคาตลาด ไม่ใช่ราคาประเมินของทางราชการที่ต่ำกว่าราคาตลาด และควรจ่ายเพิ่มอีกสัก 20% ของมูลค่า ทุกคนที่ถูกเวนคืนจำเป็นต้องไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม แต่ต้องได้รับเงินทดแทนที่สมควร และรัฐยังอาจจัดหาที่อยู่อาศัยให้ในบริเวณใกล้เคียง เช่น สร้างหรือซื้ออาคารชุดเอกชนมาให้อยู่อาศัย เพื่อให้กระทบต่อวิถีชีวิตให้น้อยที่สุด
มาตรา 2 ให้จัดสรรภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาร้อยละห้าสิบที่จัดเก็บได้ในท้องถิ่น ให้ใช้สอยเฉพาะในท้องถิ่น หากไม่เพียงพอรัฐบาลพึงจัดหาให้เพิ่มเติมตามที่กฎหมายบัญญัติ
ข้อเสนอข้างต้น ก็เพื่อให้ท้องถิ่นมีอิสระในการพัฒนา ไม่ถูกส่วนกลางครอบงำ เพราะปัจจุบันนี้ รายได้ของท้องถิ่นมาจากส่วนกลางโอนให้ 85% ทำให้ท้องถิ่นไม่ได้รับอิสระเท่าที่ควร แต่หากท้องถิ่นมีอิสระในการนำภาษีที่จัดเก็บได้ถึงครึ่งหนึ่งมาใช้พัฒนาท้องถิ่น ที่เหลือค่อยส่งเข้าคลังหลวงไปใช้เพื่อพัฒนาประเทศ หรือช่วยเหลือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีรายได้น้อยกว่า น่าจะดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
สำหรับมาตราอื่น ๆ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองเพื่อให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยตามที่รัฐบาลสัญญาไว้ โดยมีรายละเอียดดังนี้:
มาตรา 3 บุคคลผู้เป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือของราชการส่วนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ มีหน้าที่รับใช้ประชาชน สำนึกในพระคุณของประชาชน ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม อำนวยความสะดวก และให้บริการแก่ประชาชน
ในการปฏิบัติหน้าที่และในการปฏิบัติการอื่นที่เกี่ยวข้องกับประชาชนบุคคลตามวรรคหนึ่งต้องวางตนเป็นกลางทางการเมือง และไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงโดยห้ามจัดงานรื่นเริง ห้ามการอวยพรวันเกิด ยกเว้นการจัดงานเฉพาะในหมู่ญาติในวันหยุดราชการเป็นการส่วนตัว
มาตรา 4 ประชาชนชาวไทยมีหน้าที่ดังต่อไปนี้:
(4) ต่อต้านการใช้กำลังล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยจนกว่าชีวิตจะหาไม่
มาตรา 5 สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวนห้าร้อยคนโดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจำนวนหนึ่งร้อยคน และสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนสี่ร้อยคน
มาตรา 6 วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งจำนวนสองร้อยคนโดยให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
มาตรา 7 ให้ยกเลิกคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสมาชิกที่ว่าให้สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า (เพราะจบการศึกษาระดับใดก็สามารถทำงานได้ ไม่ควรจำกัดสิทธิ)
มาตรา 8 พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี
มาตรา 9 ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องปฏิญาณตนในที่ประชุมแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้
"ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตว์สุจริต รับใช้ประชาชน สำนึกในพระคุณของประชาชน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"
มาตรา 10 ให้เลิกแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา (คนไทยทุกคนควรมีสิทธิเท่าเทียมกันในการต่อสู้ในศาลยุติธรรมทั้งสามชั้น)
มาตรา 11 ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทหารและคดีอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติเฉพาะในระหว่างประกาศสงคราม
มาตรา 12 องค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐคือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีอายุตั้งแต่ห้าสิบปีบริบูรณ์ในสาขาที่เกี่ยวข้อง สมัครเข้ารับการสรรหา และให้ผู้ที่จบการศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องและมีอายุสามสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป เป็นผู้คัดเลือกจำนวนคณะละยี่สิบคน แล้วเสนอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อลงมติคัดเลือกให้เหลือสิบคนในแต่ละคณะ
ประเทศไทยพึงมีประชาธิปไตยที่ดีตามนานาอารยประเทศ และเคารพในประชาชน โดยเฉพาะประชาชนคนเล็กคนน้อยที่เสียภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มและอื่นๆ กันคนละนิดละหน่อย แต่รวมกันมหาศาลกว่าบริษัทห้างร้านหรือคหบดีที่ร่ำรวย (http://bit.ly/1ihhQw1)
ดร.โสภณ สรุปว่าประชาชนควรมาร่วมกันสนับสนุนรัฐบาลตามที่กล่าวว่า "เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา. . ." ด้วยครับ