มาศึกษาถึงแบบอย่างการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำในกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นการพัฒนาที่น่าสนใจที่อาจปรับใช้ได้ในกรณีประเทศไทย
โครงการ ‘the Fjord City’ เป็นโครงการฟื้นฟูเมืองในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำใจกลางเมืองซึ่งแต่เดิมเป็นพื้นที่ท่าเรือขนถ่ายสินค้า โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ในยุค 1980’s หรือตั้งแต่ช่วงปี 2523-2532 เป็นต้นมา ในยุคสมัยใหม่ท่าเรือหลักไม่จำเป็นต้องอยู่ในใจกลางกรุงอีกต่อไป สามารถขนส่งทางรางหรือทางอื่นกระจายไปได้ทั่ว จึงมีการย้ายท่าเรือออกไป แล้วพื้นที่ท่าเรือเดิม ก็นำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์
ในโครงการนี้มีการก่อสร้างอาคารโรงละครแห่งชาติ (Opera House) มีพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่กำลังจะเริ่มต้นก่อสร้าง ศูนย์การค้า โครงการอาคารชุดพักอาศัย เส้นทางจักรยาน ระยะทาง 9 กิโลเมตร และพื้นที่พักผ่อนริมน้ำ ซึ่งได้จัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบ รวมทั้งการทุบทางด่วนทิ้ง แต่ก่อสร้างเป็นอุโมงค์ใต้ดินแทน และทางด่วนที่เลิกใช้แล้วบางส่วนยังแปลงสภาพเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย
ในพื้นที่บางส่วน จะใช้สำหรับโครงการอาคารชุดพักอาศัย ได้วางแผนไว้จำนวน 2,200 หน่วย แต่คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นอีก โดยก่อสร้างบนพื้นที่ประมาณ 200 ไร่ โดยส่วนหนึ่งประมาณ 31 ไร่จะเป็นพื้นที่สวนสาธารณะหรือพื้นที่สีเขียวที่จะใช้ประโยชน์ร่วมกัน ที่เหลือจะนำมาก่อสร้างประมาณ 450,000 ตารางเมตร ในแต่ละอาคารชุดพักอาศัย ยังจะมีพื้นที่พาณิชยกรรม เช่นร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อตั้งอยู่ที่ชั้นล่างอีกด้วย การถือครองที่อยู่อาศัยนั้น จะเป็นทั้งการเช่า 30, 50, 100 ปี หรือซื้อขายสิทธิขาดไปเลย
ในการพัฒนาพื้นที่นี้ แม้ส่วนใหญ่จะอยู่ในที่ดินของรัฐ แต่ก็มีการฟังเสียงของประชาชนที่อยู่โดยรอบด้วย แต่ใช่ว่าจะต้องทำตามข้อเสนอของประชาชนในพื้นที่เสียทั้งหมด แต่หากมีข้อใดที่เห็นต่างกัน ก็จะมีการชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน ไม่ใช่แบบกรณีผังเมืองกรุงเทพมหานครที่เปิดรับฟังความเห็นของประชาชน และประชาชนเสนอขอแก้ไขประมาณ 2,000 ราย แต่มีการแก้ไขเพียง 3 ราย โดยไม่ได้มีการชี้แจงใด ๆ การจัดประชุมชาวบ้านยังดำเนินการเป็นระยะ ๆ ไม่ใช่กระทำเพียงช่วงแรก ๆ ของการดำเนินโครงการเท่านั้น
สำหรับอาคารชุดพักอาศัยริมน้ำที่สวยงามเป็นอาคารมีความสูงไม่เกิน 10 ชั้น ขายตารางเมตรละ 250,000 บาท ซึ่งหากเทียบกับค่าครองชีพแล้ว นับว่าราคาไม่แพงนัก ที่น่าสนใจคือบริเวณหลังคาบางส่วนยังขายให้เป็นพื้นที่ ‘ตากอากาศ’ ให้กับเจ้าของที่อยู่ชั้นบนสุด (ก่อนถึงหลังคาด้วย) ในอาคารชุดหนึ่ง ๆ จะมีที่จอดรถ 80% ที่จอดรถต้องซื้อต่างหากเป็นเงินประมาณ 2.5 ล้านบาทหรือเช่าเดือนละ 13,000 บาท
อาคารชุดโครงการนี้มี 8 อาคาร ส่วนที่กำลังขายอยู่อาคารหนึ่ง ขายมาราว 18 เดือน ขายได้แล้ว 80% นับว่าขายได้ดี อย่างไรก็ตามหากพิจารณาถึงค่าก่อสร้างที่สูงถึง 250,000 บาทต่อตารางเมตร แล้วนับว่าต้นทุนหลักอยู่ที่การก่อสร้าง ไม่ใช่อยู่ที่ตัวที่ดินที่เป็นท่าเรือเดิม ที่น่าแปลกคือสินค้าราคาแพง ๆ ชั้นสูง ๆ สวย ๆ จะขายดี ราคาถูกๆ ขนาดเล็ก ๆ ก็จะขายดี แต่ขนาดกลางๆ กลับขายไม่ค่อยได้
กรณีนี้เทียบเคียงได้กับการพัฒนาท่าเรือคลองเตย และพื้นที่รอบแม่น้ำเจ้าพระยาแถวถนนพระรามที่ 3 หากสามารถนำมาพัฒนาเป็นผืนเดียวกัน ก็จะสามารถสร้างศูนย์ธุรกิจและที่อยู่อาศัยสำคัญในเมือง ยิ่งหากสามารถเชื่อมต่อด้วยระบบรถไฟฟ้า ก็ยิ่งจะประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น