กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยรถไฟฟ้า
  AREA แถลง ฉบับที่ 273/2558: วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ตามที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เสนอให้ภาคเอกชนก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้งกระบวนการ นับเป็นแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยอสังหาริมทรัพย์ทางหนึ่ง ซึ่ง ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เคยนำเสนอไว้ในหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีหลายต่อหลายครั้ง (http://bit.ly/1QpO5EB)
            การให้สัมปทานรถไฟฟ้าควรดำเนินการตั้งแต่เริ่มต้น โดยรัฐบาลอาจเวนคืนที่ดินให้และให้ผู้รับสัมปทานดำเนินการเองทั้งหมด หรืออาจให้ภาคเอกชนจัดซื้อที่ดินจากภาคเอกชนเอง อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษก็คือการทำสัญญาที่รัดกุม จะได้ไม่เสียค่าโง่แบบกรณีทางด่วน กรณีคลองด่านและอื่น ๆ และควรเปิดเผยสัญญาให้ชัดว่าจะมีการขึ้นค่าโดยสารเท่าไหร่บ้าง เพราะแม้แต่รถไฟฟ้าหลายสายในปัจจุบันก็ไม่ยอมเปิดเผยค่าโดยสาร คงกลัวว่าประชาชนจะตื่นตระหนกไม่กล้าไปซื้อบ้านตามแนวรถไฟฟ้าที่ได้รับการโหมโฆษณาไว้
            ยิ่งกว่านั้นยังควรให้ภาคเอกชนขนาดเล็กลงมาทำโครงการรถไฟฟ้า Light Rail หรือ Monorail เพื่อเชื่อมต่อกับพื้นที่ใจกลางเมืองต่าง ๆ ทั้งนี้ต้องแก้ไขผังเมืองให้สามารถก่อนสร้างอาคารสูงใหญ่ได้ในใจกลางเมืองด้วยเช่นกัน การนี้จะทำให้กรุงเทพมหานครมีความหนาแน่น (High Density) แต่ไม่แออัด (Overcrowdedness) กรุงเทพมหานครยังสามารถสร้างได้หนาแน่นกว่านี้เพราะสิงคโปร์ที่ดูโปร่ง ๆ กลับมีประชากรสูงถึง 8,000 คนต่อตารางกิโลเมตร ขณะที่กรุงเทพมหานครมีความหนาแน่นของประชากรเพียง 3,800 คนต่อตารางกิโลเมตร
            การให้สัมปทานรถไฟฟ้าใจกลางเมือง ทั้งนี้รัฐบาลไม่ต้องออกเงินก่อสร้างเอง จะทำให้เกิดรายได้สูง เพราะเป็นเส้นทางที่มีความเป็นไปได้ทางการเงิน มีผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าการก่อสร้างออกไปนอกเมือง โดยสามารถทำได้หลายเส้นทางได้แก่:
            1. รถไฟฟ้านราธิวาสราชนครินทร์-พระรามที่ 3-ท่าพระ (แทนรถ BRT ซึ่งเป็นระบบที่ขาดประสิทธิภาพและเป็นปัญหาการกีดขวางระบบขนส่งมวลชนอื่นในระยะยาว)

            2. รถไฟฟ้า อนุสาวรีย์ชัย-คลองสามเสน-รามคำแหง ซ.12 (เชี่ยมสายสีส้ม)

            3. รถไฟฟ้า สะพานพระรามที่ 9-รัชดาภิเษก-พระรามที่ 4-เอกมัย-ลาดพร้าว ซึ่งเป็นแนวคล้ายกับรถไฟฟ้าสายสีเทาของกรุงเทพมหานคร แต่ไม่ผ่านทองหล่อ และไม่ไปถึงรามอินทราซึ่งมีปริมาณผู้ใช้สอยจำกัด

            4. รถไฟฟ้ามวลเบา (Light Rail หรือ Monorail) ที่ควรดำเนินการเชื่อมกับรถไฟฟ้ามาตรฐาน เพื่อรอบรับการจราจรในเมือง ได้แก่

            4.1 ถนนทหาร-ประดิพัทธ์-สุทธิสาร-ลาดพร้าว 64 หรืออาจสร้างคร่อมบนคลองบางซื่อ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านเหนือของถนนข้างต้นแทนเพื่อประหยัดค่าเวนคืนและปัญหาการจราจรในระหว่างการก่อสร้างก็อาจสามารถทำได้เช่นกัน
            4.2 อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-ถนนสามเสน โดยคร่อมบนคลองสามเสน เพื่อเชื่อมต่อรถไฟฟ้าบีทีเอส กับรถไฟฟ้าสายบางซื่อ-ราชบูรณะ
            4.3 เทเวศน์-หัวลำโพง โดยสร้างเลียบถนนกรุงเกษมโดยรักษาคลองผดุงกรุงเกษมเอาไว้ ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายบางซื่อ-ราชบูรณะ กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่หัวลำโพง
            4.4 ช่องนนทรี-สวนพลู-ถนนจันทน์-เจริญกรุง-สี่พระยา-พญาไท โดยเชื่อมระหว่างรถไฟฟ้า BTS ที่สถานีช่องนนทรี กับพื้นที่ปิดล้อมถนนสวนพลู ถนนจันทน์ ถนนเจริญกรุง บางรัก สี่พระยา และตรงออกสู่ถนนพญาไทถึงสถานีรถไฟฟ้า BTS ที่สยาม
            4.5 สุขุมวิท 39-แสนแสบ-สุขุมวิท 55 เชื่อมกับระบบรถไฟฟ้า BTS 2 สถานีคือสถานีพร้อมพงษ์และสถานีทองหล่อ
            4.6 อุดมสุข-อ่อนนุช โดยเป็นการเชื่อมสถานีรถไฟฟ้า BTS 2 สถานีคือสถานีอุดมสุข ไปตามถนนอุดมสุข ถึงสวนหลวง ร.9 และออกสู่ถนนอ่อนนุช เชื่อมกับสถานีอ่อนนุช ทั้งนี้ต้องมีข้อกำหนดให้สามารถสร้างอาคารพักอาศัยรอบๆ สวนหลวง ร.9 ได้ และในแต่ละวันมีผู้ใช้สวนหลวง ร.9 นี้เพียง 800 คน และส่วนมากเชื่อว่าจะเป็นผู้ที่ไปใช้บริการเดิมๆ ที่ไปออกกำลังกายเป็นประจำเป็นส่วนใหญ่

ตัวอย่างรถไฟฟ้ามวลเบา (Light Rail หรือ Monorail) ในนครซิดนีย์ (ซ้าย) และนครซีแอตเติล (ขวา)

            การให้สัมปทานเช่นนี้เชื่อว่าในกรณีรถไฟฟ้ามาตรฐานทั่วไปแบบเดียวกับ BTS 3 สายข้างต้น (1.2.1-1.2.3) คงเป็นเงินประมาณเส้นละ 40,000 ล้านบาทโดยเฉลี่ย (โดยเปรียบเทียบเบื้องต้นกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน http://goo.gl/dlA6Bb) ส่วนกรณีรถไฟฟ้ามวลเบา 6 เส้นทาง น่าจะเป็นเงินเส้นทางละ 20,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงินประมาณ 240,000 ล้านบาท
            การทำรถไฟฟ้าในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป จะทำให้มีเอกชนสามารถเข้าร่วมประมูลได้มากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันเสรี โดยไม่ต้องถูกผูกขาดโดยรายใหญ่ และรัฐบาลแทบไม่ต้องเสียงบประมาณแผ่นดินใด ๆ เพียงแต่ควบคุมและตรวจสอบการจัดทำสัญญาที่ไม่เสียเปรียบภาคเอกชน

 

อ่าน 4,099 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved