ตามที่รัฐบาลพยายามจะหาทางสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาโดยไม่ฟังคำทันทานจากผู้คัดค้านทั่วสารทิศนั้น ถือเป็นการสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา นำความวิบัติมาสู่กรุงเทพมหานครมากกว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาใด ๆ
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส กล่าวว่า รัฐบาลและ คสช. ตั้งใจจะก่อสร้างโครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา โดยในระยะแรกจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2559 มีระยะทาง 14 กิโลเมตร ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึง สะพานปิ่นเกล้า มูลค่าค่าก่อสร้างประมาณ 14,000 ล้านบาท (http://bit.ly/1Oiyd8J) หรือเป็นเงินกิโลเมตรละ 1,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เงินจำนวนนี้สามารถนำไปสร้าง
1. สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาได้ราว 3 แห่ง (http://goo.gl/kMAjnX)
2. ทางด่วนอุดรรัถยา-อยุธยา ระยะทาง 42 กิโลเมตรได้ครึ่งหนึ่ง (http://bit.ly/1Ll1kq9)
3. ถนนไร้ฝุ่นในชนบทได้ 1,750 กิโลเมตร (http://goo.gl/D1pLsA)
การก่อสร้างนี้นัยว่าเพื่อให้เป็นทางจักรยาน ซึ่งแพงมาก การสร้างถนนนี้ก็เพื่อพวกคหบดีมีเงินมากมายที่ซื้อจักรยานแพง ๆ มาขี่อวดโฉมกันหรืออย่างไร ไปสร้างในเขตชานเมืองโดยซื้อที่ราคาถูก ๆ ทำเลนให้ขี่เล่น ยังคุ้มค่ากว่ามากนัก เช่น ซื้อที่ 100 ไร่ ๆ ละ 2 ล้านบาท รวม 200 ล้านบาท และปรับปรุงเป็นที่ขี่จักรยานอีก 50 ล้านบาท รวม 250 ล้านบาท เอาเงินของชาติมาบริจาคให้เหล่าคนรวยที่ชอบขี่จักรยานเล่น ยังดีกว่ามาผลาญงบประมาณแผ่นดินในลักษณะนี้ นี่คือข้อคิดจาก ดร.โสภณ
หากเทียบกับสวนลุมพินี ซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่ดีและใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครนั้น พบว่ามีผู้ใช้สอยเพียงวันละ 8,500 คน กรณีสร้างถนนจักรยานที่หวังจะมีนักท่องเที่ยวมาคงจะเป็นฝันที่ไม่เป็นจริง นักท่องเที่ยงคงมาดูอย่างอื่นมากกว่า ดังนั้นอาจประมาณว่ามีคนใช้สอยเพียง 1/3 ของสวนลุมพินี หรือราว 3,000 คน
หากค่าก่อสร้างเป็นเงิน 14,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นรายได้ปีละ 700 ล้านบาท (จากอัตราดอกเบี้ย 5%) หากมีคนใช้สอยเพียงวันละประมาณ 3,000 คน รวม หรือปีละ 1,095,000 คน ก็เท่ากับรัฐบาลประเคนให้คนเหล่านี้คนละ 639 บาทต่อครั้งที่มาเยือน แจกเงินคนเหล่านี้ไปเข้าฟิตเนส ยังไม่สิ้นเปลืองเท่านั้น แจกเงินผู้สูงอายุยังเป็นเงินแค่ 33 บาทต่อเดือนเท่านั้น นี่จึงเป็นการผลาญชาติโดยแท้
ที่มักอ้างอิงการพัฒนาริมแม่น้ำฮันในประเทศเกาหลีนั้น ดร.โสภณ กล่าวว่า เป็นการอ้างเท็จโดยแท้ เพราะในกรุงโซล เขาสร้างถนนขนาดใหญ่ข้างละ 3 ช่องทางจราจร รวมสองฝั่ง 12 ช่องทางจราจร ริมแม่น้ำเป็นเสมือนเขื่อนป้องกันน้ำท่วมได้ด้วย และในกรุงโซลยังมีสะพานข้ามแม่น้ำขนาดใหญ่ของเขาเฉลี่ยทุกระยะ 1 กิโลเมตร แต่ของไทยยังมีสะพานข้ามแม่น้ำทุกระยะ 2 กิโลเมตร ซึ่งถือว่ามีน้อยไป
รัฐบาลและ คสช. จึงไม่พึงสร้างโครงการเลียบแม่น้ำเจ้าพระยานี้ และพึงฟังเสียงที่เห็นต่างบ้าง