น้ำท่วมพัทยา 4-5 ชม. แต่โพนทะนาจนท่องเที่ยวเสียหาย
  AREA แถลง ฉบับที่ 285/2558: วันจันทร์ที่ 21 กันยายน 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ตามที่มีข่าว ภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวต่าง ๆ แสดงถึงน้ำท่วมในพัทยาและบริเวณใกล้เคียงอื่นๆ ทำให้เกิดการตกใจจนยกเลิกการไปท่องเที่ยวพัทยากันเป็นอันมาก แต่ในความเป็นจริง น้ำท่วมเพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น การโพนทะนาจะสร้างภาพเกินจริง ทำให้เกิดความเสียหายได้ รัฐบาลควรมีการประชาสัมพันธ์ที่ดีกว่านี้

            ตามที่มีฝนตกหนักในวันที่ 16-17 กันยายน 2557 และได้ปรากฏข่าว ภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ส่งกันไปทั่ว ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่ามีน้ำท่วมขัง การท่องเที่ยวต่าง ๆ ได้รับการยกเลิกไป  สร้างความเสียหายต่อการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย มีกำหนดที่จะพาคณะนักศึกษาหลักสูตรปะเมินค่าทรัพย์สินเดินทางไปดูงานพัทยาในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 19-20 กันยายน 2558 ได้ตรวจสอบข่าวคราวเพื่อความปลอดภัยแล้ว ได้รับการยืนยันจากเจ้าของสถานที่ดูงานว่าปลอดภัยสามารถเดินทางไปได้ จึงได้เดินทางไปดู ทั้งที่ในวันศุกร์ยังกำลังพิจารณาว่าจะย้ายไปดูงานเส้นทางอื่นหรือไม่

            แต่เมื่อเดินทางไปตลอดทาง ไม่มีน้ำท่วมขังใด ๆ ตามที่เป็นข่าว รวมทั้งพื้นที่ต่าง ๆ ในเมืองพัทยาและโดยรอบ การดูงาน ซึ่งปกติในวันเสาร์ จะเสร็จสิ้นในเวลา 18:30 น. กลับเสร็จสิ้นเร็วเพียง 17:00 น. พร้อมกับการเข้าพักในโรงแรมเพื่อเริ่มกิจกรรมดูงานในช่วงค่ำต่อไป  ที่เสร็จเร็วได้เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเดินทางไปน้อยมาก    การจราจรไม่ติดขัด สามารถเดินทางได้สะดวก  และในวันรุ่งขึ้นก็สามารถดูงานตามบริเวณอื่น ๆ ได้อย่างคล่องตัวเป็นอย่างมาก

            จากการสัมภาษณ์ผู้ที่ทำงานอยู่ในโรงแรมอีสเทอร์นแกรนด์พัทยา ในซอยวัดเขาตาโล ทราบว่า ในวันที่น้ำท่วมนั้น น้ำท่วมสูงราว 30-40 เซนติเมตรบนถนนดังกล่าว น้ำเชี่ยวกรากมาก จนผู้คนยืนแทบไม่อยู่ถูกพัดพาไปกับน้ำ แต่ก็ท่วมอยู่ในช่วงสั้น ๆ เท่านั้น ส่วนที่วัดชัยมงคล (พระอารามหลวง) บนถนนสายพัทยาใต้ ใกล้แยกพัทยาสายสอง น้ำก็ท่วมสูงประมาณ 30 เซนติเมตรเช่นกัน แต่ท่วมอยู่เพียง 4-5 ชั่วโมงเท่านั้น หรือบางบริเวณที่เป็นที่ลุ่มอาจใช้เวลาระบายน้ำนานกว่านี้บ้าง แต่ไม่ได้ท่วมขังนานเช่นที่เกิดขึ้นในเขตกรุงเทพมหานคร

            การนี้แสดงว่าลักษณะภูมิประเทศของเมืองพัทยาที่เป็นเนินเขาด้านทิศตะวันออก และลงสู่ทะเลทางทิศตะวันตก ทำให้การระบายน้ำทำได้อย่างรวดเร็ว ใช้เวลาสั้น ๆ ยิ่งกว่านั้นการระบายน้ำของเมืองพัทยาอาจมีประสิทธิภาพดี อย่างไรก็ตามจากการสังเกตตามท่อระบายน้ำในบริเวณใจกลางเมืองพัทยา ปรากฏว่าถุงพลาสติก หรืออื่น ๆ ที่อาจทำให้ท่ออุดตันได้ จึงควรมีการปรับปรุงระบบการระบายน้ำที่ดีกว่านี้ และควรมีแผนการระบายน้ำโดยมีคลองระบายน้ำเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับกรณีฝนตกหนักเนื่องจากมีพายุเข้ามาเป็นระยะ ๆ เพื่อลดการสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน

            แต่ประเด็นที่พึงพิจารณาเป็นอย่างยิ่งก็คือ ที่ผ่านมามีการโพนทะนาถึงข่าวคราวผ่านสื่อ และยังมีภาพข่าว ภาพเคลื่อนไหวประโคมกันมากมาย แต่ในเมื่อการระบายน้ำมีประสิทธิภาพ และสภาพภูมิประเทศก็เอื้ออำนวยที่เมืองตามชายทะเลไม่อาจมีน้ำท่วมขังนานอย่างแน่นอน ดังนั้นประสิทธิภาพในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบความจริงอย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรมีเป็นอย่างยิ่ง เพื่อว่านักท่องเที่ยวและนักทัศนาจรที่จะเข้ามาในพื้นที่นี้จะได้มีความมั่นใจ แต่ที่ผ่านมา กลไกการประชาสัมพันธ์ของรัฐไม่ดีพอ จึงไม่ได้ช่วยปกป้องอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้พ้นจากความเสียหายได้ จึงควรปรับปรุงกลไกนี้

ระดับความสูงของพื้นดินตัวอย่างบนถนนพัทยากลาง


 ที่มา: http://board.postjung.com/data/912/912755-img.rg7bqq.1t61t.jpg

ที่มา: http://static.naewna.com/uploads/userfiles/images/02(943).jpg

ที่มา: http://th.pattayadailynews.com/wp-content/uploads/2011/02/phot21.jpg
ที่มา: http://th.pattayadailynews.com/wp-content/uploads/2013/10/11112.jpg

ที่มา: http://news.mthai.com/wp-content/uploads/2015/09/page9.jpg

อ่าน 3,212 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved