นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
  AREA แถลง ฉบับที่ 292/2558: วันจันทร์ที่ 28 กันยายน 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการเขียนเศรษฐกิจ ในวิทยุ FM 101 เมื่อเวลา 11:00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน 2558 ในเรื่องมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล

            ทั้งนี้ ดร.โสภณ แสดงความห่วงใยเรื่องการให้กู้กองทุนหมู่บ้านและตำบลที่เป็นสมัยนายกฯ ทักษิณ แต่ในปัจจุบันเศรษฐกิจไม่ดี ลู่ทางการลงทุนจำกัด อาจกลายเป็นการกู้หนี้ไปใช้สอยหรือไม่ เพราะยังไม่มีลู่ทางการลงทุนที่ชัดเจนใด ๆ การลงทุนในภาวะขณะนี้มีความเสี่ยงสูงมาก รัฐบาลก็เพิ่งประกาศนโยบายนี้ คาดว่ายังคงไม่ทันมีเวลาที่จะศึกษาให้รอบคอบ และอาจจบลงด้วยการเกิดหนี้เสีย ต่างจากในยุคก่อนที่เศรษฐกิจดี มีการลงทุนมาก หนี้เสียจึงแทบไม่มี

            สำหรับนโยบายการลดภาษี ดร.โสภณ เสนอให้เพิ่มภาษีค่าธรรมเนียมโอน โดยหากมีการโอนขายหลังการซื้อขายภายในระยะเวลา 6 เดือน ให้เก็บค่าธรรมเนียมการโอน 15% หากโอนพ้นกำหนด 6 เดือนแต่ภายในระยะเวลา 1 ปี ให้คิดค่าธรรมเนียมโอน 10% แต่หากโอนภายในกำหนดไม่เกิน 2 ปี ให้เสียค่าธรรมเนียมโอน 5% ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเก็งกำไร เพราะการเก็งกำไร ทำให้ประชาชนผู้ที่จะซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยขาดโอกาสไป และเป็นการทำให้ผู้ประกอบการไม่ได้พบผู้ซื้อเพื่อใช้สอยหรือ End Users จริง และที่ผ่านการนักเก็งกำไรระยะสั้น จะเข้าข่ายป่วนตลาด

            การเพิ่มภาษีนี้นอกจากจะทำให้รัฐบาลได้เงินมาทำนุบำรุงประเทศเพิ่มขึ้น ยังจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการตลาดและการขายได้ตรงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น แต่อาจทำให้อัตราการขายลดลงไปบ้าง แต่ก็ยังดีกว่าปล่อยให้มีการทำกำไรโดยไม่ได้ทำการผลิตใด ๆ (Unearned Increment of Value) เป็นการเอาเปรียบสังคม และสร้างโอกาสการฉ้อฉลแบบ "มือใครยาว สาวได้สาวเอา"  ดังนั้นเพื่อประเทศชาติ และประชาชนผู้บริโภค จึงควรที่จะขึ้นภาษีนี้

            นอกจากนั้น ดร.โสภณ ยังเสนอให้รัฐบาลสั่งธนาคารลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 2% เพื่อช่วยธุรกิจ SMEs รวมทั้งวิสาหกิจอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงจนเกินไป สถาบันการเงินต่าง ๆ มีผลการประกอบการกำไรมหาศาลในแต่ละปีที่ผ่านมา จึงควรลดดอกเบี้ยลงบ้าง สำหรับมาตรการในระยะยาว ควรเปิดโอกาสให้มีการตั้งธนาคารเพิ่มขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการผูกขาด ทำให้ช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝากลดลง ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ ประชาชน และประเทศชาติโดยรวม

www.housingyellow.com/streaming_media.php?dt=2558-09-27&fm=101.5+FM

อ่าน 1,837 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved