สมเด็จพระเทพฯ พระราชทานเงินเดือน 26 ล้าน: ข้อคิดการเงินและความโปร่งใส
  AREA แถลง ฉบับที่ 300/2558: วันจันทร์ที่ 05 ตุลาคม 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            ตามที่มีข่าวว่า "พล.อ.หญิงสมเด็จพระเทพฯ" พระราชทานเงินเดือน 26 ล้าน ตลอด 35 ปีที่รับราชการเป็นอาจารย์ จปร. เพื่อประโยชน์การศึกษาและพัฒนา (http://bit.ly/1MMIgQt) ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

            กรณีนี้ยังเป็นข้อคิดทางการเงินและความโปร่งใสที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง พระองค์นำเงินเดือนทั้งหมดเข้าธนาคารและได้ดอกเบี้ยสม่ำเสมอมาโดยไม่ได้เบิกออกมาเลย สุดท้ายก็ได้เงินถึง 26 ล้านบาท สมมติคนๆ หนึ่งรับราชการมาตั้งแต่ พ.ศ.2519 เมื่ออายุ 22 ปี เช่น พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีหรือท่านอื่นใด ปีนั้นรายได้ของข้าราชการชั้นตรี หรือนายทหารสัญญาบัตร อาจเริ่มต้นเพียงเดือนละ 1,500 บาท และเมื่อรับราชการมาจนครบเกษียณในปี 2557 หรือ 38 ปีต่อมา อาจมีรายได้ประมาณ 150,000 บาท (ซึ่งรวมเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งและอื่นๆ) หรือเพิ่มขึ้น 100 เท่า ก็เท่ากับว่าปีหนึ่ง ๆ มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 12.8838% โดยเฉลี่ยตามสูตร

            = {(รายได้สุดท้ายซึ่งรวมเงินเดือนและค่าประจำตำแหน่ง / เงินเดือนแรกเข้า) ถอดรากตามจำนวนปีที่รับราชการ)} -1
            = {(150,000 / 1,500) ^ (1 / 38)} -1
            = 12.8838%

            เมื่อนำอัตราเพิ่มขึ้นของรายได้ 12.8838% ของเงินเดือนปีแรก มาเป็นตัวเพิ่มของรายได้ในปีถัด ๆ มา ก็จะได้เงินเดือน ๆ สุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการที่ 150,000 บาท หรือเพิ่มขึ้น 100 เท่า

            ตามตารางข้างต้น คิดเป็นรายได้ต่อปีก็เพียงคูณด้วย 12 เดือนเข้าไป โดยตั้งสมมติฐานง่าย ๆ ว่ารายได้ทุกบาททุกสตางค์จะไม่ได้นำไปใช้สอยอะไรเลย เช่น รายได้เดือนล่าสุดที่ 150,000 บาท คูณด้วย 12 เดือนก็เป็นเงิน 1,800,000 บาทนั่นเอง ส่วนรายได้ปีแรกเมื่อ พ.ศ.2519 ก็เป็นเงิน 18,000 บาทในปีนั้น

            ถ้าเงินเดือนที่ได้ทุกเดือนนำไปฝากธนาคารไว้ โดยสมมติให้มีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 8% ต่อปี ทั้งนี้บางช่วงอาจมีอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่านี้ เช่น ในช่วงปี 2533-2539 แต่ก่อนหน้านี้และในปัจจุบัน ดอกเบี้ยเงินฝากก็ต่ำมาก แต่สมมติให้มีอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเท่ากันคือ 8% ทุกปี เงินที่ฝากไว้แต่ละปีก็จะเติบโตขึ้น เช่น เงินเดือน ๆ แรก 1,500 บาท หรือปีละ 18,000 บาท หากฝากธนาคารไว้โดยไม่ได้ใช้เลย ณ อัตราดอกเบี้ย 8% เป็นเวลา 38 ปี ก็จะเป็นเงินถึง 335,255 บาท ณ ค่าปัจจุบัน หรือรายได้เดือนที่ 2 ณ พ.ศ.2520 ก็จะเป็นเงิน 350,415 บาท ณ ค่าปัจจุบัน เป็นต้น

            หากเอาเงินจำนวนนี้มารวมกันทั้งหมด ก็จะเป็นเงิน 34,191,338 บาท เงินจำนวนนี้อาจดูสูงกว่าเงินเดือนของสมเด็จพระเทพฯ เพราะผมสมมติให้อัตราดอกเบี้ยสูงถึง 8% (แต่หากอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยเป็น 5% รวมทั้งระยะเวลานานกว่าคือ 38 ปี และเงินเดือน ผบ.ทบ. น่าจะสูงกว่าเงินเดือนอาจารย์ ก็จะเป็นเงินราว 24,242,471 บาท) ซึ่งก็แปลว่า ในระยะเวลา 38 ปีที่รับราชการ หากไม่ใช้เงินสักสตางค์แดงเดียว ข้าราชการท่านหนึ่ง จะมีทรัพย์หรือความมั่งคั่งตามตัวเลขเท่านี้โดยถือเป็นทรัพย์สูงสุดที่พึงได้

            แต่ในความเป็นจริงคงไม่มีใคร ไม่ใช้สอยอะไรเลย ดังนั้นหากคิดว่าเงินเก็บจริง ๆ เป็น 40% ของรายได้สุทธิ ณ ปัจจุบัน ความมั่งคั่งที่สะสมก็น่าจะเป็นเงินเพียง 13,676,535 บาท ด้วยเหตุนี้ผู้ที่มีเงินมากกว่าที่คำนวณไว้ จึงต้องถือว่ารวยด้วยกรณีพิเศษ ซึ่งไม่จำเป็นต้องหมายถึงการโกง แต่อาจเป็นเพราะ

            1. มีมรดกตกทอด
            2. มีคู่ครองที่ทำการค้า
            3. ถูกล็อตเตอรี่ สลากออมสิน สลากกาชาด
            4. เก็บเงินได้โดยบังเอิญ ฯลฯ

            แต่นอกเหนือจากเหตุผลข้างต้นแล้ว การรวยแบบผิดปกติ ก็อาจมาจากการทุจริต เช่น อย่างเบาก็คือการเบียดบังเวลาราชการไปทำธุรกิจ เล่นหุ้น ตลอดจนไปถึงอย่างหนักก็คือการทุจริต กินสินบาทคาดสินบนโดยตัวคนเดียว หรือทำอย่างเป็นขบวนการ หรืออย่างหนักสุดก็คือการกรรโชก ปล้นชิงทรัพย์ เป็นต้น

            ช่วยกันตรวจสอบเพื่อสังคมไทยโปร่งใส เมืองไทยน่าอยู่ตามนโยบายของทางราชการครับ

อ่าน 3,015 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved