ผมไปสแกนดิเนเวีย 3 ครั้งแล้ว แต่ละครั้งก็ได้รับความประทับใจและได้เห็นแง่มุมที่ประเทศไทยของเราควรได้ "เอาเยี่ยงกา" จากประเทศในแถบนี้บ้าง วันนี้ผมจึงขออนุญาตนำมาเสนอ เผื่อเป็นประโยชน์ต่อทางราชการและทุกฝ่ายในประเทศไทยที่จะพัฒนาชาติไทยให้รุ่งเรืองเช่นอารยประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย
ผมขออนุญาตนำเสนอเป็นข้อ ๆ ดังนี้
1. การสร้างเมืองหนาแน่นแต่ไม่แออัด สถานที่ราชการ กระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ไม่ได้ใหญ่โตอลังการเช่นในประเทศไทย ใช้สอยพื้นที่กันอย่างประหยัด ไม่ได้ตกแต่งหรูหราเช่นกัน ไม่เฉพาะในประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย แม้แต่ในอังกฤษที่มีจำนวนประชากรพอ ๆ กับไทย ก็ไม่ได้สร้างศูนย์ราชการใหญ่โตแบบไทย กระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ก็อยู่ในเขตใจกลางเมืองมาแต่ไหนแต่ไร และแทบจะเดินไปถึงกันได้ ไม่ได้ไปสร้างศูนย์ราชการกันอลังการทั่วประเทศเช่นในไทย
2. สาธารณูปโภคในเมืองที่ครบครัน เกิดขึ้นจากภาษีของประชาชน อย่างบัณฑิตจบใหม่ในนอร์เวย์จะมีรายได้ประมาณ 140,000 บาท แต่เสียภาษีถึง 33% เหลือ 93,800 บาท ส่วนอัตราภาษีสูงสุดคือ 80% เขานำภาษีไปจัดสวัสดิการสังคมที่ดี แต่ในเมืองไทย เราเสียภาษีกันน้อยมาก แถมยังเลี่ยงภาษีกันอุตลุด สำหรับคริสตศาสนิกชน ก็ยังมีการเสียภาษีให้กับโบสถ์อีก 5% ด้วย (ถ้าไม่นับถือศาสนาหรือไม่ใช้โบสถ์ประกอบพิธีต่าง ๆ ก็ไม่ต้องเสีย) เพื่อโบสถ์จะได้นำเงินไปบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม ไม่ได้เน้นการสร้างวัดแบบไทยๆ
3. ผลดีของการเสียภาษีก็คือ การจัดการศึกษาที่นี่จัดอย่างดีท่าเทียมกัน บุตรหลานของคนรวยหรือคนจนก็รับการศึกษาที่ดีเท่ากัน ไม่มีระบบที่ผู้ปกครองต้องส่งเด็กไปเรียนพิเศษ เพราะเท่ากับเป็นสร้างความไม่เท่าเทียมกันในโอกาสการศึกษาของผู้ที่มีฐานะด้อยกว่า อย่างไรก็ตามเขาก็มีโรงเรียนราษฎร์สำหรับคนรวยสุดๆ เช่นกันโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ แต่ส่วนมากก็ต้องผ่านการสอบ ไม่ใช่แค่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียนแพง ๆ ก็เข้าได้เสมอไป อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีประเทศไทย เราเน้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งประชาชนระดับกลางและล่างได้รับผลกระทบมากที่สุด ผู้ปกครองระดับสูงที่มีอำนาจไม่ยอมให้มีการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำให้รัฐขาดรายได้ไปปีละหลายแสนล้านบาท และเมื่อขาดเงิน ก็จะมาขึ้นเอาที่ภาษีมูลค่าเพิ่มแทน
4. การเก็งกำไรในสินค้าบ้านระยะสั้น ถือเป็นสิ่งต้องห้าม เช่นหากใครขายบ้านในสวีเดนภายในระยะเวลา 5 ปี ส่วนต่างของมูลค่าจะถูกเสียภาษีเป็นส่วนใหญ่ ทางการเห็นว่าการเก็งกำไรโดยไม่ได้ทำมาหากินเป็นเรื่องเป็นราวแบบนี้ ชิง/ตัดโอกาสคนที่จะซื้อบ้านอยู่อาศัยเอง และในความเป็นจริงแม้แต่ในไทย การเก็งกำไรแบบนี้ก็ทำให้การคำนวณกระแสเงินสดของผู้ประกอบการผิดเพี้ยนไปด้วย หากพวกเขาไม่มาโอนหลังจากจองซื้อ แต่ผู้ประกอบการบางรายก็ชอบเพราะทำให้ยอดขายดูสูงดี ยิ่งกว่านั้นในสวีเดน หากเราขายบ้าน แล้วได้กำไรจากราคาที่ซื้อมา ส่วนต่างของกำไรนี้จะต้องเสียภาษี 25% ของไทยไม่มีภาษีนี้เลย
5. นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ในประเทศแถบสแกนดิเนเวียนี้ ส่วนมากก็เป็นนายหน้าท้องถิ่น ไม่ใช่ให้นายหน้าต่างชาติมาเป็นใหญ่ หรืออาศัยความใหญ่มาบีฑานายหน้าท้องถิ่นซึ่งถือเป็น SMEs ที่พึงส่งเสริม แต่สำหรับประเทศไทย มีฝรั่งหรือต่างชาติมาเปิดบริษัทนายหน้าขายที่ดินเต็มไปหมด ทั้งที่เป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทย การบังคับใช้กฎหมายแทบไม่กระดิกในด้านนี้ อย่างไรก็ตามนายหน้าไทยที่ขาดจรรยาบรรณ ขาดการควบคุมก็มีมาก ฝรั่งจึงไม่ค่อยกล้าใช้บริการนายหน้าไทยเช่นกัน เราจึงควรปรับปรุงวิชาชีพนี้ให้ทัดเทียมอารยประเทศ แต่ไม่ใช่ปล่อยให้กระทำผิดกฎหมายทุกหัวระแหง
6. การจัดหาที่อยู่อาศัยแก่ประชาชนแม้แต่แก่คนเร่ร่อน ในสแกนดิเนเวีย คนเร่ร่อนและขอทานก็พบเห็นได้ในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ของประเทศเหล่านี้ แต่ไม่ใช่คนท้องถิ่น ส่วนมากเป็นคนจากยุโรปตะวันออก ทางราชการก็จะพยายามส่งเสริมให้เขามีอาชีพที่พึ่งตนเองได้ เช่น ขายดอกไม้ จะเที่ยวขอทานหรือนอนค้างคืนข้างถนนหรือตามสถานีรถไฟไม่ได้ จะมีตำรวจคอยตรวจตราโดยตลอด แต่ในประเทศไทยของเราปล่อยให้ขอทานเขมรเข้ามากันมากมาย กลายเป็นอาชญากรรมการค้ามนุษย์ไปเสีย
7. ในการจัดการสิ่งแวดล้อมของเมือง ขวดน้ำอัดลมมีราคาประมาณ 0.2 ยูโร หรือ 8 บาท เมื่อนำไปแลกคืนที่ร้านค้าในฟินแลนด์ นี่เป็นกระบวนการรณรงค์ไม่ให้ใช้ขวดแล้วทิ้งขว้างทั่วไป ในร้านค้าต่าง ๆ จะไม่มีถุงพลาสติกให้ แต่หากใครขอถุง จะต้องเสียเงิน 0.4 ยูโร หรือถุงละ 16 บาท เพราะถือว่าเมื่อใช้แล้วก็ต้องทิ้ง กลายเป็นขยะที่ต้องมีภาระในการกำจัดต่อไป ที่ปีนังใกล้ๆ บ้านเรา ก็ทำอย่างนี้มาราวสิบปีแล้ว ไทยควรทำบ้างเช่นกัน
8. ในการจัดการการเดินทาง นอกจากค่าขนส่งมวลชนจะถูกมากเมื่อเทียบกับไทยแล้ว การขี่จักรยานไปทำงานถือเรื่องตามปกติสุขของคนในสแกนดิเนเวีย แต่ส่วนมากก็ขี่ในระยะทางที่ไม่ไกลเกินไปนัก อีกทั้งยังมีรถจักรยานให้เช่าตามเมืองใหญ่ๆ อีกด้วย เลนจักรยาน ใช่ว่าจะแบ่งจากถนนของรถยนต์ ในกรณีใจกลางเมือง เขาใช้บาทวิถีเป็นเลนจักรยานแบ่งกับคนเดิน ไม่ได้ล้ำเข้าไปในถนน ยกเว้นออกนอกเมือง ก็จะมีเลนจักรยานต่างหาก แต่ของไทยเราทางเท้ามีไว้ให้ผู้อยู่ติดทางเท้าวางของ (ขาย) หรือมีคนอื่นมาขายของ เป็นต้น
9. การเคารพกฎหมายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องยึดถือ การเหยียดผิว เพศ ศาสนา ต่อบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นชนในชาติเดียวกันหรือแม้จะเป็นคนต่างชาติที่เข้ามาอยู่สวีเดน ก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ เวลาประชาชนข้ามถนน แม้เป็นช่วงไฟแดง ก็ยังหยุดรถให้คนข้ามก่อน ไม่ใช่ถือว่าตนมีรถ หรือมีรถคันใหญ่กว่า ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ หรือเพราะพวกเขา "เอาธรรมะเข้าข่ม" แบบที่สอนในบ้านเรา แต่เพราะกฎหมายของเขาแรงและต่อเนื่อง ใครฝ่าฝืนมีโทษสูง ทุกคนจึงปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด
โดยสรุปแล้ว สภาพแห่งความศิวิไลซ์เกิดขึ้นได้นั้น เขาไม่ได้เอาศาสนาเข้าข่มเลยแม้แต่น้อย จะเรียกร้องให้คนมานั่งยุบหนอพองหนอ หรือจะเรียกร้องให้คนเรามีศีลมีธรรม (เห็นคนอื่นเลวไปหมด) แล้วประเทศชาติจะดี คงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ที่เขาสร้างสภาพนี้ขึ้นมาได้ก็เพราะเขาบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ต่อเนื่อง และเสมอหน้ากัน ไม่ปล่อยให้มีอภิสิทธิ์ชนหรือคนในเครื่องแบบ ลำพองอยู่เหนือคนอื่นต่างหาก ประเทศเป็นของประชาชนทุกคนโดยเสมอหน้ากัน
ลองดูนะครับ เผื่อบ้านเราจะพัฒนายิ่ง ๆ ขึ้น เพื่อลูกหลานไทยของเราครับ
ภาพที่ 1: เลนจักรยานในสต็อกโฮล์มที่ผมไปในปี 2552 ไม่ปะปนกับถนน
ภาพที่ 2: เลนจักรยานในโคเปนเฮเกนที่ผมไปในปี 2554 ปันกับบาทวิถี
ภาพที่ 3: ที่ออสโล คนรวยซ่อนความไม่ชอบคนจนไว้ในใจ แสดงออกไม่ได้ ถึงคุก
ภาพที่ 4: ที่เฮลซิงกิปี 2558 เลนจักรยานก็ปันกันใช้กับบาทวิถี