นโยบายเศรษฐกิจและที่อยู่อาศัยที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
  AREA แถลง ฉบับที่ 308/2558: วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

           ตามที่รัฐบาลพยายามส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในภาวะที่แทบไม่มีลู่ทางในการลงทุนเป็นการสร้างความเสี่ยงแก่ภาคเอกชนเป็นอย่างยิ่ง ส่วนการสร้างบ้านคนจนเลียนแบบรัฐบาลทักษิณก็อาจจะกลายเป็นการเอื้ออาทรผู้รับเหมา

           ตามที่ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พยายามกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภาคเอกชน โดยอ้างว่าเศรษฐกิจถึงก้นเหวแล้ว แต่ในการประเมินของธนาคารโลก อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยยังจะลดต่ำลงในปีหน้า จาก 2.5% เหลือ 2.0% การผลักดันให้ภาคเอกชนลงทุนในขณะที่ยังไม่เห็นลู่ทางการลงทุนที่ชัดเจนเท่ากับเป็นการผลักดันให้นักลงทุนพบกับอันตรายจากความเสี่ยง

           ดังนั้นรัฐบาลจึงพึงสังวร ถึงแม้ว่าตัวเลข GDP จะไม่สูงก็ไม่จำเป็นต้องรีบเร่ง "ปั๊ม" เพราะอาจยิ่งตกต่ำกว่าที่คาดคิด หากการลงทุนของภาคเอกชนไม่ประสบความสำเร็จดังหวัง ภาวะในขณะนี้นักลงทุนจึงมักถือทุนไว้ในมือก่อนเพื่อรอจังหวะที่เหมาะสมต่อไป ในภาวะนี้รัฐบาลอาจออกพันธบัตรเพื่อการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคจะเป็นประโยชน์กว่าการให้ภาคเอกชนไปลงทุนอย่างสุ่มเสี่ยง

           ยิ่งกว่านั้น พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยังมีโครงการที่จะสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยเลียนแบบโครงการของอดีตนายกฯ ทักษิณ อย่างไรก็ตามภาวะตลาดในขณะนี้ไม่มีความขาดแคลนที่อยู่อาศัยแต่อย่างใด จึงไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่ และภาคเอกชนของไทยสามารถสร้างที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนในราคาถูกโดยรัฐบาลไม่จำเป็นต้องอุดหนุนแต่อย่างใด การก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยตามนโยบายดังกล่าว จึงอาจเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจ

           สำหรับตัวอย่างนโยบายบ้านเอื้ออาทรในอดีต รัฐบาลทักษิณเคยคิดจะสร้างถึง 1 ล้านหน่วย แต่สุดท้ายวางแผนไว้เพียง 6 แสนหน่วย เพราะความต้องการมีจำกัด แต่สร้างได้จริงเพียงราว 3 แสนหน่วย และมีเป็นจำนวนมากที่ยังไม่มีผู้ซื้อ ส่วนหน่วยที่มีผู้อยู่อาศัยก็มีเป็นจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นผู้ซื้อ แต่เป็นผู้เช่า แสดงว่าไม่ตรงกลุ่มเป้าหมายที่จะให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยของตัวเอง การสร้างบ้านเอื้ออาทรเท่ากับเป็นการเอื้ออาทรต่อผู้รับเหมาก่อสร้าง

           การออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อระดมทุนมาก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคน่าจะเป็นลู่ทางการลงทุนที่มั่นคงที่สุดของประชาชน และการส่งเสริมให้ภาคเอกชนพัฒนาที่อยู่อาศัยด้วยมาตรการด้านผังเมือง การจัดหาที่ดินหรืออื่น ๆ ย่อมจะดีกว่าที่รัฐบาลจะก่อสร้างที่อยู่อาศัยเอง เพราะรัฐบาลไม่ต้องเสียเงินอุดหนุนใด ๆ

           ในปัจจุบันมีบริษัทพัฒนาที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ของภาคเอกชนเป็นจำนวนมากที่จัดหาที่อยู่อาศัยแก่ประชาชนได้ดีกว่าภาครัฐ เช่น บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ที่พัฒนามา 20 ปี ได้ 415 โครงการรวม  163,630 หน่วย ในขณะที่การเคหะแห่งชาติพัฒนามานานกว่าเกือบเท่าตัว กลับสร้างได้เคหะชุมชนได้เพียง 142,103 หน่วย ไม่นับรวมการปรับปรุงชุมชนแออัด บ้านเอื้ออาทร ฯลฯ

อ้างอิง

1.  “สมคิด” ลั่นศก.ไทยถึงจุดต่ำสุดและกำลังจะปรับตัวดีขึ้น เรียกร้องเอกชนเชื่อมั่นในปท.
    http://m.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1444580460

2.  ดึงเอกชนขาย"บ้านคอนโด"ไม่เกิน7แสน สั่งเคหะทำแผน10ปีป้อนผู้มีรายได้น้อย2ล้านครัวเรือน
     http://m.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1444199001

3.  พฤกษา เรียลเอสเตท บริษัทพัฒนาที่ดินเบอร์ 1
     http://www.area.co.th/thai/area_announce/area_press.php?strquey=press_announcement1059.htm

อ่าน 1,955 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved