วิพากษ์มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล
  AREA แถลง ฉบับที่ 311/2558: วันพุธที่ 14 ตุลาคม 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

         ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีการเรียกร้องจาก “คนจน” ใด ๆ เรื่องมาตรการเหล่านี้ คงเป็นการดำเนินการเพื่อผู้ประกอบการรายใหญ่ ๆ จะสามารถโอนบ้านได้แล้วเสร็จในระยะเวลาอันสั้น เป็นการลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการโดยกระจายความเสี่ยงไปสู่ประชาชนมากกว่า

         ตามที่เมื่อวานนี้ (วันที่ 12 ตุลาคม 2558) รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านอสังหาริมทรัพย์ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส มีข้อวิพากษ์มาตรการดังกล่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจแทนได้

          1. มาตรการอำนวยสินเชื่อผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ เป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมกับสถาบันการเงินอื่น ๆ หากมี
          2. ในด้านการปรับลดภาษีและค่าธรรมเนียมโอนจาก 3% เหลือ 0.02% นั้น ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีการเรียกร้องจาก “คนจน” ใด ๆ เรื่องนี้ คงเป็นการดำเนินการกระตุ้นการเร่งโอนเพื่อผู้ประกอบการรายใหญ่ ๆ จะสามารถโอนบ้านได้แล้วเสร็จในระยะเวลาอันสั้น เป็นการลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการโดยกระจายความเสี่ยงไปสู่ประชาชนมากกว่า
          3. ส่วนมาตรการทางภาษีที่ประชาชนสามารถนำ 20% ของมูลค่าที่อยู่อาศัย นำมาลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 59 เป็นต้นไป ก็เป็นไปเพื่อการช่วยเร่งการโอนของโครงการโดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ ๆ เช่นกัน

          ที่อ้างว่า “นายกฯ เป็นห่วงเรื่องการมีบ้านของคนมีรายได้น้อย โดยต่อไปจะดำเนินนโบายบ้านมั่นคง และให้การเคหะแห่งชาติเข้ามาช่วยดูอีกทาง” ในความเป็นจริง

          1. คนที่จนจริงนั้น เขาเช่าที่อยู่อาศัยราคาถูกที่มีอยู่ทั่วไป การเร่งให้เขาซื้อโดยที่เขายังอาจไม่พร้อม เป็นการสร้างภาระและความเสี่ยงแก่ประชาชน
          2. ส่วนนโยบายบ้านมั่นคง ก็เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เอาเงินไปปรับปรุงชุมชนโดยไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันเท่าที่ควร เพียงเพื่อการ “หาเสียง” หรือหาความชอบธรรมในการปกครองมากกว่า

          การที่ให้สิทธิเฉพาะผู้ซื้อบ้านหลังแรกนั้น ดูคล้ายเป็นสิ่งที่ดี แต่เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อการซื้อบ้านมือหนึ่งมากกว่าหรือไม่ หากจะเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจ การซื้อขายบ้านหลังใดก็ตามก็ควรที่จะได้รับสิทธิ์เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินจริงไปสู่ภาคประชาชน ไม่ใช่เฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่และสถาบันการเงิน

          ยิ่งกว่านั้น หากเราเน้นการผ่อนคลายการปล่อยกู้ของธนาคาร อาจจะก่อให้เกิดหนี้เสียมากขึ้น เช่นที่เคยเกิดขึ้นในสถาบันการเงินของภาครัฐมาโดยตลอด กลายเป็นการสร้างปัญหาในระยะยาวแก่ประเทศชาติโดยรวม

          มาตรการเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อหวังจะกระตุ้นตัวเลข GDP ให้ดูดี แต่ไม่ได้คิดถึงผลเสียในระยะยาว เป็มมาตรการที่รองนายกฯ สมคิดเคยใช้ได้ผลในสมัยรัฐบาลทักษิณ แต่อาจใช้ไม่ได้ผลในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งภาวะเศรษฐกิจแตกต่างกัน

อ่าน 1,809 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved