ตอนนี้น้ำกำลังท่วมใหญ่ที่อำเภอลาดยาว นครสวรรค์ และพื้นที่โดยรอบอื่น บ้านของชาวเมืองในเขตเทศบาลเมืองลาดยาว ไร่นาของชาวนา ชาวไร่ในพื้นที่โดยรอบก็ถูกท่วมเสียหาย ชาวบ้านสรุปประสบการณ์มา 40 ปีแล้วว่า เขื่อนแม่วงก์คือทางออก แต่ถูกพวกเอ็นจีโอขวางไว้ เราจะทำอย่างไรกันดี วันนี้ผมจึงขออนุญาตเขียนเพื่อพี่น้องประชาชนทั้งในเมืองและชนบท เพื่อสัตว์ป่าและป่าไม้ที่จะได้ประโยชน์อย่างอเนกอนันต์จากการมีเขื่อนแม่วงก์ครับ
สถานการณ์น้ำท่วมล่าสุด
ในช่วงเกือบ 10 เดือนของปี 2558 นี้ อำเภอแม่วงก์ อำเภอลาดยาว อำเภอเมืองของจังหวัดนครสวรรค์ รวมทั้งพื้นที่ของจังหวัดอื่นในบริเวณใกล้เคียง แล้งหนักมาก ที่ผ่านมาชาวบ้านก็ได้แต่ช่วยตนเองด้วยการาจ้างคนมาขุดบ่อบาดาล เสียเงินนับหมื่น ๆ บาท น้ำที่ได้ก็มีสนิม ไม่สามารถดื่มได้ แม้นำไปต้มก็ตาม ได้แต่นำไปรดพืชผักในเรือกสวนไร่นาเท่านั้น
แต่ในเดือนตุลาคมนี้ เมื่อมีพายุมา ก็มีฝน พอฝนมาตก น้ำในพื้นที่ป่าแม่วงก์ก็ไหลบ่ากันใหญ่จนท่วมนองไปหมด ชาวนาบางส่วนที่ทำนา ก็อาจต้องรีบเกี่ยวข้าว ทำให้ขายข้าวที่มีอายุไม่ถึงไปในราคาถูกเช่นเกวียนละ 3,000-4,000 บาท แทนที่จะขายได้ในราคาประกันแต่เดิมที่ 15,000 บาท ชาวเมืองในเทศบาลลาดยาวก็มักได้รับความเสียหายอย่างหนักหน่วง ถนนหนทางทั้งในเมืองและชนบทได้รับความเสียหาย เหตุการณ์เป็นอย่างนี้แทบทุกปี
คำให้การของประชาชน
นายวัฒนา จันทร กำนัน ต.หนองกระโดน อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ได้ส่งภาพทางไลน์มาให้ผมดูเมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม แสดงให้เห็นว่าน้ำมามากเหลือเกิน ชาวนาต้องออกจากบ้านกลางดึกมาป้องกันน้ำท่วมเข้านา ลำบากกันแสนสาหัส และบอกว่าตอนนี้น้ำมามากก็จริง แต่ก็จะไหลไปหมด เพราะไม่มีเขื่อน รู้สึกเสียดายน้ำเป็นอย่างยิ่ง ถ้ามีเขื่อนก็คงกักเก็บน้ำที่ไหลบ่ามาในหน้าฝนไว้ใช้ในยามแล้ง ทั้งนี้ “ลุงหน่อง” หรือนายสายันต์ จันทนป ประธานสภาองค์กรชุมชน ตำบลเขาชนกัน อำเภอแม่วงก์ ซึ่งอยู่ต่างอำเภอกันก็มีความเห็นในทำนองเดียวกันและท่านยังว่าต่อไปก็จะแล้งและท่วมซ้ำซากอีก
ดาบตำรวจธนกร อารีย์ ซึ่งเป็นตำรวจสันติบาลนครสวรรค์ กล่าวสรุปจากประสบการณ์ที่คลุกคลีกับประชาชนว่า “เขื่อนแม่วงก์ น่าจะสร้างตั้งนานแล้วแต่ไม่สามารถสร้างได้เสียที เพราะกลุ่มต้านก็ต้านหัวชนฝาอ้างข้างๆ คูๆ ไปวันๆ ให้เวลาผ่านไป ทำให้ชาวแม่วงก์ และนครสวรรค์ ขาดความอยู่ดีกิน ความเจริญตามหลังจังหวัดอื่นๆ ที่เขาสร้างเขื่อนไปแล้ว ยกตัวอย่าง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่สร้างเชื่อนรัชชประภา” ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อคน สัตว์ป่า และป่าไม้
คำให้การนี้สอดคล้องกับนายไกรราช เล่าเกษตรวิทย์ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน สำนักงานเลขานุการลุ่มน้ำสะแกกรังที่กล่าวว่า “ลุ่มน้ำสาขาแม่วงก์น่าจะมีแหล่งน้ำต้นทุนที่สามารถกักเก็บน้ำและนำมาบริหารจัดการ อย่างกลุ่มสาขาอื่นๆ” เพื่อรองรับน้ำให้เพียงพอ จะได้ไม่ท่วมซ้ำซากเช่นที่พบเห็นในทุกครั้งที่มีฝนตกหนักๆ ทั้งนี้อาจเรียกได้ว่าน้ำ “กระโจน” จากเขาแม่วงก์อย่างรวดเร็ว และภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ก็ไปถึงอำเภอลาดยาว
ทางออกคือสร้างเขื่อนแม่วงก์
ที่ควรสร้างเขื่อนแม่วงก์เพราะนายสำรอง เยี่ยมยงค์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนแม่วงก์ ได้แจ้งมาว่า “แม่น้ำแม่วงก์ไหลมาจากเทือกเขาโมโกจูและเทือกเขาแผงม้าด้านตะวันออกของเทือกเขาตะนาวศรี น้ำจากขุนเขาจำนวนมาก ไดไหลรวมกันหลายสายจนรวมเรียกว่าแม่น้ำแม่วงก์ซึ่งมักไหลออกมาท่วมอำเภอลาดยาวและอำเภออื่นๆ แบบนี้มานานแล้ว ที่ผ่านมานักวิชาการไม่เชื่อว่าน้ำจากแม่น้ำแม่วงก์นี้มีปริมาณมากและทำความเสียหายในพื้นที่ทุกๆ ปี ปีนี้ชัดเจนเลยว่าน้ำจากแม่วงก์ท่วมอำเภอลาดยาวจริง”
และพอน้ำท่วมครั้งใด เทศบาลที่เกี่ยวข้องก็ต้องระดมทั้งคน งบประมาณและทรัพยากรอื่น ๆ ออกช่วยเหลือประชาชนอย่างรีบเร่งและซ้ำซาก แทนที่จะนำเงินไปพัฒนาให้เกิดโภคผลอื่นได้ นายน้อยวงศ์ วิทยานันท์ นายกเทศมนตรีเมืองปางมะค่า จังหวัดกำแพงเพชรที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน ก็แจ้งว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีหมู่บ้านถูกท่วมนับสิบแห่ง พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายไปมากมาย ส่วนเทศบาลเมืองลาดยาวยิ่งไม่ต้องพูดถึง นายวิโรจน์ วิบูลย์รัตน์ นายกเทศมนตรีผู้นำการสนับสนุนการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ก็ได้ออกช่วยเหลือประชาชนอย่างแข็งขันเสมอ
เขื่อน กับ ป่าและสัตว์ป่า
บางท่านเข้าใจผิดว่าการสร้างเขื่อนแม่วงก์เป็นประโยชน์ต่อคนอย่างเดียวหรือไม ความจริงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จะก่อเกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ตามหลักการ มีน้ำ ย่อมมีชีวิต ดังนี้:
1. ป่าไม้ จะได้เขียวชอุ่ม รกชัฏ ชุ่มฉ่ำ น้ำช่วยดับไฟป่าที่เกิดปีละนับร้อยหนได้ด้วย
2. สัตว์ป่าจะได้มีอาหารมากขึ้น มีเขื่อนเป็นปราการป้องกันการล่าสัตว์ ดูกรณีเขื่อนรัชชประภาที่สร้างอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ สัตว์ป่ากลับยิ่งขยายพันธุ์ ไม่ได้ลดน้อยลงดังคำโกหกแต่อย่างใด
3. ประชาชนจะได้รับการแก้ปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง เขื่อนยังช่วยผลิตประปา ไฟฟ้า ชลประทาน ประมง ท่องเที่ยว ฯลฯ ที่สำคัญยังสามารถผลิตไฟฟ้าได้อีกด้วย ทุกวันนี้ธนาคารโลกเร่งส่งเสริมให้แต่ละประเทศสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าลดโลกร้อนกันแล้ว
ในปีหนึ่ง ๆ รัฐบาลต้องชดเชยเงินค่าเสียหายแก่ประชาชนอันเนื่องมาจากน้ำท่วม ฝนแล้ง ปีหนึ่งนับร้อยนับพันล้านในท้องที่เหล่านี้ หากนำเงินมาสร้างเขื่อนมูลค่า 13,000 ล้านบาท ก็ประหยัดเงินไปมากมาย และคุ้มค่า คุ้มทุนเป็นอย่างยิ่ง การสร้างเขื่อนยังเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์อย่างอเนกอนันต์เช่นกัน
ความจริงที่ควรรู้
ในความเป็นจริงมีอยู่หลายสิ่งที่ประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ไม่รู้ และถูกกลุ่มคนค้านเขื่อนบิดเบือน ดังนี้:
1. ในพื้นที่สร้างเขื่อน เมื่อ 30 ปีก่อน มีการโยกย้ายประชาชนออกมาถึง 200 ครัวเรือนเพื่อเตรียมสร้างเขื่อนในบริเวณนี้ซึ่งเป็นอดีตป่าเสื่อมโทรม ไร่ข้าวโพด พื้นที่ปลูกมะพร้าวของชาวบ้านเดิมบางส่วนนั่นเอง แต่ตอนนี้บอกว่าเป็นป่าสมบูรณ์
2. เขื่อนแม่วงก์มีเพียง 2 เท่าของเขตสาทร เล็กกว่าเขื่อนภูมิพล 50 เท่า หรือ 1 ใน 1,000 ของพื้นที่ผืนป่าตะวันตก แถมตั้งอยู่ตรงชายขอบป่า มีชาวบ้านมากมายอยู่ใกล้ ๆ
3. ที่ว่าเป็นที่อยู่ของเสือโคร่งก็เป็นข้ออ้างเท็จ ไม่เคยพบรอยเท้าเสือในที่สร้างเขื่อน ไทยมีเสือโคร่งมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกจึงไม่วันสูญพันธุ์จากไทย ในสวนสัตว์ยังมีอีกมาก บางครั้ง NGOs ภาพเสือโคร่งแม่ลูกเดินๆ กัน นั่นอยู่ในป่าลึก ที่ต้องเดินนับสิบวันจึงจะถึง ลูกเสือคงไม่สามารถเดินมาแถวที่ก่อสร้างเขื่อนได้แน่นอน บางครั้งมีคลิปเสือตัวใหญ่ แต่ดูฉากหลังจะเห็นว่าอยู่บนยอดเขาสูง ซึ่งเป็นคนละที่กับที่ก่อสร้างเขื่อนเช่นกัน
4. นกยูง เนื้อทราย (กวาง) ไก่ฟ้า และไก่ป่าในที่สร้างเขื่อนแม่วงก์ เพิ่งถูกจับมาปล่อยในวันที่ 17 ธันวาคม 2552 โดยจัดเป็นพิธีใหญ่โต นกยูงที่เลี้ยงไว้แรกๆ ก็ถูกสุนัขกัดตายไปบ้าง
5. มีการอ้างกระทั่งข้อมูลที่ไร้สาระเพื่อค้านเขื่อน เช่น พบไส้เดือนยักษ์ (ซึ่งมีชื่อเท่ๆ ว่า "เขียดงูดอยสุเทพ" เพราะพบที่ดอยสุเทพ เชียงใหม่) ตรงบริเวณที่สร้างเขื่อน หรือพบค้างคาวจมูกหลอดเล็กท้องขาว ซึ่งมีอยู่หลายแห่ง ไม่ได้จำเฉพาะในพื้นที่นี้
6. คนส่วนใหญ่ถึง 71% ต้องการเขื่อนแม่วงก์ ชาวไร่ชาวนาก็แทบทั้งหมด พวกเขาได้สรุปบทเรียนและประสบการณ์ในการจัดการน้ำมากว่า 40 ปีแล้ว แม้แต่นักการเมืองจากต่างพรรค ต่างก็เห็นพ้องกันในเรื่องนี้
7. สภาพป่าที่ว่ามีความสมบูรณ์นั้นก็ไม่ใช่เรื่องจริง ต้นไม้ล้วนแต่ต้นเล็ก ๆ ทั้งสิ้น มีต้นไม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 30 เซนติเมตรไม่กี่ต้น จะพบตอไม้อยู่ทั่วไป แสดงว่าบริเวณนี้มีการตัดไม้มาหลายห้วงเวลาแล้ว แต่ที่ผ่านมาพวกค้านเขื่อนแม่วงก์ก็เตะถ่วงยื้อเวลาไปเรื่อย มีการตั้งแง่เสนอให้ไปศึกษาใหม่ไม่จบสิ้น เช่นให้ไปศึกษาทางเลือกพื้นที่อื่น (พ.ศ.2537) ให้ทำประชาพิจารณ์ (พ.ศ.2541) ให้ศึกษาการจัดการลุ่มน้ำ (พ.ศ.2546) เป็นต้น เขื่อนก็ไม่ได้สร้างสักที ต้นไม้ก็เติบโตขึ้นทุกวันเพื่อให้ฝ่ายต้านเขื่อนมีข้ออ้างเพิ่มขึ้นอีก ถ้าสร้างเขื่อนแต่แรกก็คงไม่มีข้ออ้างเรื่องป่านี้
โปรดฟังเสียงส่วนใหญ่
ผมได้ลงทุนลงแรงสำรวจความคิดเห็นของประชาชนถึง 2 ครั้งเองโดยไม่มีใครจ้าง ใช้เงินและทรัพยากรของตนเอง และในการสำรวจครั้งที่ 1 เมื่อเดือนตุลาคม 2556 พบว่า เมื่อได้นำผลการสำรวจไปเทียบเคียงกับประชากรทั้งหมดในพื้นที่ศึกษาของจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งครอบคลุมประชากรประมาณ 422,868 คน แต่เป็นประชากรที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป 317,714 คน (75.1%) เมื่อนับร้อยละโดยแยกให้เด็ดขาดเป็นกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน จะพบว่าผลการสำรวจครั้งก่อน หากมีการลงประชามติ จะมีผู้เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน 219,871 คน ส่วนที่ไม่เห็นด้วยมี 97,843 คน หรือมีสัดส่วนเท่ากับ 69% ต่อ 31%
ผลการสำรวจครั้งล่าสุดในเดือนกรกฎาคม 2557 ก็ออกมาในทำนองเดียวกัน โดยยังสมมติใช้จำนวนประชากรรวมตามเดิมเพื่อการเทียบเคียง ก็พบว่า จำนวนผู้เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน ได้เพิ่มขึ้นเป็น 226,993 คน ส่วนที่ไม่เห็นด้วยได้ลดลงเหลือ 90,721 คน เทียบเป็นสัดส่วนเท่ากับ 71% ต่อ 29% นั่นเอง การที่มีประชาชนเห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อน อาจเป็นเพราะกระแสต้านเขื่อนลดลง โดยสรุปแล้วประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะชาวนาชาวไร่ เห็นด้วยเกือบทั้งหมด
โดยสรุปแล้ว เขื่อนแม่วงก์มีประโยชน์อเนกอนันต์ต่อทั้งสัตว์ป่า ป่าไม้และประชาชนคนเล็กคนน้อย ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน การไม่สร้างจะยิ่งเป็นการทำลายป่า และทำลายโอกาสของประชาชน ไม่เห็นแก่สัตว์ ก็เห็นแก่ชาวบ้านตาดำ ๆ สร้างเขื่อนแม่วงก์เถอะครับ ไม่รู้ว่าตอนนี้พวกดารา ไฮโซ เอ็นจีโอค้านเขื่อนจะไปช่วยอะไรชาวบ้านบ้าง โปรดช่วยชาวบ้านที่ http://goo.gl/kUmK8R นะครับ