นโยบายแบบ "อัฐยาย ซื้อขนมยาย" อาจไม่บรรลุผล เพราะขาดบรรยากาศการลงทุน "ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ" ส่วนการโยนเงินให้ตำบลเท่ากับ "เอื้ออาทร" ผู้รับเหมา บริษัทเหล็ก บริษัทปูน นอกจากไม่บรรลุผลการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ยังทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในอนาคตได้
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้วิพากษ์นโยบายและแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจชาติของรัฐบาลที่เสนอโดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาเป็นระยะ ๆ ดังนี้:
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มี "การปล่อยกู้ 1.37 แสนล้านบาท ผ่าน 3 โครงการ เริ่มจากให้แบงก์รัฐปล่อยกู้กองทุนหมู่บ้านแบบไร้ดอกเบี้ย ใส่เงินลงไปตำบลละ 5 ล้านบาททั่วประเทศ รวมทั้งกระตุ้นการลงทุนโครงการขนาดเล็ก มุ่งหวังให้คนมีกำลังจับจ่ายใช้สอย . . . (รวมทั้ง) ให้แบงก์รัฐ 2 แห่ง คือ ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ปล่อยเงินกู้แห่งละ 30,000 ล้านบาท รวม 60,000 ล้านบาท ให้กองทุนหมู่บ้าน เพื่อให้เงินก้อนนี้ไปปล่อยกู้ต่อให้สมาชิก แบบไม่มีดอกเบี้ยเป็นเวลา 2 ปี" (14 กันยายน 2558 http://bit.ly/1GfHvKR)
มาถึงวันนี้ (26 ตุลาคม 2558) ได้มีการส่งมอบเงินแล้ว 3.5 หมื่นล้านจาก 6 หมื่นล้านบาทของกองทุนหมู่บ้าน ทางราชการบอกว่าส่วนใหญ่นำไปใช้ในการหมุนเวียน แต่ก็ไม่ทราบแน่ชัดว่านำไปใช้เพื่อการลงทุนหรือไม่ และในข่าวยังบอกว่ามีบางรายนำไปใช้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของลูก ๆ ซึ่งอาจไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการให้กู้ (กรุงเทพธุรกิจรายวัน 26 ตุลาคม 2558 หน้า 1, 4)
ข้อนี้ ดร.โสภณ เคยวิพากษ์ (http://bit.ly/1Pqr1bb) ไว้ว่า
1. ในภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ การลงทุนแทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้น หากมีการกู้เงินเกิดขึ้น เกรงจะเป็นการกู้ไปใช้หนี้แทน หรือไม่ก็กู้ไปใช้จ่ายโดยไม่ได้กลายเป็นทุน หดหายหมดไปอย่างสูญเปล่า สร้างหนี้สินจนต่อไปอาจยิ่งเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว กลายเป็นการสร้างปัญหาสังคม เท่ากับไม่นำพาแนวคิดทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง
2. การที่รัฐบาลมุ่ง "ปั้ม" ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจเพื่อให้เป็นผลงานโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายต่อชาตินี้ เป็นสิ่งที่น่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง
3. ยิ่งกว่านั้นการให้กู้เงินโดยไม่มีดอกเบี้ยจากธนาคารของรัฐ ก็ยิ่งทำให้ธนาคารเกิดความเสี่ยง ยิ่งต้องกันสำรองหนี้ไว้ ถึงแม้รัฐบาลจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของสถาบันการเงินของรัฐ แต่ก็ควรมีความรับผิดชอบต่อผู้ฝากเงิน มีมาตรการเตรียมไว้หากเสียหาย ทำให้ธนาคารได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงในอนาคต
สำหรับการดำเนินมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลนั้น หากดูจากเว็บไซต์การติดตามข้อมูล (http://164.115.41.23/web/approveproject.php) จะพบว่า แทบทั้งหมดเป็นโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มเติม ที่สำคัญกลายเป็นโครงการ "เอื้ออาทร" ส่งเสริมรายได้ให้กับผู้รับเหมาก่อสร้าง บริษัทปูน บริษัทเหล็ก ฯลฯ เงินไม่ได้ตกถึงมือของประชาชนหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับยิ่งทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนมากยิ่งขึ้น
กรณีนี้ต่างจากโครงการจำนำข้าวที่ให้เกษตรกรได้รับเงินถึงมือของชาวนาโดยตรง หากรัฐบาลอยากจะให้เงินหมุนเวียนไปสู่ประชาชนจริง นโยบายที่แย่ที่สุด แต่ถึงมือประชาชนโดยตรงก็คือการแจกเงินให้กับประชาชนแบบ "เช็คช่วยชาติ" ซึ่งก็เท่ากับส่งเสริมให้ชาวบ้านไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่อีกทอดหนึ่ง
หนทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่แท้จริง ควรทำให้ประเทศมีบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย จะทำให้มีผู้เข้ามาลงทุนและท่องเที่ยวในไทยมากขึ้นอีก ได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากประเทศในยุโรปและอเมริกา อย่างไรก็ตามบางท่านอาจจะต้องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ก็ไม่ควรนานเกินไปนัก เพราะยิ่งนาน ประเทศก็ยิ่งเสียเปรียบประเทศอื่นในอาเซียน ซึ่งแม้ประสบวิกฤติเศรษฐกิจโลกเช่นกันแต่ก็เติบโตในอัตราที่รวดเร็วกว่าเพราะมีบรรยากาศการลงทุนที่ดีกว่านั่นเอง
นอกจากนี้รัฐบาลยังควรส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศด้วยนิคมอุสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ การส่งเสริมให้ภาคเอกชนมารับสัมปทานการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากรายเพื่อไม่เอื้อการผูกขาด และเป็นการระดมการลงทุนจากหลายชาติ หลายกลุ่ม ลำพังการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศแบบ "อัฐยาย ซื้อขนมยาย" ไม่น่าจะเป็นทางออกที่ดีได้