ทำไมคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางตาม พรบ.จัดสรรที่ดินล่าสุด ก็ยังมีแต่ข้าราชการมากินตำแหน่ง แถมกำหนดให้ผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
ในร่างพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดินฉบับล่าสุดให้กึ่งหนึ่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมาจากผู้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อย่างนี้ผู้บริโภคจะเสียเปรียบหรือไม่ การแต่งตั้งก็ยังอาจไม่เป็นธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตย ระบบที่ให้ข้าราชการระดับสูงมาเป็นกรรมการโยงไปโยงมาก็ควรรื้อได้แล้ว ทั้งนี้
เมื่อเร็ว ๆ นี้พระราชบัญญัติจัดสรรที่ดินฉบับล่าสุดได้ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (โปรดดูรายละเอียดที่ http://goo.gl/yPfLEI) ได้กำหนดไว้ว่า
"มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้แทน
มาตรา 7 ให้คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการ อัยการสูงสุด อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหกคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความสามารถ หรือประสบการณ์ในด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การผังเมือง การบริหารชุมชน หรือกฎหมาย เป็นกรรมการ. . .
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ให้แต่งตั้งจากผู้แทนภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง"
การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒินั้นไม่ควรกำหนดให้มีผู้ดำเนินกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ "ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง" เพราะผู้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อยู่ภายใต้การควบคุมโดยตรง ในวงการนี้ยังมีองค์กรที่เกี่ยวข้องมากมาย เช่น สมาคมอสังหาริมทรัพย์นับสิบแห่ง (ไม่ใช่มีแค่ 3 แห่ง) ภาคก่อสร้าง เช่นสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน สมาคมไทยรับสร้างบ้าน สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ อีกนับ 10 สมาคม ภาคการเงิน (อีก 3 สมาคม) ภาคนักวิชาชีพ (ผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน นายหน้า บริหารทรัพย์สิน อีกนับสิบสมาคม) ประชาชนผู้บริโภครวมทั้งนิติบุคคลบ้านจัดสรร-อาคารชุดนับพันแห่ง ผู้ทรงคุณวุฒิในวงการศึกษา เป็นต้น
การกำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งมาจากผู้ประกอบการพัฒนาที่ดิน จึงเป็นสิ่งที่พึงทบทวน คำว่า "ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง" แสดงว่าอาจเป็นผู้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เกือบทั้งหมดก็เป็นไปได้ กลายเป็นว่าในคณะกรรมการจัดสรรที่ดินถูกยึดกุมโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพียงฝ่ายเดียว เพราะกรรมการที่เหลือก็เป็นข้าราชการทั้งสิ้น
อีกประเด็นหนึ่งก็คือการให้รัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ใช่ข้าราชการ 6 คนนั้น มาตรฐานการแต่งตั้งคืออะไร ที่ผ่านมาอยู่ที่ความพอใจ การรู้จักมักคุ้น "เส้นสาย" หรือไม่ แม้แต่ในฝ่ายของ "ผู้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์" เอง ก็ควรมีการคัดสรรที่เป็นธรรมและเป็นประชาธิปไตย ทางออกก็คือควรจัดประชุม "ผู้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์" ทั่วประเทศ แล้วให้คัดสรรกันเองในที่ประชุม ไม่ใช่ผ่านระบบสมาคม เพราะ "ผู้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์" ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคม ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิอื่น ก็ควรผ่านการเลือกตั้งจากแต่ละสาขาวิชาชีพ ไม่ใช่ให้สมาคมต่าง ๆ ซึ่งอาจไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริงของนักวิชาชีพมาเป็นกรรมการ
ยิ่งกว่านั้นระบบของคณะกรรมการจัดสรรที่ดิน หรือคณะกรรมการใด ๆ ในประเทศไทย ควรพิจารณา "รื้อ" ใหม่ได้แล้ว ไม่ใช่แต่งตั้งให้หัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ มา "กินตำแหน่ง" หรือรับเบี้ยประชุมเพิ่มเติมในเวลาราชการ กลายเป็นการสร้างระบบราชการที่ไม่โปร่งใส ผมจึงขอเสนอว่า:
1. ราชการส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมที่ดิน กรมชลประทาน ไฟฟ้า ประปา สาธารณูปโภคอื่น ควรมีผู้แทนมาเป็นกรรมการเพื่อการประสานงานโดยไม่จำเป็นต้องเป็นหัวหน้าส่วนราชการที่มีภารกิจมากมายอยู่แล้ว
2. คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง ควรเป็นองค์กรโดยเอกเทศ ประกอบด้วยกรรมการที่มีวาระการเป็นกรรมการที่แน่นอนเช่น 2-4 ปี (ห้ามเป็นซ้ำเพื่อ "ไม่ให้รากงอก") มาจากผู้แทนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นสำคัญ ทั้ง "ผู้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์" นักวิชาชีพ โดยเฉพาะผู้บริโภคที่เป็นประธานนิติบุคคลบ้านจัดสรรและอาคารชุดที่มีประสบการณ์ตรงกับผลของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผู้แทนของแต่ละภาคส่วนให้มาจากการจัดประชุมเลือกตั้งโดยตรง ไม่ใช่ผ่านมาจากสมาคม ซึ่งอาจไม่ใช่ผู้แทนของผู้เกี่ยวข้อง
ในการออกกฎหมายใดๆ นั้น ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นศูนย์กลาง ประชาชนไทยเป็นเจ้าของประเทศนี้