ดร.โสภณเสนอออกพันธบัตรช่วยชาติ
  AREA แถลง ฉบับที่ 335/2558: วันพฤหัสบดีที่ 05 พฤศจิกายน 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

          ดร.โสภณ เสนอออกพันธบัตรช่วยชาติ ทางหนึ่งเป็นการหาเงินลงทุนพัฒนาโครงการสาธารณูปโภค อีกทางหนึ่งเป็นการส่งเสริมการออมของเอกชน และยังเป็นการปรามไม่ให้สถาบันการเงินคิดอกเบี้ยเงินกู้สูงเกินไปนัก

          ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส กล่าวว่าในปีงบประมาณ 2558 รัฐบาลได้ออกพันธบัตรรัฐบาล 2 ครั้ง ๆ ละ 4,000 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2559 ก็ได้ออกพันธบัตรมูลค่า 50,000 ล้านบาท ระยะ 3 ปี แต่เพียงเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเป็นสำคัญ และคิดอัตราดอกเบี้ย 3.0% (http://bit.ly/1HatGmH)

          อย่างไรก็ตามในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 1.5% แต่หากเป็นเงินฝากระยะยาว (3-5 ปี) จะได้ดอกเบี้ยประมาณ 2.5% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมแก่ลูกค้าชั้นดี (Prime rate) อยู่ที่ 7.37-7.50% ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมแก่ลูกค้าชั้นดีแบบมีระยะเวลา อยู่ที่ 6.50-6.85% ซึ่งจะมีช่วงถ่างจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเป็นอย่างมาก (http://bit.ly/1QeTMHk) ยิ่งกว่านั้นอัตราสูงสุดยังเก็บดอกเบี้ยได้สูงสุดถึง 12% (http://bit.ly/1MjJQux)

          ในปี 2557 ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่า "ธนาคารพาณิชย์ 11 แห่ง มีกำไรสุทธิปี 2557 รวม 205,931.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,073.67 ล้านบาท หรือ 3% จากปี 2556 ที่มีกำไรสุทธิรวม 199,858.11 ล้านบาท โดยธนาคารส่วนใหญ่มีกำไรสุทธิเติบโตขึ้นมาก เป็นผลจากมีรายได้จากสินเชื่อ รายได้จากดอกเบี้ย รวมถึงค่าธรรมเนียมและบริการต่างๆ เพิ่มขึ้น" (http://bit.ly/1l8NjC1)

          ในกรณีนี้ รัฐบาลพึงเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงบ้าง เพื่อให้ธุรกิจต่าง ๆ สามารถเติบโตต่อไปได้ ไม่ประสบความเสี่ยง ลำพังการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่ไม่แตะต้องสถาบันการเงินแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้นการให้มีสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น หรือให้สถาบันการเงินต่างชาติมาประกอบธุรกิจในไทยเพิ่มขึ้น ก็จะช่วยให้การแข่งขันมีมากขึ้น ไม่มีสภาพเช่นกึ่งผูกขาดในปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากก็จะไม่ถ่างห่างกันเช่นนี้

          ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลยังพึงออกพันธบัตรมาก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในวงเงินโครงการละ 50,000 - 200,000 ล้านบาท โดยไม่จำเป็นต้องกู้ยืมจากต่างประเทศ โดยอาจออกพันธบัตรตามโครงการ ๆ ไป เพื่อป้องกันการรั่วไหลในทางหนึ่ง ยิ่งหากสามารถออกพันธบัตรระยะ 3-5 ปีด้วยอัตราดอกเบี้ย 3-4% ต่อปี ก็ยิ่งจะกดดันให้สถาบันการเงินเพิ่มดอกเบี้ยเงินฝากมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนผู้ออมได้รับประโยชน์ หรืออาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อจูงใจให้มากู้เงินมากขึ้น

          การมีเงินเพียงพอที่จะพัฒนาสาธารณูปโภคเช่นนี้ ยิ่งจะทำให้มูลค่าทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวม จะสังเกตได้ว่าในบริเวณก่อสร้างรถไฟฟ้า ราคาที่ดินจะเพิ่มขึ้นถึง 10% ต่อปีในขณะที่บริเวณอื่น ๆ ราคาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 3-5% ต่อปีเท่านั้น การออกพันธบัตรเพื่อสร้างสาธารณูปโภคจึงเป็นการสร้างสรรค์ชาติในทางหนึ่ง

อ่าน 1,702 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved