เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ดร.โสภณ จัดแถลงข่าว ก็ได้รับความเมตตาจากผู้สื่อข่าวมาทำข่าวเพื่อนำเสนอต่อสาธารณะชน ดร.โสภณ จึงขอขอบพระคุณ แต่อาจมีบางข่าวที่หากอ่านผ่านตา อาจทำให้เข้าใจผิดว่าเรากำลังอยู่ในภาวะล้นตลาด ดร.โสภณ จึงขอแถลงดังนี้
เพื่อเป็นการนำเสนอข้อมูลที่เข้าใจตรงกันตามที่ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ( http://www.area.co.th) แถลงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน 2558 ดร.โสภณ จึงขอสรุปดังนี้:
1. ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลล่าสุด ในขณะนี้มีหน่วยเหลือขายในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอยู่ 178,641 หน่วย ตัวเลขหน่วยรอขายนี้เพิ่มขึ้นมาโดยตลอดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เพราะปริมาณบ้านในกรุงเทพมหานครมีอยู่ราว 4.8 ล้านหน่วย หรือ 3.7% ของทั้งหมด ในห้วงวิกฤติปี 2540-2542 สัดส่วนนี้สูงถึง 5% ดังนั้นขณะนี้แม้ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ แต่ก็มีแนวโน้มสู่วิกฤติในอนาคตได้ แต่คงกินเวลาอีก 2-3 ปี หากไม่มีการแก้ไขใด ๆ
2. หรับการเปิดตัวโครงการใหม่ในครึ่งแรกของปี 2558 พบว่า มีการเปิดใหม่ถึง 56,548 หน่วย โดย 56,388 หน่วย หรือ 99.7% เป็นที่อยู่อาศัย แยกเป็นห้องชุดถึง 37,220 หน่วย (66%) ทาวน์เฮาส์ 12,176 หน่วย (22%) และบ้านเดี่ยว 4,230 หน่วยหรือ 8% จะสังเกตได้ว่าสินค้าที่ยังขายดี ก็คือสินค้าราคาเกิน 10 ล้านบาทที่ขายแก่คหบดีที่มีรายได้สูง เศรษฐกิจที่ตกต่ำนี้อาจไม่ได้กระทบต่อผู้บริโภคกลุ่มนี้แต่อย่างใด และสินค้าราคาถูกเช่นห้องชุดราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ซึ่งหวังขายให้กับผู้มีรายได้น้อย และผู้มีรายได้สูงเพื่อซื้อไว้เก็งกำไร
3. อาจกล่าวได้ว่าในปี 2558 จะมีโครงการเปิดตัวใหม่ทั้งหมด 107,821หน่วย น้อยกว่าปีที่แล้วที่เปิดถึง 114,094 หน่วย หรือลดลงประมาณ 5% อย่างไรก็ตามที่น่าประหลาดใจก็คือ มูลค่าโครงการเปิดใหม่ในปี 2558 จะเพิ่มขึ้นถล่มทลายเป็น 418,006 ล้านบาท หรือมากกว่าปี 2557 ที่เปิดตัว 344,549 ล้านบาทถึง 21% การปรับตัวของนักพัฒนาที่ดินในขณะนี้ก็คือ การเปิดตัวจำนวนน้อยลง ยกเว้นสินค้าราคาสูงเพื่อป้องกันความเสี่ยง ดังนั้นเมื่อเปิดตัวน้อยลง ฟองสบู่จึงไม่เกิดขึ้นโดยปริยาย
4. โครงการที่ประสบปัญหามีน้อย ขณะนี้มีโครงการที่ "เจ๊ง" ประสบปัญหาในการขายจนต้องเลิกร้างไป 129 โครงการ ทั้งนี้ยังมีโครงการที่ยังเปิดขายอยู่ 1,634 โครงการ จำนวนหน่วยที่ "เจ๊ง" เลิกร้างไปหรือรอการปรับปรุงใหม่ 34,038 หน่วย รวมมูลค่า 91,128 ล้านบาท หากพิจารณาแนวโน้มจะพบว่า ณ สิ้นปี 2557 มีโครงการที่เจ๊งจำนวน 122 โครงการ 34,519 หน่วย มูลค่า 81,704 ล้านบาท แต่ ณ กลางปี 2558 มีจำนวนเพิ่มเป็น 129 โครงการ 34,038 หน่วย มูลค่า 91,128 ล้านบาท สรุปว่า จำนวนโครงการเพิ่ม 7 โครงการ (9%) หน่วยขายลดลง 481 หน่วย (-1%) แต่มูลค่าเพิ่ม 9,424 ล้านบาท (12%) ดังนั้นสถานการณ์จึงยังไม่น่าเป็นห่วง
5. ห้องชุดแนวรถไฟฟ้ายังสบาย มีผู้เข้าอยู่อาศัยแล้ว 82,356 หน่วยหรือ 72% ของทั้งหมด แสดงว่าคงมีการเก็งกำไรน้อย มีหน่วยที่ยังว่างอยู่ 32,603 หน่วย หรือ 28% เท่านั้น เมื่อเจาะลึกลงไปในรายละเอียดยังพบว่า ผู้ที่ซื้ออยู่มีอยู่ประมาณ 65,590 หน่วย หรือราว 80% ของหน่วยที่มีผู้เข้าอยู่ทั้งหมด ที่เหลือ 16,766 หน่วย เป็นหน่วยที่มีผู้เช่าอยู่ การที่มีผู้เช่าอยู่ไม่มากนักเพียงหนึ่งในห้าเช่นนี้แสดงว่า การเก็งกำไรยังมีไม่มากนัก การเก็งกำไรเป็นส่วนน้อย ส่วนใหญ่ของห้องชุดริมรถไฟฟ้า ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย กรณีนี้ต่างจากบ้านเอื้ออาทรที่หลายโครงการปรากฏว่าผู้ซื้อเดิมย้ายออกไปครึ่งหนึ่งแล้ว
ข้างต้นคือที่ ดร.โสภณ แจกข่าวไปให้นักข่าวในวันดังกล่าว โปรดดูฉบับเต็มที่ http://bit.ly/1OaWSK3 ดังนั้นจึงไม่ได้ดูน่ากลัวตามข่าวพาดหัวแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ดร.โสภณ ก็ขอขอบพระคุณสื่อต่าง ๆ ที่นำเสนอข่าวเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชนในอันที่จะสังวรให้ดีก่อนลงทุนซื้อที่อยู่อาศัย