ตามที่ใน "เดี่ยว 11" ของคุณโน้ส อุดม แต้พานิช กล่าวถึงยะลาในแง่ที่ดูน่ากลัว มีความคลาดเคลื่อนแน่นอน โดยเฉพาะประเด็นระเบิดฆ่าตัวตาย ไม่เคยมี สถิติก่อความไม่สงบก็ลดลง แต่กรณีก็เป็นเพียง Talk Show ไม่น่าซีเรียสจนเกินไป
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ผู้เคยไปสำรวจตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่จังหวัดยะลาอยู่หลายวัน กล่าวว่า ตามที่มีข่าว "งานเข้า! เดี่ยว 11 ออกฤทธิ์ดรามาท่องเที่ยวยะลา หวั่นตอกย้ำความน่ากลัว (ชมคลิป)" (http://bit.ly/1NjvCdv) ความจริงยะลาไม่ได้น่ากลัวดั่งที่คิด
1. สถิติการก่อความไม่สงบลดลง ในปี 2557 เป็นปีที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบน้อยเป็นพิเศษ (http://bit.ly/1SqpfoN) และล่าสุดในปี 2558 (1 มกราคม - 30 กันยายน) มีเหตุการณ์ความไม่สงบยิ่งเกิดน้อยลงเหลือเพียง 77 ครั้งเท่านั้น (http://bit.ly/1PUGtwT) ดังนั้นสิ่งที่คุณโน้ส เล่าเรื่องจึงไม่เป็นความจริง
2. ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่เคยเกิดเหตุระเบิดฆ่าตัวตายแบบที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางเลย ดังนั้นสิ่งที่คุณโน้สพูดจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
3. ในด้านจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งประเทศ มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศที่มาเยือนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 1,300,000 กว่าคน สร้างรายได้ให้แก่ภูมิภาคถึง 5,000 กว่าล้านบาทในแต่ละปี และปี 2558 ตั้งเป้าหมายไว้ปี 10% แสดงว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้นกว่าที่เข้าใจ (http://bit.ly/1YBD2MR)
4. จากประสบการณ์เดินสำรวจในเขตเมือง ยังพบคนเร่ร่อนนอนอยู่ในพื้นที่สาธารณะอยู่ แสดงให้เห็นว่าในเขตเมืองยังมีความสงบเรียบร้อยพอสมควร หาไม่คนเร่ร่อนคงไม่กล้านอนข้างถนน สำหรับในยามค่ำคืนในเมืองจะพบว่าค่อนข้างเงียบ โดยหลังเวลา 21:00 น. ก็แทบจะไม่มีใครเปิดประตูบ้านกันแล้ว แต่ก็มีร้านอาหารชื่อดัง สถานอาบอบนวด และอื่น ๆ อีกบางส่วนที่เปิดบริการถึงดึกดื่น แต่ร้านค้าทั่วไปปิดในเวลากลางคืน ไม่มีตลาดโต้รุ่ง หรือตลาดกลางคืนเช่นในจังหวัดอื่น หรือเช่นที่เคยมีในอดีต ทำให้เศรษฐกิจของจังหวัดนี้ด้อยกว่าแต่ก่อนพอสมควร
5. จากการสำรวจราคาที่อยู่อาศัยในเขตเมืองยะลา ยังมีอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาค่อนข้างสูงหรืออาจกล่าวได้ว่าสูงกว่าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แสดงถึงความต้องการที่อยู่อาศัยยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง สำหรับบ้านและที่ดินในเขตใจกลางเมือง ราคาก็ยังขยับตัวสูงขึ้น โดยในเขตเมือง มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ทำให้ประชาชนส่วนมากอุ่นใจ และเข้ามาซื้อบ้านในเขตเมืองมากขึ้น ราคาตึกแถวหรืออาคารพาณิชย์ที่แพงที่สุดในเขตโครงการเมืองใหม่ยะลา ขายสูงถึงคูหาละ 7.5 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นนับเท่าตัวในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปีที่ผ่านมานี้เอง นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก
อย่างไรก็ตามสิ่งที่คุณโน้สพูดก็ถือเป็นการแสดงเท่านั้น ผู้ฟังไม่พึงจริงจังเกินไปนัก แต่ก็สามารถชี้แจงดังข้างต้นได้ หากยะลาคืนสู่ความสงบ ก็จะน่าจะดีต่อทุกฝ่าย ยกเว้นผู้ได้ประโยชน์จากการมีความรุนแรง
ภาพที่ 1: หน้าสถานีรถไฟยะลาที่เคยมีระเบิด
ภาพที่ 2: ดร.โสภณ และคณะนั่งรถเข้าไปในที่เปลี่ยวแถวสถานีรถไฟตาเซะ ใกล้เขตแดนจังหวัดปัตตานี
ภาพที่ 3: ดร.โสภณาสัมภาษณ์ชาวบ้านอย่างใกล้ชิดในแถบพื้นที่ชนบทที่มีผู้ก่อความไม่สงบอาศัยอยู่
ภาพที่ 4: ร้านอาหารไทยมุสลิม - กับไทย/จีน ตั้งอยู่ติดกันหน้าสถานีรถไฟยะลา
ภาพที่ 5: เพื่อนบ้านที่นับถือคนละศาสนา แต่ก็เป็นคนไทยเหมือนกัน
ภาพที่ 6: กับตำรวจตระเวนชายแดนที่หน้าเทศบาลเมืองสะเตงนอก
ภาพที่ 7: ในเมืองยะลายามค่ำคืน พร้อมกับกำแพงป้องกันระเบิด
ภาพที่ 8: 'ประเพณี' การจอดรถริมเกาะกลางถนนเพื่อป้องกันคาร์บอม
ภาพที่ 9: ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะใจกลางเมืองยะลา
ภาพที่ 10: ขอทานก็ยังมีให้พบเห็นในยะลา