10 ถ.นนทรี ยานนาวา กรุงเทพมหานคร 10120
Email: thaiappraisal@gmail.com
2 ธันวาคม 2558
เรื่อง โปรดยับยั้งการสร้าง "บ้านคนจน"
กราบเรียน นายกรัฐมนตรี
ตามที่รัฐบาลของท่านวางแผนจะสร้าง "บ้านคนจน" นั้น แม้จะเป็นความปรารถนาดีที่หวังช่วยเหลือประชาชน แต่เป็นแนวคิดที่ผิดมหันต์เนื่องจากได้รับข้อมูลเท็จ หากดำเนินการจะเป็นภัยต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรง
ข้อมูลผิดและเป็นเท็จ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวว่า "ล่าสุดจึงต้องการสร้างที่อยู่อาศัยเพิ่มอีก 2.5 ล้านยูนิตในอีก 2 ปีข้างหน้า" {1} ตัวเลขข้างต้นใช้อ้างว่ามีความต้องการที่อยู่อาศัยสูง จึงจำเป็นต้องสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับคนจน อย่างไรก็ตามตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่เป็นเท็จ
1. ตามตัวเลขของทางราชการ จำนวนประชากรไทย ณ สิ้นปี 2557 มี 65.12 ล้านคน และมีจำนวนบ้านอยู่ 24.09 ล้านหน่วย
2. เมื่อพิจารณาจากอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรและบ้านในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าอัตราเพิ่มของประชากรเป็นเพียง 0.5% ต่อปีซึ่งถือว่าเพิ่มน้อยมาก ไม่ค่อยส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของที่อยู่อาศัย
3. อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของที่อยู่อาศัยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 2.65% ต่อปี ซึ่งถือว่าสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของประชากรหลายเท่าตัว ทำให้จำนวนคนเฉลี่ยต่อที่อยู่อาศัยหน่วยหนึ่งลดลงจาก 3.01 คนในปี 2552 เป็น 2.7 คนในปี 2557 ความขาดแคลนที่อยู่อาศัยจึงไม่มี
4. หากนำอัตราเพิ่มขึ้นของที่อยู่อาศัย ณ 2.65% ต่อปี ก็จะคำนวณได้ว่า จำนวนบ้าน ณ สิ้นปี 2558 น่าจะเป็น 24.73 ล้านหน่วย และเป็น 26.05 ล้านหน่วยในปี 2560 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1.33 ล้านหน่วย ดังนั้นจึงไม่ได้เพิ่มขึ้นถึง 2.5 ล้านหน่วยดังที่รัฐมนตรีอ้าง
ตลอดช่วงที่ผ่านมา มีการสร้างบ้านกันเองในภาคเอกชนโดยรัฐบาลไม่ต้องหยิบยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ ใด ๆ เลย ภาคเอกชนของไทยสามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้เองโดยรัฐบาลไม่ต้องอุดหนุน เช่น บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ได้พัฒนาที่อยู่อาศัยรวม 163,630 หน่วย รวมมูลค่า 297,403 ล้านบาท ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา มากกว่าการเคหะแห่งชาติที่พัฒนาที่อยู่อาศัยมาเกือบ 40 ปี ที่สร้างที่อยู่อาศัยประเภทเคหะชุมชนเพื่อการขาย/ให้เช่า 142,103 หน่วยเท่านั้น (ไม่นับรวมบ้านเอื้ออาทร การปรับปรุงชุมชนแออัด ฯลฯ) {2} ทั้งนี้รัฐไม่ได้ออกเงินงบประมาณแผ่นดินสนับสนุน บริษัทยังมีกำไรมีโบนัสให้พนักงานประมาณ 5-6 เดือน นอกจากนั้นรัฐบาลยังได้ภาษีเป็นเงินอีกมหาศาล
แนวคิดที่ผิดนำไปสู่ความเสียหาย
ตามที่ "จากนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ยังไม่มีที่อยู่อาศัย เป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด ชุมชนบุกรุก ผู้ด้อยโอกาส ผู้อยู่อาศัยในบ้านเช่า บ้านพักตามโรงงาน ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยต่ำกว่ามาตรฐาน ขาดบริการพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยมีเป้าหมายเร่งด่วนคือ ผู้มีรายได้น้อยจำนวน 2.7 ล้านครัวเรือน. . . ในราคาหน่วยละ 6 แสนบาท" {3} รัฐบาลของท่านคงได้รับข้อมูลผิด จะเป็นโทษมหันต์
1. องค์การสหประชาชาติระบุว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการลดความยากจนลงอย่าง มากในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดมีคนยากจนอยู่ 5.4 ล้านคน ในจำนวนนี้ 88% อยู่ในเขตชนบท ที่เหลืออีก 12% อยู่ในเขตเมือง {4} หากสมมติว่าคนจนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นประมาณ 60% ของคนจนเมืองทั้งหมด ก็จะมีจำนวน 388,800 คน จากจำนวนประชากรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลทั้งหมดประมาณเกือบ 10 ล้านคน หรือ 3.9% เท่านั้น
2. ผู้ที่อยู่ในชุมชนแออัดไม่ใช่จะเป็นคนยากจนเสมอไป เพราะจำนวนคนจน 388,800 คนข้างต้น ยังน้อยกว่าผู้อยู่อาศัยชุมชนแออัดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คนจนเหล่านี้อาจเป็นคนเร่ร่อน คนงาน คนรับใช้ตามบ้าน หรือบุคคลอื่นที่นายจ้างอาจจัดหาที่อยู่อาศัยให้ ฯลฯ ประชากรในชุมชนแออัดส่วนใหญ่ไม่ใช่คนยากจน และมีคนที่เช่าบ้านในชุมชนแออัดอยู่ 30% การสร้างที่อยู่อาศัย 2.7 ล้านหน่วย จึงเกินกว่าจำนวนครัวเรือนคนจนนับสิบเท่า
3. การอ้าง "คนจน" ไปสร้างที่อยู่อาศัยจำนวนมากมาย จึงไม่ถูกต้อง ในประเทศไทยไม่เคยมีปัญหาขาดแคลน กระผมยังเป็นประธานมูลนิธิ อิสรชน ช่วยเหลือประชาชนคนเร่ร่อน ซึ่งที่ผ่านมามูลนิธิพบอยู่เพียง 3,249 คนในเขตกรุงเทพมหานคร {5} ราคาที่อยู่อาศัยก็ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นจนสร้างความเดือดร้อน ยิ่งกว่านั้น ราคาค่าก่อสร้างในรอบ 1 ปีทีผ่านมาก็ลดลงประมาณ 6% {6} ภาคเอกชนก็สามารถสร้างบ้านได้ดีอยู่แล้ว
การสร้างที่อยู่อาศัยโดยภาครัฐจึงไม่มีจำเป็นนัก ในแง่หนึ่งการสร้างใหม่โดยภาครัฐอาจถือเป็นการเอื้ออาทรผู้รับเหมา บริษัทวัสดุก่อสร้างหรือเพื่อให้หน่วยราชการที่รับผิดชอบได้มีงานทำไป และในบางกรณี ก็ควรระมัดระวังเรื่องการรั่วไหลของเงินด้วยเพราะงบประมาณค่อนข้างสูงอีก ด้วย
การแก้ไขปัญหาผิดจุดร้ายแรง
ที่รัฐบาลจะสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูกนั้น ไม่มีความเป็นไปได้ทางการเงิน และจะสร้างปัญหาสังคม ในกรณีห้องชุดใจกลางเมืองบนเส้นทางรถไฟฟ้า MRT และ BTS นั้น ห้องชุดขายในราคาสูงสุดประมาณ 420,000 บาทต่อตารางเมตร และขั้นต่ำประมาณ 80,000 บาทต่อตารางเมตร หากห้องชุดหนึ่งมีขนาด 20 ตารางเมตร ก็เป็นเงินอย่างน้อย 1.6 ล้านบาท หากหักค่าดำเนินการ ภาษี ดอกเบี้ย กำไร ฯลฯ ออก ก็จะเหลือเป็นเงินอย่างน้อย 1.1 ล้านบาท ถ้ารัฐบาลจะสร้างขายในราคา 600,000 บาท ก็เท่ากับต้องชดเชยให้หน่วยละ 500,000 บาท ถ้าสร้าง 100,000 หน่วย ก็ต้องใช้เงิน 50,000 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่รวมค่าที่ดินอีกมหาศาล
ในส่วนของตลาดเช่าพักอาศัยในปัจจุบันนั้น ในปัจจุบันในเขตใจกลางเมืองยังมีให้เช่าในราคาประมาณ 3,000 บาท การที่รัฐบาลจะสร้างห้องมาให้เช่ากันประมาณ 1,000-2,000 บาท จึงเป็นไปได้ยาก และปัจจุบันค่าเช่าบ้านก็ไม่ได้สูงเกินจริงอยู่แล้ว แม้แต่ค่าเช่าเตียงนอนชั่วคราวรายวันของคนจรจัดหรือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ก็ยังรวมเป็นเงินเดือนละเกือบ 1,000 บาทแล้ว
ผลร้ายที่จะตามมาถ้ารัฐบาลทำอย่างนี้ คงมีคนอ้างตนเป็น “คนจน” อีกมากที่จะสวมรอยเข้ามาจับจองสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยประเภทนี้ นอกจากนี้ยังเป็นการทำลายตลาดบ้านเช่ากลางเมืองที่ขณะนี้ปล่อยเช่าในราคา 1,500-3,000 บาท ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 200,000 หน่วยลงไป ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยเหล่านี้ และสถาบันการเงินที่อำนวยสินเชื่อให้สร้างอะพาร์ตเมนต์เหล่านี้ก็จะประสบ เคราะห์กรรมไปด้วย ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงผู้มีรายได้ปานกลางค่อนข้างน้อยที่ผ่อนบ้านอยู่ อาจจะทิ้งการผ่อนชำระมาเข้าโครงการนี้ ทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยปั่นป่วน พังทลายลงไปได้
แผนปฏิบัติการที่สูญเปล่า
รัฐบาลได้ออกข่าวเป้าหมายแผนปฏิบัติการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้ น้อย (ปี 2559-2561) ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และการเคหะแห่งชาติ รวมมูลค่า 95,596 ล้านบาท {7} กระผมเชื่อว่าจะไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหรือช่วยเหลือประชาชน รัฐบาลควรใช้งบประมาณไปพัฒนาประเทศในทางอื่น จะดีกว่า
1. แผนการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดทั่วไป “โครงการบ้านมั่นคง” 65,000 หน่วย 12,220 ล้านบาท หน่วยละ 188,000 บาท เงินจำนวนสูงนี้นำไปสมทบทุนสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ได้เลย รัฐบาลพึงระวังความรั่วไหล
2. แผนพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง 9,981 หน่วย 4,193 ล้านบาท หน่วยละ 420,000 บาท ยิ่งกรณีนี้ยิ่งเห็นชัดว่า ชาวบ้านบุกรุกริมคลองมา 2-3 ชั่วรุ่น กลับต้องใช้เงินไปพัฒนารายละเกือบครึ่งล้านเพื่อให้เช่าหรือแทบจะอยู่ฟรี แบบนี้เท่ากับเอาเปรียบคนปกติหรือไม่ เป็นการสร้างอภิสิทธิชนคน (แสร้ง) จน หรือไม่ เงินมหาศาลนี้นำไปซื้อห้องชุดราคาถูก ๆ ให้อยู่โดยไม่คิดมูลค่าโดยไม่ต้องสร้างใหม่เลย
3. แผนพัฒนาคุณภาพชีวิต “คนไร้บ้าน” เฉพาะปี 2559 จำนวน 698 หน่วย 119 ล้านบาท หน่วยละ 170,000 บาท ในฐานะประธานมูลนิธิอิสรชนช่วยเหลือคนเร่ร่อน เชื่อว่าค่าใช้จ่ายรายหนึ่งไม่น่าจะเกิน 30,000 บาทเท่านั้น
4. บ้านพอเพียงชนบท 352,000 หน่วย วงเงิน 15,488 ล้านบาท หน่วยละ 44,000 บาท จะเห็นได้ว่าบ้านในชนบท ชาวบ้านสามารถมีบ้านของตนเองได้อยู่แล้ว รัฐบาลไม่ต้องใช้เงินนับหมื่นล้านไปช่วยเหลือ การทำโครงการแบบนี้มีความรั่วไหลหรือไม่ เป็นสิ่งที่พึงตรวจสอบ เพราะโยนไปแบบ "เบี้ยหัวแตก"
5. โครงการอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย 10,107 หน่วย 4,895 ล้านบาท หน่วยละ 484,000 บาท ในความเป็นจริง ประชาชนผู้พอมีฐานะทั่วไป ก็จัดสร้างบ้านเช่าราคาประหยัดอยู่ทั่วไปอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องสร้างแข่งกับภาคเอกชนเลย
6. โครงการอาคารเช่าสำหรับผู้ใช้แรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 6 พื้นที่ (ตาก มุกดาหาร สระแก้ว สงขลา ตราด หนองคาย) 8,000 หน่วย 4,904 ล้านบาท หน่วยละ 613,000 บาท กรณีนี้นับว่าราคาสูงมาก สูงกว่าค่าก่อสร้างแฟลตเช่าในเมืองเสียอีก
7. โครงการฟื้นฟูเมืองดินแดง 1,581 หน่วย 2,463 ล้านบาท หน่วยละ 1,560,000 บาท ข้อน่าคิดก็คือ ชาวแฟลตดินแดงที่ส่วนมากเซ้งสิทธิผิดกฎหมายมาก่อน กลับจะได้แฟลตเช่าในราคาถูกที่ต้องเสียค่าก่อสร้างสูงถึง 1,560,000 บาท ทั้งนี้คาดว่ายังไม่รวมค่าที่ดิน นี่เป็นการสร้างความวิปริตในการจัดการที่อยู่อาศัย สร้างอภิสิทธิ์ชนคน (แสร้ง) จนอย่างแน่นอน
8. โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุดที่หนึ่ง 21,139 หน่วย 11,452 ล้านบาท หน่วยละ 542,000 บาท และ5. โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุดที่สอง 38,762 หน่วย 33,180 ล้านบาท หน่วยละ 856,000 บาท หากพิจารณาให้ดี หากภาคเอกชนดำเนินการและขายราคาอย่างเป็นธรรม (อยู่แล้ว) รัฐบาลยังจะได้รับภาษีจากบริษัทเอกชน แต่การสร้างโดยรัฐบาลอาจกลายเป็นการเอื้ออาทรผู้รับเหมาไปได้
9. โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า กทม.และปริมณฑล 8,000 หน่วย วงเงิน 6,684 ล้านบาท หน่วยละ 836,000 บาท เชื่อว่าราคานี้ยังไม่รวมค่าที่ดิน การก่อสร้างแบบนี้ ไม่มีความเป็นไปได้ ผู้ได้สิทธิไปก็คงปล่อยเช่าต่อให้ผู้อื่นไปอีกเช่นเคย คาดว่าจะกลายเป็นความสูญเสียมากกว่า
บทเรียนบ้านเอื้ออาทร
เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2546 กระผมเคยทำหนังสือคัดค้านโครงการบ้านเอื้ออาทรถึง พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น {8} ก่อนเริ่มมีบ้านเอื้ออาทร เพราะรัฐบาลทักษิณก็ถูกให้ข้อมูลที่เป็นเท็จเกินความจริง เช่น ในประเทศไทยมีการบุกรุกที่ดินถึง 5,000 ชุมชน รวม 1.6 ล้านครอบครัว ดังนั้นจึงวางเป้าสร้างบ้านเอื้ออาทร 1 ล้านหน่วย และต่อมาลดเหลือ 600,000 หน่วย และสร้างได้จริงราว 300,000 หน่วย สร้างไม่เสร็จอีกเป็นอันมาก ในจำนวนที่สร้างเสร็จก็ยังมีเหลือขายมากมาย ที่เข้าอยู่อาศัยแล้ว ก็กลับปรากฏว่าเป็นผู้มาเช่าต่อเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังมีแรงงานต่างด้าวและชาวต่างชาติอื่นมาอาศัย ในบางแห่งผู้ซื้อเดิมย้ายออกไปเกินครึ่งแล้ว
ในช่วงของการจองซื้อบ้านเอื้ออาทร ก็มีผู้จองโดยจ่ายเงินจองเพียง 1,000 บาทเช่นกัน และมีผู้จองเป็นจำนวนมาก แต่ปรากฏว่าเมื่อจองซื้อแล้ว ก็มีผู้ซื้อเป็นจำนวนมาก ทิ้งใบจองบ้านเอื้ออาทร {9} หรือยอดคืนบ้านเอื้ออาทรในบางช่วงพุ่งเดือนละ 500 หน่วย {10} แสดงถึงความต้องการบ้านเอื้ออาทรที่มีอยู่จำกัด จนเหลือขายมาจนถึงทุกวันนี้ อันที่จริงในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ยังมีที่อยู่อาศัยที่มีราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทเหลืออยู่อีก 19,364 หน่วย {11} ดังนั้นการสร้าง "บ้านคนจน" อีก จึงเป็นการทำผิดร้ายแรงยิ่งกว่ากรณีบ้านเอื้ออาทรเสียอีก
ทางออกที่เหมาะสม
ในปัจจุบันยังมีบรรดาบ้านราคาถูกที่มีอยู่มากมาย ซึ่งรัฐบาลควรส่งเสริมให้ซื้อมากกว่าจะสร้างใหม่ บ้านเหล่านี้ ได้แก่บ้านของการเคหะแห่งชาติ ทั้งบ้านเอื้ออาทรและเคหะชุมชนอื่นๆ สามารถให้ทั้งขายหรือให้เช่าในราคาถูกทันที บ้านของโครงการที่อยู่อาศัยของภาคเอกชน และบ้านที่ถูกยึดในกรมบังคับคดี บริษัทบริหารสินทรัพย์หรือสถาบันการเงินต่าง ๆ รวมทั้งบ้านว่าง หรือบ้านที่สร้างเสร็จแต่ไม่มีใครอยู่ ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 300,000 หน่วยทั่วเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รัฐบาลจึงควรนำทรัพย์เหล่านี้มาขายใหม่ ให้ประชาชนได้ซื้อในราคาถูก แก้กฎหมายให้สามารถบังคับคดีได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อทั้ง เจ้าหนี้และลูกหนี้ ถือเป็นการระบายสินค้าราคาถูกในตลาด มากกว่าจะสร้างใหม่
นอกจากนี้ การคุ้มครองผู้บริโภคซื้อบ้านเช่นการบังคับให้มีการประกันเงินดาวน์ตามพระ ราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและมีหลักประกันต่อการซื้อบ้าน รวมทั้งการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ทำให้มีอุปทานที่ดินมากขึ้น ราคาบ้านจะได้ไม่แพง รวมทั้งการเก็บภาษีกับผู้เก็งกำไร เพื่อไม่ให้มาแย่งซื้อมาขายต่อ ทำให้ราคาสูงขึ้นเป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น
ดังนั้นกระผมจึงขอคัดค้านการสร้าง 'บ้านคนจน' เพราะเป็นเพียงการอ้างคนจน และอ้างข้อมูลที่เป็นเท็จ ทั้งที่ประเทศไทยไม่มีปัญหาการขาดแคลนที่อยู่ อาศัยในระยะ 20 ปีข้างหน้านี้ การดันทุรังสร้าง รังแต่จะสร้างหนี้ สร้างปัญหาแก่ชาติและประชาชนในการแบกรับภาษี เป็นการเกื้อหนุนประโยชน์ให้แก่ผู้รับเหมา บริษัทเหล็ก บริษัทปูนซีเมนต์ อีกทั้งยังมีโอกาสรั่วไหล ตรวจสอบได้ยาก ในขณะที่ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
ด้วยความเคารพ
(ดร.โสภณ พรโชคชัย)*
ผู้ประสานงานเครือข่ายการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
อ้างอิง
{1} http://bit.ly/1jzNups
{2} http://bit.ly/1NISqBd
{3} http://goo.gl/AdnCDO
{4} http://bit.ly/1XWgW7B
{5} http://www.issarachon.org
{6} http://www.thaiappraisal.org/thai/value/value.php
{7} http://bit.ly/1HGilpA
{8} http://goo.gl/frRetU
{9} http://bit.ly/1hNGjJn
{10} http://bit.ly/1NI5av4
{11} http://bit.ly/1NpfI1g
* วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต ที่ดินที่อยู่อาศัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย มีอาชีพเป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่ทำงานด้านการเป็นนายหน้าหรือพัฒนาที่ดินเอง เพื่อความเป็นกลางโดยเคร่งครัด ปัจจุบันนี้เป็นผู้ประสานงานกลุ่มข้างต้น และยังเป็นประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าทรัพย์สิน AREA ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติ IAAO ประจำประเทศไทย และที่ปรึกษา the Appraisal Foundation ซึ่งเป็นองค์กรควบคุมวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินที่จัดตั้งโดยสภาคองเกรส แห่งสหรัฐอเมริกา
หนังสือยื่นถึงนายกรัฐมนตรี โปรดยับยั้งการสร้าง "บ้านคนจน"