นี่เป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน เราตีราคากันอย่างไรจึงจะสอดคล้องกับความเป็นจริง ยิ่งในภาวะความกลัว "โลกร้อน" ยิ่งต้องคิดให้หนัก ถ้าเราตีราคาเขื่อนได้ เราก็จะทรัพย์สินที่เล็กกว่านี้ได้ครับ
ผมได้รับมอบหมายให้ไปเป็นที่ปรึกษาในโครงการประเมินค่าทรัพย์สินเขื่อน Cirata ซึ่งอยู่ที่จังหวัดชวาตะวันตก ที่มีเครื่องผลิตไฟฟ้าขนาด 1,008 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 1,428 กิกะวัตต์ต่อปี โครงการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2531 ในสมัยประธานาธิบดีซูฮาร์โต โดยกู้เงินจากธนาคารโลกมาดำเนินการ อยู่ภายในการกำกับของบริษัทผลิตไฟฟ้าของรัฐหรือ PLN Persero ตั้งอยู่ทางตะวันออกของกรุงจาการ์ตาห่างไปประมาณ 123 กิโลเมตร และอยู่ทางตะวันตกของนครบันดุง ห่างไป 56 กิโลเมตร
ในการก่อสร้างเขื่อนแห่งนี้ได้โยกย้ายชุมชนต่าง ๆ รวมแล้วถึง 6,335 ครัวเรือน รวมจำนวนประชากรถึง 56,000 คน ถ้าเป็นในปัจจุบันที่พวกเอ็นจีโอกำลังมาแรง ขัดขวางเรื่องการโยกย้ายถิ่นที่อยู่แล้ว จะเห็นได้ว่าคงจะโยกย้ายได้ยาก แต่จากการมีเขื่อนมาเป็นเวลาถึง 27 ปีแล้ว ปรากฏว่าสามารถผลิตไฟฟ้าได้มูลค่ามหาศาล ส่งน้ำไปบำรุงกลายเป็นการชลประทานได้เป็นจำนวนมาก เป็นการพิสูจน์ชัดว่า การมีเขื่อนย่อมดีกว่าที่จะไม่มีเขื่อน
ในการพัฒนาเขื่อนขนาดยักษ์นี้จึงจำเป็นที่เราจะมีการเวนคืน โดยเราไม่พึงมองเฉพาะผลประโยชน์ของกลุ่มชนหรือ "กฎหมู่" แต่หากประชาชนรายใด กลุ่มใด ได้รับผลกระทบในเชิงลบ เกิดความเสียหาย ก็ต้องชดเชยให้สมกับค่าเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อม จะดำเนินการอย่าง "ต่ำช้า" คือจ่ายค่าทดแทนต่ำ ๆ จ่ายค่าทดแทนช้า ๆ ไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันชาวบ้านจะอ้างความเคยชินหรือความเป็นส่วนตัวในทำนอง "เจ้าคุณปู่สั่งไว้ ให้เกิดที่นี่ตายที่นี่" คงไม่ได้
ต้นทุนในการก่อสร้างเขื่อนนี้เป็นเงิน 769 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่รัฐบาลอินโดนีเซียกู้เงินไว้ 279 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในเวลานั้น (2531) อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงิน 970 รูเปียต่อ 1 เหรียญ ในขณะที่ปัจจุบันสูงถึง 13799 รูเปียนต่อ 1 เหรียญ อย่างไรก็ตามเมื่อคิดถึงความคุ้มค่า ก็คงพอ ๆ กับเขื่อนภูมิพลของไทย ที่ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา (2507-2557) ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ถึง 27 ล้านคน ผลิตไฟฟ้าเป็นมูลค่าถึง 342,418.46 ล้านบาท หล่อเลี้ยงพื้นที่ทางการเกษตรรวมมูลค่าถึง 4.7 ล้านล้านบาท ฯลฯ ดังนั้นการสร้างเขื่อนจึงคุ้มค่ามากในระระยาว (http://bit.ly/1MQw3bG)
ระดับน้ำในเขื่อน Cirata นี้มีความสูงที่ 209-220 เมตร ซึ่งแตกต่างกันเพียง 5% ในปัจจุบันแม้แต่ธนาคารโลกยังหันกลับมาสนับสนุนการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าสะอาดและลดโลกร้อนกันแล้ว (http://wapo.st/1kqr6PC) โดยเฉพาะการพัฒนาเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อการผลิตไฟฟ้า แม้แต่การผลิตไฟฟ้าด้วยเขื่อนขนาดเล็กก็มีการดำเนินการกันทั่วไป ที่ว่าทั่วโลกรื้อทิ้งเขื่อนจึงไม่จริง ปริมาณเขื่อนที่สร้างใหม่มีมหาศาลกว่าที่ "โพนทะนา" กันว่ามีการรื้อทิ้ง (http://bit.ly/1VYbyDu)
ฝ่ายเอ็นจีโอทำโปสเตอร์ "โฆษณาชวนเชื่อ" ต้านเขื่อนว่า "เขื่อนกำลังเอาท์ ไม่มีใครเอาแล้ว" โดยยกตัวอย่างว่าในสหรัฐอเมริกายกเลิกเขื่อนไป 65 แห่ง ที่เหลือสวีเดน ฝรั่งเศส เยอรมนี เวียดนามและญี่ปุ่น ต่างยกเลิกไป 6, 3, 2, 2 และ 1 แห่งตามลำดับ ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่น้อยมาก ความจริงเป็นอย่างไรกันแน่ ในฐานะที่ผมรับใช้ท่านผู้อ่านด้วยการเปิดโลกกว้างในหน้าต่างประเทศ ผมจึงขออนุญาตบอกตรงๆ ว่าตัวเลขข้างต้นคือการ "แหกตา" คนไทยโดยแท้
ในปี พ.ศ.2555 มีโครงการไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนเกิดขึ้นใหม่ถึง 125 แห่งในสหรัฐอเมริกา เพิ่มจากปี พ.ศ.2554 ซึ่งมีโครงการใหม่ 95 แห่ง ยิ่งกว่านั้นยังมีโครงการที่รอการอนุมัติในอีก 45 มลรัฐ รวมไฟฟ้าที่จะผลิตได้ถึง 60,000 เมกกะวัตต์ ไฟฟ้าจากพลังน้ำของสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนราว 7% ในสหรัฐอเมริกาจากเขื่อนผลิตไฟฟ้า 2,500 แห่ง และอันที่จริงจะสามารถเพิ่มความสามารถในการผลิตไฟฟ้าได้อีก 15% เมื่อได้ติดตั้งเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าในอื่นเพิ่มขึ้นอีก 600 แห่ง
ในการประเมินค่าทรัพย์สินใด ๆ โดยเฉพาะเขื่อนในกรณีนี้ เราพิจารณาจากประเด็นต่าง ๆ ได้แก่
1. ความสามารถในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งผลิตได้มากตามกำลังผลิต แต่รัฐบาลอินโดนีเซียสั่งให้ผลิตแต่น้อยโดยผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน โดยเฉพาะถ่านหินบีทูมินัสซึ่งเป็นถ่านหินชั้นดีและมีอยู่เป็นจำนวนมากในอินโดนีเซีย ส่วนน้ำมันก็ไว้เพื่อการส่งออกเป็นหลัก ยิ่งในยามหน้าแล้ง รัฐบาลยิ่งต้องการกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรและการทำน้ำประปาเพื่อการบริโภคในกรุงจาการ์ตา
2. อายุขัยของเขื่อนยาวนานมาก จากการประมาณการคาดว่าจะสามารถใช้งานได้ 236 ปีโดยน้ำมีระดับสูงสุดที่ 220 เมตร อายุขัยนี้นับแต่การก่อสร้าง เพราะในระยะยาวจะมีการตกตะกอนมากขึ้น ทำให้เก็บน้ำได้น้อยลงตามลำดับ อย่างไรก็ตามหากเกิดภาวะแห้งแล้ง น้ำลดลงเหลือระดับ 205 เมตร จะมีอายุขัยเหลือ 175 ปี ส่วนถ้าในกรณีที่น้ำลดลงเหลือเพียงระดับ 185 เมตร เขื่อนจะมีอายุขัยเพียง 109 ปีเท่านั้น อายุขัยนับร้อยปีเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่ามูลค่าของเขื่อนสามารถประมาณการแบบไร้อายุขัยสิ้นสุดเลยทีเดียว
3. เขื่อนยังมีประโยชน์เพื่อการชลประทาน การแก้ไขภัยแล้งและอุทกภัย การประปา การท่องเที่ยว การอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า การอนุรักษ์ป่า ฯลฯ ประโยชน์เหล่านี้สามารถนำมาคำนวณเป็นมูลค่าในระหว่างการประเมินค่าเขื่อนได้อีกด้วย
4. มูลค่าของเขื่อนจึงเท่ากับรายได้สุทธิที่ได้รับหารด้วยอัตราผลตอบแทนซึ่งเบื้องต้นคิดจากอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล โดยไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่มักต่ำกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะในประเทศไทยที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากถูกบิดเบือนให้ต่ำมาก ถ่างห่างจากดอกเบี้ยเงินกู้มาก ซึ่งเป็นเพราะธนาคารเป็นธุรกิจ (กึ่ง) ผูกขาด เอาเปรียบผู้บริโภค ในกรณีนี้ดอกเบี้ยพันธบัตรของอินโดนีเซียอยู่ที่ 8.7% ในขณะที่ไทยอยู่ที่ 3.0-3.5% เพราะเงินเฟ้อต่างกัน
5. เมื่อคิดในแง่ของการก่อสร้างใหม่ก็เช่นกัน หากคิดต้นทุนค่าก่อสร้าง อย่างกรณีเขื่อนแม่วงก์ (http://bit.ly/1jHwvRs) ค่าก่อสร้างเขื่อนที่ประมาณการไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2525 เป็นเงินเพียง 3,761 ล้านบาท แต่มาในปี พ.ศ.2556 เพิ่มขึ้นเป็น 13,000 ล้านบาทตามข้อมูลของกรมชลประทาน ในระยะเวลา 31 ปีที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของค่าก่อสร้างนี้ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4.08% ตามสูตร =((13,000/3,761)^(1/31))-1 ซึ่งถือว่าค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นไม่มากนักในช่วง 31 ปีที่ผ่านมา หากไม่รีบสร้างในอนาคตจะยิ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล
ในการประเมินค่าทรัพย์สินในรายละเอียดของเขื่อน Cirata ในจังหวัดชวาตะวันตก นอกจากคิดรายได้จากการผลิตไฟฟ้า ยังมีรายได้จากการท่องเที่ยว รายได้จากพื้นที่การเกษตรโดยรอบเขื่อน รวมเป็นเงินสูงถึง 421ล้านเหรียญสหรัฐ หากนำน้ำเพื่อการชลประทานมาคำนวณด้วยยิ่งจะมีมูลค่ามหาศาล คุ้มค่าต่อการก่อสร้างเป็นอย่างมาก
นี่เองทั่วโลกจึงยิ่งสร้างเขื่อนกันใหญ่ เพราะมีประโยชน์เอนกอนันต์จริง ๆ
โรงงานผลิตไฟฟ้าของเขื่อน Cirata จ.ชวาตะวันตก
สันเขื่อน Cirata ที่เป็นเขื่อนพลังน้ำที่ใหญ่สุดในอินโดนีเซีย
ที่ตั้งของเขื่อน Cirata ใน จ.ชวาตะวันตก