ในประเทศเพื่อนบ้าน เราควรเรียนรู้จากกันและกันบ้าง แม้แต่สิ่งละอันพันละน้อยเช่นวันหยุดราชการ เป็นต้น กรณีนี้เรามาเรียนรู้แบบอย่างจากลาว บ้านพี่เมืองน้องกัน
ตามปฏิทินวันหยุดของลาวในปี 2558 มีดังนี้
1. พฤหัสบดีที่ 1 มกราคม วันปีใหม่
2. อังคารที่ 6 มกราคม วันประเทศลาว
3. อังคารที่ 20 มกราคม วันกองทัพลาว
4. อาทิตย์ที่ 8 มีนาคม วันสตรีสากล
5. อาทิตย์ที่ 22 มีนาคม วันพรรคประชาชนลาว
6-8 อังคาร 14-16 เมษายน วันปีใหม่ลาว
9. ศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม วันแรงงานแห่งชาติ
10. จันทร์ที่ 1 มิถุนายน วันวิสาขบูชา
11. จันทร์ที่ 1 มิถุนายน วันเด็กแห่งชาติ
12. พฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม วันปลดปล่อยประเทศลาว
13. พุธที่ 2 ธันวาคม วันชาติลาว
แต่ความจริงหาเป็นเช่นข้างต้นไม่ วันหยุดที่แท้จริงของลาวมี 7 วันคือ
1. พฤหัสบดีที่ 1 มกราคม วันปีใหม่
2. อาทิตย์ที่ 8 มีนาคม วันสตรีสากล (หยุดชดเชยในวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม)
3-5 อังคาร 14-16 เมษายน วันปีใหม่ลาว
6. ศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม วันแรงงานแห่งชาติ
7. พุธที่ 2 ธันวาคม วันชาติลาว
ส่วนวันกองทัพลาวก็ระลึกกันในหมู่ทหาร วันเด็กก็หยุดเฉพาะเด็กและผู้ปกครอง เป็นต้น นอกจากนั้นในวันหยุดทางพุทธศาสนา ประชาชนก็พากันไปวัดตั้งแต่เช้า (ห้ามพระมายืนรับบาตรตามตลาดแบบไทยๆ) แล้วค่อยแยกย้ายไปทำงาน ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ แต่ในไทยให้หยุดอยู่บ้าน ส่วนใหญ่อาจไมได้ไปประกอบศาสนกิจก็ได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อจะได้หยุดยาวในช่วงปีใหม่ลาว (สงกรานต์) ในปี 2558 รัฐบาลลาวจึงเปลี่ยนให้มาทำงานในวันเสาร์ที่ 11 เมษายนแทนวันศุกร์ที่ 17 เมษายน เพื่อว่าประชาชนจะได้หยุดยาวในช่วงวันอังคารที่ 14 - วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน 2558 นั่นเอง
สำหรับประเทศไทยของเรานั้นมีวันหยุดราชการ 14 วันตามกฎหมาย ในแต่ละปีรัฐบาลก็ยัง "เอาใจ" ข้าราชการด้วยการให้มีวันหยุดเพิ่มเติมอีก 1-2 วันโดยในภาคเอกชนส่วนใหญ่คงใช้วิธีการสลับวันหยุดหรือให้ลาพักร้อนแทนการให้หยุดไปเปล่า ๆ รัฐบาลเห็นว่าการหยุดยาว จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยว แต่ในความเป็นจริง คงไม่มีประเทศไหนเจริญเพราะการหยุด เพราะใช่ว่าคนหยุดส่วนใหญ่จะออกไปใช้จ่ายกิน-เที่ยว-เสพสุขแต่อย่างใด
เพื่อให้ประเทศชาติเจริญ เราเอาเลียนแบบเกาหลีที่เคยทำงานกันสัปดาห์ละ 6 วัน หรืออาจเลิกวันหยุดทางพุทธศาสนา โดยผู้ที่มีจิตศรัทธาจริง ๆ ก็ควรไปทำบุญก็รีบไปทำแต่เช้าเช่นในประเทศลาว หรือลาทั้งวันไปเองเป็นต้น และควรให้การทำงานที่เกี่ยวเนื่องกับการบริการประชาชน ไม่มีการพักเที่ยง หรือควรมีการทำงานในวันเสาร์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการติดต่อราชการ เช่นที่เคยถือปฏิบัติมาช่วงหนึ่ง ทั้งนี้ถือเป็นการยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ถือความสะดวกของข้าราชการเป็นที่ตั้งนั่นเอง
ทำงานหนักเพื่อตนเอง เพื่อครอบครัว เพื่อชาติ เพื่อลูกหลานไทยดีกว่าครับ