รัฐบาลประยุทธ์วางแผนจะใช้เงิน 14,000 ล้านบาทสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เหมาะสมหรือไม่ ในโลกนี้มีแบบอย่างที่ดีที่ไทยควรเอาเยี่ยงอย่างบ้าง ผมขอแจกแจงให้ทราบครับ
ถนนเลียบเจ้าพระยาแสนแพง
ผมเคยเขียนเตือนรัฐบาลประยุทธ์และ คสช. ถึงแผนการก่อสร้างโครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาว่าแพงเกินไป โดยในระยะแรกจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2559 มีระยะทาง 14 กิโลเมตร ตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึง สะพานปิ่นเกล้า มูลค่าค่าก่อสร้างประมาณ 14,000 ล้านบาท (http://bit.ly/1Oiyd8J) หรือเป็นเงินกิโลเมตรละ 1,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก (จะตกหล่นที่ไหนไหม) เงินจำนวนนี้สามารถนำไปสร้าง
1. สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาได้ราว 3 แห่ง (http://goo.gl/kMAjnX)
2. ทางด่วนอุดรรัถยา-อยุธยา ระยะทาง 42 กิโลเมตรได้ครึ่งหนึ่ง (http://bit.ly/1Ll1kq9)
3. ถนนไร้ฝุ่นในชนบทได้ 1,750 กิโลเมตร (http://goo.gl/D1pLsA)
เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้พบ ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม ประธาน บมจ.ศุภาลัย ท่านมาประชุมในฐานะรองประธานมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทยที่ผมเป็นประธานก่อตั้งขึ้น ท่านบอกว่าที่แถวท่าเรือวิคตอเรีย แถบจิมซาจุ่ย ของฮ่องกง น่าจะเป็นแบบอย่างที่ดี ท่านว่าไม่ต้องทำขนาดใหญ่และทอดยาวเกินไป ใช้เงินน้อยมากเมื่อเทียบกับ 14,000 ล้านบาทที่รัฐบาลท่านตั้งใจไว้
ถนนแห่งดาราที่ฮ่องกง
ผมไปค้นดู ปรากฏว่าบริเวณนั้นชื่อ Avenue of Stars อยู่ฝั่งเกาลูนในบริเวณที่เรียกว่าจิมซาจุ่ย ซึ่งมองเห็นวิวเมืองฮ่องกงได้อย่างเหมาะเจาะสวยงาม ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ ๆ นักท่องเที่ยวต้องแวะมาเยี่ยมเยียนให้ได้เช่นกัน เพราะมีแผ่นป้ายพร้อมรอยฝ่ามือหรือลายเซ็นของดาราชื่อก้องโลกของฮ่องกงถึง 107 คน นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่เพิ่งสร้างขึ้นไม่นาน แม้ผมเองจะไปฮ่องกงหลายครั้งในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยได้ย่างกรายไป
ถนนแห่งดารานี้ถอดแบบมาจาก “Hollywood Walk of Fame” โดยในปี 2546 ที่ผ่านมานี้เองที่ประกาศสร้างถนนแห่งนี้ โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งฮ่องกง สมาคมผู้ผลิตภาพยนตร์ฮ่องกง รวมทั้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอื่น ถนนแห่งดารานี้เปิดตัวเมื่อ 28 เมษายน 2547 แม้ถนนเส้นนี้จะสร้างโดยทุนจากภาคเอกชน แต่ก็ได้มอบให้เป็นสมบัติสาธารณะในการดูแลของรัฐบาลฮ่องกง ถนนเส้นนี้มีความกว้างไม่เกิน 10 เมตร ยาวประมาณ 440 เมตรเท่านั้น บางส่วนก็สร้างล้ำลงไปในน้ำ ที่สำคัญยังมีรูปปั้นสูง 2.5 เมตรของ “บรูซลี” ที่สร้างเมื่อปี 2548 ตั้งโดดเด่นอยู่ด้วย
นักท่องเที่ยวนิยมไปเดินเล่น ดูลายฝ่ามือของดาราที่ตนชื่นชอบ (แต่ส่วนมากจะมีแต่แผ่นป้ายชื่อ เพราะหลายคนสิ้นชื่อไปแล้ว) ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ จุดโดดเด่นก็คือการไปเดินเล่นถ่ายภาพกับวิวสวย ๆ ในฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นเกาะฮ่องกง ซึ่งสามารถไปเยี่ยมชมได้ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน ยิ่งในเวลาค่ำคืน ยังมีการแสดงแสงสีเสียงให้เห็นถึงฝั่งฮ่องกงอีกด้วย
การพัฒนาต่อไปในฮ่องกง
หลังจากผ่านไป 11 ปี เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 นี้เอง กระทรวงวัฒนธรรมและการพักผ่อน (Leisure and Cultural Services Department) ของรัฐบาลฮ่องกง ก็ออกมาประกาศปรับปรุงถนนแห่งนี้เสียใหม่ โดยขยายให้ยาวขึ้น ทั้งนี้ในการพัฒนานี้ จะมีกิจการค้าขายต่าง ๆ อย่างจำกัด เช่นไม่มีร้านรวงหรูหราหรือร้านอาหารราคาแพงระยับ (ไม่ให้กลายเป็นแหล่งช็อปปิ้งแบบสนามบินสุวรรณภูมิ) โดยถนนเส้นนี้จะปิดเป็นเวลา 3 ปีในระหว่างการปรับปรุง และจะเปิดบริการให้ชมใหม่ในปี 2560-2561
มีข้อถกเถียงเกิดขึ้นบ้างในเรื่องการปรับปรุงถนนแห่งดารานี้ กล่าวคือรัฐบาลมอบหมายให้มีการปรับปรุงโดยไม่มีการประมูล คงเหมือนบางประเทศที่ชอบ “จัดหาด้วยวิธีพิเศษ” (โดยตลอด) จึงมีเสียงร่ำลือถึงการทุจริต ยิ่งกว่านั้นประชาคมในท้องถิ่น ก็ยังข้องใจถึงแนวทางการปรับปรุง ซึ่งไม่แน่ชัด ทางราชการก็ว่าได้ปรึกษาท้องถิ่นแล้ว แต่ท้องถิ่นบอกว่ายังไม่รู้เรื่อง (คล้ายการจัดทำผังเมืองของไทยที่ประชาชนไม่ค่อยมีส่วนร่วม) จนในที่สุดทางราชการจะจัดฟังความเห็นประชาชนเพิ่มเติม
การสร้างถนนแห่งดารานี้ สร้างในบริเวณที่มีแหล่งท่องเที่ยวอื่นอยู่แล้ว เพราะเป็นการเสริมส่งกัน ดร.ประทีปกล่าวว่า ถ้าไทยเราสร้างแถนท่าช้างถึงท่าพระอาทิตย์ทั้งสองฝั่งถนนหรือฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ก็คงเป็นแนวทางที่ดีเพราะแถวนั้นวิวสวย ดังนั้นในกรณีประเทศไทย เราจึงไม่พึงใช้เงินมหาศาลแบบ “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” แต่ทำให้พอตัว ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ก็เพียงพอแล้ว
ดูแบบอย่างกรุงโซลและนครโฮจิมินห์ด้วย
กรณีถนนเลียบแม่น้ำขนาดใหญ่ มีตัวอย่างที่ดีที่เห็นได้ 2 ตัวอย่างล่าสุดได้แก่ กรุงโซล ประเทศเกาหลี และนครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ที่มีการรื้อสิ่งก่อสร้างริมแม่น้ำทั้งหมด แล้วสร้างถนนเพื่อเพิ่มที่การจราจรริมสองฝั่งแม่น้ำ
1. ที่กรุงโซล ริมแม่น้ำฮัน เขาสร้างถนนขนาดใหญ่อยู่สองฝั่งแม่น้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่จราจร ไม่ได้สร้างถนนเล็ก ๆ "คิขุอาโนเนะ" ไว้ขี่จักรยานแบบที่ไทยกำลังวางแผน
2. ที่นครโฮจิมินห์ เขาก็เวนคืนที่ดินริมแม่น้ำ ริมคลองใหญ่ของเขา สร้างถนนเลียบแม่น้ำแล้วเช่นกัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็มีผู้คนอาศัยอยู่ริมน้ำเช่นเดียวกับประเทศไทย
ทั้งประเทศที่เจริญกว่าเราและด้อยกว่าเราก็ทำสำเร็จมาแล้ว ทำไม "พี่ไทย" จะทำสิ่งดี ๆ ไม่ได้บ้าง
ย้อนกลับมาดูแบบไทยๆ
การก่อสร้างนี้นัยว่าเพื่อให้เป็นทางจักรยาน ซึ่งแพงมาก การสร้างถนนนี้ก็เพื่อพวกคหบดีมีเงินมากมายที่ซื้อจักรยานแพง ๆ มาขี่อวดโฉมกันหรืออย่างไร ไปสร้างในเขตชานเมืองโดยซื้อที่ราคาถูก ๆ ทำเลนให้ขี่เล่น ยังคุ้มค่ากว่ามากนัก เช่น ซื้อที่ 100 ไร่ ๆ ละ 2 ล้านบาท รวม 200 ล้านบาท และปรับปรุงเป็นที่ขี่จักรยานอีก 50 ล้านบาท รวม 250 ล้านบาท เอาเงินของชาติมาบริจาคให้เหล่าคนรวยที่ชอบขี่จักรยานเล่น ยังดีกว่ามาผลาญงบประมาณแผ่นดินในลักษณะนี้
หากเทียบกับสวนลุมพินี ซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่ดีและใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครนั้น พบว่ามีผู้ใช้สอยเพียงวันละ 8,500 คน กรณีสร้างถนนจักรยานที่หวังจะมีนักท่องเที่ยวมาคงจะเป็นฝันที่ไม่เป็นจริง นักท่องเที่ยงคงมาดูอย่างอื่นมากกว่า ดังนั้นอาจประมาณว่ามีคนใช้สอยเพียง 1/3 ของสวนลุมพินี หรือราว 3,000 คน
หากค่าก่อสร้างเป็นเงิน 14,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นรายได้ปีละ 700 ล้านบาท (จากอัตราดอกเบี้ย 5%) หากมีคนใช้สอยเพียงวันละประมาณ 3,000 คน รวม หรือปีละ 1,095,000 คน ก็เท่ากับรัฐบาลประเคนให้คนเหล่านี้คนละ 639 บาทต่อครั้งที่มาเยือน แจกเงินคนเหล่านี้ไปเข้าฟิตเนส ยังไม่สิ้นเปลืองเท่านั้น แจกเงินผู้สูงอายุยังเป็นเงินแค่ 33 บาทต่อเดือนเท่านั้น นี่จึงเป็นการผลาญชาติโดยแท้
ถนนเลียบแม่น้ำที่ควรมี
ถ้าจะสร้างถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาจริง ๆ ที่ควรทำอย่างเบ็ดเสร็จยั่งยืนและถาวร ก็คือ
1. ให้สร้างถนนขนาด 6 ช่องทางจราจร 2 ฝั่งแม่น้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่ถนนให้กรุงเทพมหานครให้มากขึ้น เพราะโครงการที่เสนอ ไม่ได้แก้ปัญหาการจราจรอย่างยั่งยืน
2. การสร้างเป็นจุดชมวิวต่าง ๆ เป็นแค่ “น้ำจิ้ม” ควรทำเฉพาะจุดแบบฮ่องกงที่เสนอไว้ข้างต้น อย่าได้เอางบประมาณไป “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” กับโครงการ “ผักชีโรยหน้า” เช่นนี้
3. ถนนนี้จะเป็นเสมือนเขื่อนป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืนต่อไป แต่หากผ่านโบราณสถานสำคัญ ก็อาจต้องลงทุนให้มุดลงใต้ดินในบางช่วง
4. ในการก่อสร้างจริง จะต้องรื้ออาคารทั้งหมดริมแม่น้ำออกออกเพื่อกันพื้นที่สร้างถนน ซึ่งต้องเวนคืน โดยการเวนคืน ควรจ่ายค่าทดแทนให้เหมาะสม และสำหรับผู้ที่ต้องการอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ก็อาจก่อสร้างเป็นอาคารชุดเพื่อให้ไม่กระทบต่อเดินทางไปทำงานหรือการเดินทางไปสถานศึกษาของลูกหลาน
5. ถือโอกาสสร้างความเท่าเทียมกันในหมู่ชนคนไทย ถ้าต้องเวนคืน คนรวย คนจน ทุกคนก็ต้องถูกเวนคืนเสมอหน้ากัน (แต่ต้องจ่ายค่าทดแทนให้สมน้ำสมเนื้อ) ถ้าสร้างบรรยากาศเช่นนี้ได้ จะเท่ากับเป็นการสร้างความปรองดองแห่งชาติ เพราะ "ยุติธรรมมี สามัคคีจึงเกิด" นั่นเอง
อย่าลืมเพิ่มสะพานข้ามแม่น้ำ
อย่างกรุงโซลซึ่งเป็นเมือง ‘อกแตก’ ตั้งอยู่ 2 ฝั่งแม่น้ำเช่นเดียวกับกรุงเทพมหานคร ก็มีสะพานข้ามแม่น้ำถึง 30 สะพาน ห่างกันทุก 2 กิโลเมตรโดยเฉลี่ย ยิ่งถ้าเป็นในย่านใจกลางเมือง ยิ่งมีความถี่ในการสร้างสะพานประมาณทุก 1 กิโลเมตร ในขณะที่กรุงเทพมหานคร มีสะพานตั้งแต่ช่วงวงแหวนรอบนอกด้านเหนือถึงวงแหวนรอบนอกด้านใต้เพียง 20 สะพาน ถือว่าระยะห่างเฉลี่ยระหว่างสะพานคือ 4.32 กิโลเมตร ในเขตใจกลางเมืองตั้งแต่สะพานพระราม 6 ถึงสะพานภูมิพล 1 มีเพียง 12 สะพาน โดยมีระยะห่างของแต่ละสะพานถึง 1.9 กิโลเมตรหรือเกือบ 2 กิโลเมตร
การมีสะพานน้อยทำให้ความเจริญกระจายออกไปในแนวราบโดยเฉพาะฝั่งตะวันออก สังเกตได้ว่าราคาทาวน์เฮาส์ ระดับไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ยังมีอยู่บริเวณถนนประชาอุทิศ ที่ตั้งอยู่เพียงข้ามฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่หากเป็นในฝั่งตะวันออก อาจต้องไปหาซื้อไกลถึงมีนบุรี ดังนั้นการมีสะพานข้ามแม่น้ำมากขึ้น ทำให้โอกาสที่ความเจริญจะกระจายไปในเขตใจกลางเมืองด้านตะวันตกก็จะมีมากขึ้น การพัฒนาก็จะหนาแน่นในเขตเมืองชั้นใน ไม่แผ่ไปในแนวราบมากนัก เปิดโอกาสให้ ‘ชาวกรุงธนฯ’ ได้เดินทางสะดวกและถือเป็นการเปิดช่องทางและทำเลในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น การก่อสร้างสะพานยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง และง่ายกว่าการสร้างทางด่วนหรือรถไฟฟ้า
ลองไตร่ตรองดูนะครับ ช่วยกันคิดเพื่อชาติ
รูปที่ 1 แผนที่ๆ ตั้งของจิมซาจุ่ย
รูปที่ 2 จิมซาจุ่ยกับถนนแห่งดารา
รูปที่ 3 ภูมิทัศน์ของย่านจิมซาจุ่ย
รูปที่ 4 ถนนแห่งดารา ทำง่าย ๆ ไทยก็ทำได้