มาฟังความเห็นของผู้เกี่ยวข้องกับวงการอสังหาริมทรัพย์อุดรธานี มองภาวะเศรษฐกิจ และภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ พร้อมปัญหาและแนวทางการแก้ไข
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้ไปนำเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับตลาดที่อยู่อาศัยในจังหวัดอุดรธานี และได้ทำแบบสอบถามความเห็นของผู้เข้าร่วม ซึ่งเป็นนักพัฒนาที่ดิน เจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน นักลงทุนและอื่น ๆ จึงสรุปมานำเสนอดังนี้:
1. ในด้านเศรษฐกิจของจังหวัดอุดรธานี มีเพียง 12% ที่บอกว่าอยู่ในภาวะดี ส่วนใหญ่บอกว่าอยู่ใรระดับกลาง ๆ และอีก 15% บอกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดี หากคิดเป็นคะแนนความเชื่อมั่น อาจกล่าวได้ว่า อยู่ในแง่ลบประมาณ 3%
2. เมื่อสอบถามในรายละเอียดเพิ่มเติมว่า เมื่อเทียบกับปี 2556 ภาวะเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าวเทียบกับช่วงปัจจุบันเป็นอย่างไร ก็ปรากฏว่าส่วนใหญ่ 61% เห็นว่าเศรษฐกิจในช่วงปี 2556 ดีกว่าปัจจุบัน มีเพียง 3% เท่านั้นที่เห็นว่าปัจจุบันดีกว่า
3. แต่ต่อภาวะเศรษฐกิจในจังหวัดอุดรธานีในปี 2559 จะดีกว่าปีนี้หรือไม่ ปรากฏว่าครึ่งหนึ่ง (50%) เห็นว่าจะเป็นเช่นดั่งปีนี้ มี 47% ที่เชื่อว่าปี 2559 ภาวะเศรษฐกิจอุดรธานีจะดีกว่าปีนี้ และยังมีอีก 7% ที่เห็นว่าปี 2559 น่าจะแย่กว่าปีนี้
4. เมื่อเจาะลึกมาถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดอุดรธานี ก็พบว่า ส่วนใหญ่ประเมินว่าภาวะอยู่ในระดับปานกลาง 20% ที่บอกว่าภาวะตลาดขณะนี้ดี หากคิดค่ากลางเป็น 0 ก็ปรากฏว่าการประเมินออกมาคิดลบ 13% หรือคะแนนจาก 100% ได้เพียง 87% ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ถดถอย
5. ยิ่งเมื่อเทียบกับปี 2556 ส่วนใหญ่ 63% ระบุ่ว่าภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2556 ดีกว่าปัจจุบัน มีเพียง 7% ที่ระบุว่าปัจจุบันดีกว่าเมื่อ 2 ปีก่อน
6. ต่อการคาดการณ์ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2559 จะเป็นอย่างไร ปรากฏว่า 47% คาดว่าจะดีกว่าปี 2558 นี้ 47% คาดว่าเป็นเช่นเดียวกับปีนี้ และอีก 7% เห็นว่าจะแย่ลงกว่าปีนี้เสียอีก ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นยังมีไม่สูงนัก
7. ต่อความเชื่อมั่นว่าจะมีการก่อสร้างรถไฟความเร็วปานกลาง (หรือความเร็วสูง) ตามเส้นทางกรุงเทพมหานคร-หนองคายหรือไม่ ก็ปรากฏว่าความเชื่อมั่นมีแตกต่างกัน บ้างก็เห็นว่าน่าจะมีการก่อสร้าง และบ้างก็ขาดความเชื่อมั่นโดยมีจำนวนพอ ๆ กัน การนี้แสดงให้เห็นว่าจากความไม่แน่นอนต่าง ๆ ทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนลดลงกว่าแต่ก่อน
สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดขอนแก่นประกอบด้วย กำลังซื้อของคนในจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียง ความไม่แน่นอนของการเมือง ความแออัดในตัวเมือง ปัญหาเรื่องการขอสินเชื่อ ภาคการขนส่งมวลชน มีการแข่งขันสูง ราคาที่ดินสูงมาก รายได้/หนี้ของครอบครัว และสาธารณูปโภค, ถนน, ไฟฟ้า, น้ำประปา เป็นต้น
สำหรับมาตรการที่มีผู้เสนอประกอบด้วย การกระตุ้นการลงทุนขนาดใหญ่มาตามภูมิภาครอบนอก ควรให้มีการขอกู้ยืมจากหน่วยงานที่ให้สินเชื่อให้สะดวกขึ้น การลดภาษีไปอีก 1-2 ปี การต่ออายุมาตรสนับสนุนเช่นโอน 0.01% ไปอีก 2-3 ปี การทำเมืองไทยให้เป็นประชาธิปไตย นักลงทุนจะได้เชื่อมั่น การเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเช่าอสังหาริมทรัพย์ได้ง่ายขึ้น การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน การลดค่าธรรมเนียม การพัฒนาสำนักงานที่ดิน การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการส่งเสริม-ช่วยเหลือผู้ประกบการและจัดหาอสังหาริมทรัพย์ราคาถูก เป็นต้น
โดยสรุปแล้ว ภาวะเศรษฐกิจและตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดอุดรธานีในปี 2559 ก็ยังไม่สดใสนัก ที่ผ่านมาในปี 2556 มีภาวะที่ดีกว่าในปัจจุบัน รัฐบาลพึงหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ผลกว่าที่เป็นอยู่นี้