เมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวว่าพนักงาน บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ได้รับโบนัส 20 เดือนนั้น ผู้รับข่าวสารคงมีความรู้สึกที่ผสมผสานเป็นอย่างยิ่ง
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) มองปรากฏการณ์นี้ด้วยความรู้สึกที่แสนผสมผสาน
ความรู้สึกแรกก็คือ การแสดงความยินดีด้วยกับพนักงานของ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ที่ได้รับโบนัสสูงเช่นนี้ แม้ไม่ใช่ได้ 20 เดือนทุกคน แต่ได้ 12-20 เดือนจำนวน 200 คนจาก 3,400 คน (http://bit.ly/1PjsNuo) ก็ตาม ก็นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี "เสียดายผมแก่ไปแล้ว ถ้าเป็นคนหนุ่มสาวก็คงต้องหาทางไปทำงานในบริษัทดี ๆ เช่นนี้" ดร.โสภณ กล่าว
ความรู้สึกที่สองก็คือ ความยิ่งใหญ่ของ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท จากฐานข้อมูลของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่า ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมาบริษัทนี้ได้พัฒนาโครงการ 415 โครงการ รวม 163,630 หน่วย มูลค่าประมาณ 297,403 ล้านบาท (http://bit.ly/1NISqBd) ถ้าเทียบกับการเคหะแห่งชาติที่ดำเนินการมา 40 ปี ก็พบว่า ณ สิ้นปี 2557 การเคหะแห่งชาติสร้างที่อยู่อาศัยประเภทเคหะชุมชนเพื่อการขาย/ให้เช่าในตลาดเปิดประมาณ 142,103 หน่วยเท่านั้น หากรวมบ้านเอื้ออาทร การปรับปรุงชุมชนแออัด บ้านพักข้าราชการ และอื่นๆ มีจำนวนถึง 709,256 หน่วย (http://goo.gl/PDDA7y) รัฐบาลไม่ได้ออกเงินงบประมาณแผ่นดินสนับสนุนบริษัทนี้เช่นกรณีบ้านเอื้ออาทร รัฐบาลไม่ต้องเวนคืน ยิ่งกว่านั้นบริษัทนี้ยังมีกำไรดี มีโบนัสให้พนักงานประมาณ 5-6 เดือน และยังสามารถจ่ายภาษีให้กับทางราชการเป็นเงินอีกนับหมื่นล้าน
ความรู้สึกที่สามก็คือ ความใจกว้างของบริษัทนี้ที่จ่ายโบนัสพนักงานอย่างดีเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นที่กำไรในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันหรือมีสัดส่วนกำไรสุทธิมากกว่า ก็ยังไม่ได้จ่ายโบนัสมากเท่านี้ ผู้บริหารของบริษัทนี้จึงสมควรได้รับการย่องย่อง การดูแลพนักงานด้วยการจูงใจเช่นนี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญ
ความรู้สึกที่สี่ก็คือ ความสามารถอย่างยิ่งยวดของบริษัทนี้โดยเฉพาะผู้บริหารสูดสุดและคณะ ที่สามารถใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาที่อยู่อาศัยในจำนวนมาก ความสามารถในการวางแผนทางการเงิน และความสามารถในการบริหารคน ซึ่งเน้นที่ความสำเร็จของเป้าหมาย
ความรู้สึกที่ห้าก็คือ ธุรกิจพัฒนาที่ดินที่ดำเนินการโดยมืออาชีพทั้งหลายทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ ได้กำไรดีอยู่แล้ว แม้จะไม่มากเท่าเบอร์ 1 เยี่ยง บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ดังนั้น รัฐบาลไม่มีความจำเป็นต้องไป "กระตุ้น" หนุนช่วยอะไรมากนัก สู้เก็บภาษีที่ควรเก็บไปพัฒนาและช่วยเหลือประชาชนที่ยากลำบากในส่วนอื่นดีกว่าที่จะกระตุ้นผู้ซื้อบ้านให้ซื้อบ้านเพื่อลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการ โดยอ้างว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งไม่เป็นความจริง (http://bit.ly/1QH7QdF)
ความรู้สึกที่หกก็คือ การจัดหาที่อยู่อาศัยของประชาชนโดยเฉพาะในกรณีผู้มีรายได้น้อยสามารถดำเนินการได้โดยภาคเอกชน ภาครัฐไม่พึงสร้างบ้านประชารัฐ (บ้านคนจน) แต่อย่างใด เพราะสร้างไปก็คงสร้างได้ไม่มาก เช่น กรณีการสร้างแฟลตดินแดง หรือบ้านเอื้ออาทรในสมัยก่อน แถมยังเป็นการสร้างปัญหาให้กับตลาดที่อยู่อาศัย ทำให้งบประมาณแผ่นดินถูกใช้ไปอย่างขาดประสิทธิภาพ ในปัจจุบันก็ไม่มีปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัย หรือไม่มีปัญหาราคาหรือค่าเช่าแพงทั้งในปัจจุบันและอนาคต รัฐบาลจึงไม่พึงแทรกแซงตลาด
ประการที่เจ็ดก็คือ ปัจจัยการผลิตหลักของบริษัทพัฒนาที่ดินนั้น ไม่ใช่อยู่ที่คน แต่อยู่ที่ตัวที่ดิน อาคารหรืออสังหาริมทรัพย์ หากสามารถประกอบธุรกิจได้ดี พนักงานก็ได้ประโยชน์ด้วย ในธุรกิจสถาบันการเงิน ปัจจัยการผลิตหลักอยู่ที่เงินต่อเงิน ไม่ใช่คนอีกเช่นกัน จะสังเกตได้ว่าเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ สถาบันการเงินก็รุพนักงานระดับผู้จัดการสาขาหรือผู้บริหารได้โดยไม่จำเป็นต้องเสียดาย หรือในกรณีโรงงานปัจจัยการผลิตหลักอยู่ที่เครื่องจักรคนเป็นปัจจัยอันดับรองลงมายกเว้นในธุรกิจบริการ คนจึงจะเป็นปัจจัยการผลิตหลักที่สำคัญที่สุด
ประการที่แปดก็คือ ความรู้สึกเสียใจของ ดร.โสภณเองที่ไม่สามารถดูแลเพื่อนร่วมงานได้ดีเท่านี้ แม้ธุรกิจประเมินค่าทรัพย์สิน สำรวจวิจัยอสังหาริมทรัพย์ จะมีบุคลากรเป็นปัจจัยการผลิตหลัก แต่ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ก็เป็นเพียง SMEs ยังไม่สามารถที่จะจ่ายโบนัสได้มากนัก โดยพื้นฐานสามารถจ่ายโบนัสได้ 1 เดือนและสูงสุด 3 เดือนเท่านั้น และถือเป็นบริษัทประเมิน-วิจัยที่จ่ายค่าตอบแทนโดยเฉลี่ยสูงสุดแห่งหนึ่ง มีค่างานพิเศษทุกเดือน และยังมีการปรับค่าแรงทุก 6 เดือน เป็นต้น (ดูรายละเอียดที่ http://bit.ly/1m3ttc7)
อย่างไรก็ตามโดยรวมแล้วปรากฏการณ์จ่ายโบนัสสูงสุดถึง 20 เดือน นี้น่าจะเป็นสิ่งที่ควรได้การยกย่อง