ลงนามรถไฟฟ้าไทยจีน "ขายชาติ" ไหม
  AREA แถลง ฉบับที่ 386/2558: วันอังคารที่ 22 ธันวาคม 2558

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

          การที่รัฐบาลไทยวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วปานกลางกับประเทศจีนเมื่อเร็ว ๆ นี้ นับเป็นเรื่องดีในแง่หนึ่งที่ประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าด้านการคมนาคมขนส่ง แต่ในอีกด้านหนึ่งอาจมีผู้มองในแง่ร้ายถึงการทำให้ชาติเสียหายได้เพราะเงื่อนไขอาจเสียเปรียบจีนหรือ รัฐบาลจึงพึงใส่ใจต่อการทำสัญญาเป็นพิเศษ
          ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ให้ความเห็นต่อการวางศิลาฤกษ์ของโครงการรถไฟฟ้า (http://bit.ly/1IjzmMe) ซึ่งรัฐบาลควรมีข้อมูลที่ดี โดยไม่พึงรีบร้อนลงนาม
          ตามข่าวกล่าวว่า ในวันที่ 19 ธันวาคม 2558 นายหวัง เสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน และพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีของไทย จะทำพิธีเริ่มต้นโครงการรถไฟไทย-จีน ที่สถานีรถไฟเชียงรากน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นศูนย์ควบคุมและบริหารการเดินรถกลางในอนาคต โดยมีงบประมาณ 530,000 ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้างประมาณ 400,000 ล้านบาท โดยจีนเสนอค่าแรงขั้นต่ำ 160 หยวนต่อวัน หรือคิดเป็นเงินไทย 800 บาทต่อวัน และเสนอให้ไทยสั่งนำเข้าวัสดุก่อสร้างจากจีนที่ราคาแพง ซึ่งสูงกว่าที่ไทยประเมินไว้  400,000 ล้านบาท
          การก่อสร้างระยะแรก (กรุงเทพฯ-แก่งคอย-นครราชสีมา) ในเดือนพฤษภาคม 2559 และเปิดบริการในปี 2565 และไทยขอให้จีนปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้จาก 2.5% เป็น 2% ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมนั้น เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย จะมีระยะทาง 845 กิโลเมตร (ต้นทุนกิโลเมตรละ 627 ล้านบาท)  ขบวนรถไฟสำหรับขนส่งผู้โดยสาร จะมีตู้โดยสารขบวนละ 8 ตู้ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ขบวนละ 613 คน วิ่งด้วยความเร็วได้สูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนขบวนลากจูงสินค้า (ขนผัก) วิ่งด้วยความเร็วได้สูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (http://bit.ly/1UVrDFx)
          หากเทียบกับอินโดนีเซียแล้ว การตัดสินใจของรัฐบาลไทยได้ถือเอาประโยชน์สูงสุดของชาติแล้วหรือยัง ในกรณีรถไฟฟ้าจาการ์ตา-บันดุงของอินโดนีเซียปรากฏว่า รัฐบาลจีนไม่ได้ขอให้ทางการอินโดนีเซียช่วยออกเงินเลย ไม่ได้ให้รัฐบาลค้ำประกันเงินกู้ด้วยซ้ำไป เงินทุนถึงสามในสี่มาจากประเทศจีนโดยตรง อย่างไรก็ตามในสัดส่วนการถือหุ้น 60% เป็นของอินโดนีเซีย และอีก 40% เป็นของจีน โครงการนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงจากจาการ์ตาไปถึงสุราบายา ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของอินโดนีเซีย โดยในระยะแรกผ่านบันดุงก่อน โครงการโดยรวมมีระยะทาง 750 กิโลเมตร
          เงินลงทุนโครงการเป็นเงิน 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 154,930 ล้านบาท ด้วยระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร หรือตกเป็นเงินกิโลเมตรละ 1,033 ล้านบาท อย่างไรก็ตามหากเทียบกับไทยคงต้องใช้การคำนวณที่ระยะ 750 กิโลเมตร (ไปถึงสุราบายาซึ่งเป็นนครใหญ่อันดับสองรองจากจาการ์ตาและตั้งอยู่อีกด้านหนึ่งของเกาะขวา) ซึ่งมีเงินลงทุน 12 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือ 426,000 ล้านบาท หรือตกเป็นเงินกิโลเมตรละ 568 ล้านบาท
          โครงการนี้จะสร้างในต้นปี 2559 และเสร็จในปี 2562 รถไฟฟ้านี้วิ่งได้ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จึงทำให้การเดินทางจากจาการ์ตาไปบันดุงใช้เวลาเพียง 30 นาที จากปกติ 2 ชั่วโมง และประกาศค่ารถไฟเป็นเงินคนละ 16 เหรียญสหรัฐหรือ 568 บาทต่อเที่ยวเท่านั้น โดยแพงกว่าคารถไฟปกติปัจจุบันเพียง 1 เท่าตัว จะสังเกตได้ว่าในกรณีของไทยไม่กล้าพูดถึงค่าโดยสารเลย

          จะเห็นได้ว่าสัญญาในการก่อสร้างรถไฟความเร็วปานกลางของไทยกับจีน
          1. เสียเปรียบกรณีอินโดนีเซียกับจีน และในกรณีของอินโดนีเซีย ยังสามารถประกาศประกาศชัดถึงค่าโดยสารที่จะเก็บ แต่ในกรณีของไทยไม่สามารถประกาศได้ อาจเก็บค่าโดยสารสูงจนขาดความเป็นไปได้ในการดำเนินการ และแสดงถึงความโปร่งใสของอินโดนีเซียที่มีมากกว่าประเทศไทย
          2. ค่าก่อสร้างต่อกิโลเมตร ของไทยแพงกว่าอินโดนีเซีย (ยกเว้นช่วงแรกที่แพงกว่าไทยเพราะต้องลงทุนเตรียมสำหรับเส้นทางระยะยาว) คือ ของไทย 627 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ส่วนของอินโดนีเซีย (ไปสุราบายา) เป็นเงินเพียง 568 ล้านบาท

          อันที่จริงจีนน่าจะเอาใจไทยมากกว่าอินโดนีเซียเพราะไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์ของจีนในการขยายสู่อาเซียน แต่ไทยกลับต่อรองได้ไม่ดีเท่าอินโดนีเซีย "ระวังลูกหลานเข้าใจผิด หาว่า 'ขายชาติ' ให้จักรวรรดินิยมจีนนะครับ" ดร.โสภณ กล่าว

อ้างอิงของโครงการรถไฟฟ้าอินโดนีเซีย

อ่าน 2,800 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved