การจัดการยางของรัฐบาลไทยมีปัญหา: เทียบไทย-มาเลเซีย
  AREA แถลง ฉบับที่ 10/2559: วันจันทร์ที่ 11 มกราคม 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

          รัฐบาลอาจต้องตรวจสอบกระบวนการจัดการยางพาราในประเทศไทยให้มากกว่านี้ เพราะในห้วงเวลาตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา ปรากฏว่าราคายางไทยตกต่ำกว่าราคายางในมาเลเซียอย่างเด่นชัด

          ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ตั้งข้อสังเกตว่า ราคายาง (ในกรณีน้ำยางดิบ หรือ Bulk Latex) นั้น ราคาของไทยตกต่ำลงเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เป็นผลจากการเทียบสถิติราคายางของการยางแห่งประเทศไทย (Rubber Authority of Thailand) และ Malaysian Rubber Board ของรัฐบาลมาเลเซีย

          ผลการเปรียบเทียบพบว่าหากราคายาง ณ เดือนมกราคม 2557 เท่ากับ 100% เท่ากันในทั้ง 2 ประเทศ พอถึงเดือนกรกฎาคม 2557 ราคายางในไทยลดลง 4% เหลือ 96% ส่วนราคายางในมาเลเซีย ลดลง 6% เหลือ 94% ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เพิ่งผ่านรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อย่างไรก็ตามเมื่อผ่านห้วงเวลามาถึงสิ้นปี คือ ณ เดือนมกราคม 2557 ราคาน้ำยางดิบของไทยลดเหลือ 68% หรือเหลือสองในสามของราคาเดือนมกราคม 2557 แต่ราคาน้ำยางดิบของมาเลเซียลดลงเพียง 22% คงเหลือที่ 78% ของราคาเดิม

          ยิ่งเมื่อเทียบกับราคายางเฉลี่ย ณ เดือนมกราคม 2559 ปรากฏว่า ราคายางในช่วงปัจจุบันนี้เหลือเพียง 47% หรือต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของราคายาง ณ เดือนมกราคม 2557 ในขณะที่ราคาน้ำยางดิบของมาเลเซียลดลงไปเพียง 33% หรือยังเหลือ 67% หรือเหลือสองในสามของราคาในเดือนมกราคม 2559  ดังนั้น ข้อนี้จึงชี้ให้เห็นว่า
          1. ประเทศไทยอาจมีปัญหาในการจัดการยาง การตลาดและการขาย อาจยังขาดความชำนาญการในการดำเนินงาน จนทำให้ราคาในประเทศ "ดิ่งเหว" กว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ราคาตกต่ำกว่าแต่ก่อนเป็นอย่างมาก หรือ
          2. อาจเป็นเพราะรัฐประหารในประเทศไทย จึงทำให้ผู้ที่จะซื้อยางจากไทยมีจำกัดลงตามการกีดกันทางการค้า ราคายางในประเทศไทยจึงยิ่งต่ำกว่าราคาในมาเลเซียเสียอีก

          จะเห็นว่าแม้ยางมีปัญหาวิกฤติหนักมากในไทย แต่มูลค่าการส่งอกยางของมาเลเซียในช่วงเดือนมกราคม - กันยายน 2558 กลับเพิ่มขึ้น 4.3% คือราว 242,100 ล้านบาท (24.21 พันล้านริงกิต) จากปีก่อน 232,100 ล้านบาท (23.21 พันล้านริงกิต) (http://goo.gl/XIOzAk) ส่วนในกรณีประเทศไทยในปี 2557 ส่งออกยางรวม 3,770,649 เมตริกตัน แต่ใน 9 เดือนแรกของปี 2558 ส่งออก 2,719,330 เมตริกตัน หากประมาณการทั้งปี ก็คงเป็น 3,625,773 เมตริกตัน หรือลดลง 4% (http://goo.gl/90rXiC) ซึ่งถือว่าสวนทางกับมาเลเซีย

          แต่จะอย่างไรก็ตาม ไทยจึงควรมีการแก้ไขปัญหานี้ให้เร็วที่สุด จะกล่าวอ้างว่ากำลังแก้ไขปัญหาระยะยาว จึงไม่อาจแก้ไขปัญหาระยะสั้น อาจไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นการแก้ไขปัญหาระยะยาว ควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่มาจากความเห็นชอบของประชาชนตามนานาอารยประเทศ

          รัฐบาลจึงพึงทบทวนถึงแนวทางการแก้ไขปัญหายางให้ประสบความสำเร็จโดยเร็ว

อ่าน 4,516 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved