การที่คนเร่ร่อนถูกไฟดูดตาย ดร.โสภณ ในฐานะประธานมูลนิธิอิสรชนช่วยคนเร่ร่อน เห็นว่าผู้ว่าฯ กทม. และเจ้าหน้าที่ควรรับผิดชอบ
เมื่อเวลา 05.30 น. วันเสาร์ที่ 9 มกราคม 2559 ชายเร่ร่อนคนหนึ่งอายุราว 35-40 ปี ถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิต ที่บริเวณปากซอยพหลโยธิน 47 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โดยสภาพศพไม่ใส่รองเท้า สวมกางเกงฟุตบอลขาสั้นสีส้ม สวมเสื้อยืดสีเขียว ข้างตัวมีถุงก๊อปแก๊ปใส่เสื้อผ้า มือทั้งสองข้างดำไหม้ นอนเสียชีวิต ทั้งนี้ก่อนหน้านี้มีผู้พบเห็นผู้เสียชีวิตนั่งคุกเข่ามือทั้งสองข้างจับเสาติดตั้งกล้องซีซีทีวี (CCTV) จึงใช้มือเขี่ยหลังก็ไม่โต้ตอบ แต่เมื่อได้ยื่นมือไปแตะที่เสาดังกล่าวกลับถูกไฟช็อตจนสะดุ้ง ทำให้รู้แน่ชัดว่าชายคนดังกล่าวถูกไฟฟ้าดูดแน่นอน จึงผลักให้นอนลง แล้วโทร.แจ้งตำรวจกับมูลนิธิมาช่วยปั๊มหัวใจ แต่ก็ไม่ทันการณ์ชายคนดังกล่าวเสียชีวิตไปแล้ว
ทั้งนี้คนขับวินจักรยานยนต์หน้าซอยพหลโยธิน 47 ยังเปิดเผยว่า ตั้งแต่ 1 ปีก่อน ตนและชาวบ้านย่านนี้รู้กันหมดว่าเสาติดตั้งกล้องซีซีทีวี (CCTV) ต้นนี้มีไฟฟ้ารั่ว เพราะใครที่พลาดไปโดนจะรู้สึกได้เลยว่าถูกไฟดูด ที่ผ่านมาทุกคนไม่ได้นิ่งนอนใจ แจ้งทางประธานหมู่บ้าน ทางสำนักงานเขตจตุจักร และเคยติดป้ายเตือนระวังไฟรั่ว อีกทั้งจากการแจ้งไปทางเขตจตุจักรว่ามีกระแสไฟฟ้ารั่วจากต้นนี้ ทางเจ้าหน้าที่มาตรวจแล้วบอกว่าไม่มีปัญหา
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะประธานมูลนิธิอิสรชนที่ช่วยเหลือคนเร่ร่อนในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่น ให้ความเห็นว่าน่าเสียดายชีวิต แม้จะเป็นคนเร่ร่อนก็มีศักดิ์ศรีความเป็นคน กรณีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วบอกว่าไม่มีปัญหานั้น ควรมีการลงโทษเจ้าหน้าที่สถานหนัก ส่วนผู้ว่าฯ กทม. ควรรับผิดชอบเช่นกัน
ดร.โสภณ กล่าวว่า จาการสำรวจที่นำทีมโดยนายนที สรวารี เลขาธิการมูลนิธิ ในฐานะประธานคณะทำงานการสำรวจพบว่าตัวเลขของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเพิ่มขึ้น โดยในปี 2557 มีอยู่ทั้งหมด 3,249 คน เพิ่มจากปี 2556 ที่มีอยู่ 3,140 คนหรือเพิ่มขึ้น 109 คน สำหรับในปี 2555 พบอยู่ 2,856 คน โดยคนเร่ร่อนเหล่านี้เป็นชาย 2,003 คน ที่เหลือ 1,246 คน เป็นหญิง ที่เป็นหญิงนั้นกลุ่มใหญ่ที่สุดเป็นผู้ให้บริการทางเพศ อยู่แถวเขตพระนครเป็นสำคัญ สำหรับเขตที่พบคนเร่ร่อนมากที่สุดก็คือ เขตพระนคร 559 คน หรือ 17% รองลงมาคือ เขตบางซื่อ 281 คนหรือ 9% และเขตจตุจักร 230 คน หรือ 7% ตามลำดับ
ในกรุงเทพมหานครยังพบคนเร่ร่อนจำนวนไม่มาก หากเทียบกับนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา จะพบคนเร่ร่อนถึง 60,352 คน จากประชากรราว 8 ล้านคน หรือประมาณ 0.7% ของประชากร แต่สำหรับกรุงเทพมหานครยังพบเพียง 3,249 คนจากประชากรราว 6 ล้านคน หรือ เพียง 0.05% เท่านั้น อย่างไรก็ตามคาดว่าจำนวนคนเร่ร่อนจะเพิ่มมากขึ้นอีกประมาณ 5-10% ในปี 2558 นี้ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเศรษฐกิจของประเทศยังอาจไม่ฟื้นตัว มีการปล่อยตัวนักโทษ ซึ่งบางส่วนก็มาเป็นคนเร่ร่อน ฯลฯ
จะสังเกตได้ว่างบประมาณของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีเพียงปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท จากงบประมาณ 2.57 ล้านบาท ซึ่งต่ำมากโดยเฉพาะหากเทียบกับงบฯ ของกระทรวงกลาโหมที่ 193,065.9 ล้านบาท (http://goo.gl/QfkcuQ) ดังนั้นปัญหาสังคมต่าง ๆ จึงยากที่จะได้รับการเยียวยาแก้ไขเท่าที่ควร