ดร.โสภณ สำรวจความเห็นของประชาชนต่อการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์รอบที่ 3 ซึ่งจะสรุปนำเสนอนายกรัฐมนตรีต่อไป
ในระหว่างวันที่ 16-17 มกราคม 2559 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ในฐานะที่สนับสนุนการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ได้นำคณะทำการสำรวจความเห็นของประชาชนต่อการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ และจะได้นำเสนอรัฐบาลต่อไป
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเขื่อนแม่วงก์มากมาย เช่น
1. ระบบนิเวศทั้งหมดจะถูกคุกคาม เกิดการทำลายป่าต้นน้ำ
ความจริง: บริเวณสร้างเขื่อนไม่ใช่ป่าต้นน้ำ ไม่ใช่ป่าดงดิบ แต่เป็นป่าเสื่อมโทรมเป็นหลัก เป็นที่ ๆ เคยมีผู้อยู่อาศัยมาก่อนด้วยซ้ำไป ที่สำคัญ ตั้งอยู่ชายขอบของป่า
2. ทำลายโอกาสการฟื้นฟูของอุทยาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อป่ามรดกโลก "ห้วยขาแข้ง"
ความจริง: เมื่อมีเขื่อน ป่ายิ่งจะได้รับการฟื้นฟู เพราะมีน้ำหล่อเลี้ยงมากขึ้น และมีน้ำเพียงพอสำหรับการดับไฟป่าที่มักเกิดขึ้นนับร้อยครั้งต่อปีโดยไม่มีน้ำดับในหน้าแล้งที่น้ำในลำคลองแทบแห้งสนิท
3. ทำให้ป่าไม้ลดลง
ความจริง: ป่าไม้จะมีเพิ่มขึ้นต่างหาก ส่วนที่ถูกตัดไป ทางราชการก็ต้องจัดการตัดให้โปร่งใส เอาเงินมาชดเชยส่วนที่เสียหรือปลูกป่าใหม่ NGOs ก็พึงมีบทบาทในการตรวจสอบการตัดไม้อย่างใกล้ชิด
4. การสูญเสียพื้นที่อ่างเก็บน้ำมหาศาล
ความจริง: สูญเสียไปเพียง 1 ใน 1,000 ของผืนป่าตะวันตก ที่สำคัญไม่ได้กลายเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ แต่มักเอ่อไปตามลำคลองเดิม
5. ทำให้สัตว์ได้รับผลกระทบรุนแรง สูญพันธุ์
ความจริง: สัตว์จะมีมากขึ้น เพราะมีแหล่งน้ำมากขึ้น สามารถดื่มกินได้ทั่วไป แม้ฝรั่งจะศึกษาพบว่าหนูบางชนิดลดน้อยลงที่เขื่อนรัชชประภา แต่สัตว์สำคัญๆ ทั้งหลายกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นเพราะมีน้ำอุดมสมบูรณ์
6. สัตว์จะจมน้ำตายเช่นกรณีเขื่อนรัชชประภา
ความจริง: เขื่อนแม่วงก์ จะไม่มีเกาะแก่งจึงไม่ต้องอพยพสัตว์ เช่นเขื่อนรัชชประภาซึ่งกรณีนี้ก็จำเป็นต้องให้สูญเสียน้อยที่สุด เพื่อประโยชน์เอนกอนันต์ของเขื่อนที่ผลิตไฟฟ้า ชลประทาน ฯลฯ ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา
7. ป่าเก็บน้ำได้ดีกว่าเขื่อน
ความจริง: มักไม่มีการสร้างเขื่อนในป่าดงดิบอยู่แล้ว เขื่อนมักสร้างในป่าเสื่อมโทรมหรือเป็นที่ราบที่มีต้นไม้น้อย การมีป่ามากมายไม่ได้เป็นหลักประกันว่าน้ำจะไม่ท่วม เช่นแม้ในปี พ.ศ.2485 ยังเกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพมหานคร
8. เขื่อนแม่วงก์มีขนาดเล็ก ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
ความจริง: จากผลการศึกษา EIA ก็พบว่ามีอัตราผลตอบแทนที่สูง และให้บริการได้นับแสนไร่ เพิ่มประสิทธิภาพดิน ยกระดับรายได้เกษตรกร เพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำ ประชาชนมีรายได้เพิ่ม สาธารณสุขและสุขภาวะจะดีขึ้น
9. อาจเกิดการลักลอบตัดไม้ริมอ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก เร่งให้สัตว์ป่า เช่น นกยูง เสือโคร่ง ต้องสูญพันธุ์ และยังสามารถลักลอบล่าสัตว์ป่าได้ง่าย
ความจริง: ข้อนี้เป็นเหตุผลครอบจักรวาล แต่ในความเป็นจริงทั้งภาครัฐและ NGOs สามารถส่งอาสาสมัครเข้าสังเกตการณ์ ทำงานแบบ "ปิดทองหลังพระ" ได้ (แต่อาจไม่ดัง)
10. เขื่อนไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วมได้
ความจริง: ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่มั่นใจว่าแก้ไขได้ เพราะพวกเขาประสบภัยน้ำท่วม น้ำแล้งทุกปีกระทั่งมีความรู้ ที่ผ่านมาพอน้ำท่วม พวกเขาก็ต้องเกี่ยวข้าวมาขายเกวียนละ 4,000 บาท เพื่อหนีน้ำ
11. มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ระบุว่าเขื่อนแม่วงก็จะมีน้ำไม่เพียงพอในการใช้สอย
ความจริง: ผลการศึกษา EIA พบว่าจะสามารถให้บริการประชาชนได้ถึง 127 หมู่บ้านใน 3 จังหวัด รวม 50,000 คน
12. ไม่มีประสิทธิภาพในการช่วยแก้น้ำท่วมกรุงเทพมหานครเพราะรับน้ำได้เพียง 1% ของน้ำที่มาในปี 2554
ความจริง: ปริมาณน้ำในปีดังกล่าวมากขนาดนั้น แม้แต่ 10 เขื่อนภูมิพลก็ยังเอาไม่อยู่ เขื่อนนี้มีหน้าที่เพื่อประชาชนในท้องถิ่นเป็นสำคัญ ไม่ควรนำเอาสองเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกันมาอ้าง
13. น่าจะสร้างเขื่อนในบริเวณทางเลือกอื่น
ความจริง: มีการศึกษามาแล้วถึงบริเวณที่อื่นที่อาจสร้าง จึงได้ข้อสรุปให้สร้างที่นี่ เนื่องจากไม่ต้อเวนคืนที่ดินชาวบ้านนับพัน ๆ ครอบครัว
14. ควรสร้างคูคลองมากกว่าสร้างเขื่อน
ความจริง: การจัดการน้ำก็ต้องทำไปพร้อม ๆ กัน การสร้างเขื่อนนี้ไม่ได้มีแค่การสร้างอ่างเก็บน้ำ แต่ยังรวมถึงการปรับปรุงระบบคูคลองเพื่อการระบายน้ำและการชลประทานด้วย แต่จะมีคูคลองโดยไม่มีเขื่อนเก็บน้ำไม่ได้
15. บริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้น ยังมีเขื่อนอีกหลายแห่ง
ความจริง: แต่ละเขื่อนก็มีการหน้าที่แตกต่างไป ประเทศไทยยังมีเขื่อนน้อยเกินไป ยังมีการจัดการน้ำที่ไม่ดี จึงควรสร้างเขื่อนเพิ่ม
16. การเวนคืนที่ดินเพิ่มเติม ประชาชนจะเดือดร้อน
ความจริง: การสร้างเขื่อนจำเป็นต้องมีการเวนคืนเพื่อขยายแนวเขตคูคลอง แต่อยู่ที่การจัดที่ทำกินใหม่และการจ่ายค่าทดแทนให้สมเหตุสมผล คงอ้างเป็นเหตุผลคัดค้านเขื่อนไม่ได้
17. หลังจากการสร้างเขื่อน ยังอาจเกิดปัญหาชาวบ้านแย่งชิงสูบน้ำเข้าที่นา ฯลฯ
ความจริง: ในการชลประทาน ทุกคนก็ต้องสูบน้ำ และควรมีการจัดสรรน้ำอย่างเป็นธรรมอยู่แล้ว อย่าอ้างความกลัวในสิ่งที่ได้รับการแก้ไขมาทั่วประเทศ
18. ควรให้งบประมาณแก่ 23 ตำบล ตำบลละ 200 ล้านบาท แล้วหาทางพัฒนาแหล่งน้ำโดยชาวบ้าน
ความจริง: การแก้ไขปัญหาต้องทำแบบองค์รวม ไม่ใช่แก้ไขในแต่ละหมู่บ้าน ไม่ได้มีแต่ปัญหาน้ำแล้ง ยังมีน้ำไหลมาจากที่อื่นที่ต้องการการกักเก็บด้วย
19. การทำลายพื้นที่ท่องเที่ยวปัจจุบัน เช่น แก่งลานนกยูง
ความจริง: เมื่อมีเขื่อนแม่วงก์ ก็จะทำให้มีแก่งใหม่ มีชายหาด มีสถานที่ท่องเที่ยวอีกมากมาย สวยกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งจะหมดสภาพท่องเที่ยวเมื่อเข้าหน้าแล้งเพราะไม่มีน้ำ
20. ทั่วโลกเขาไม่เอาเขื่อนกันแล้ว
ความจริง: สหรัฐอเมริกาทุบเขื่อนเก่านับร้อยปี ซ่อมไม่คุ้ม รวมทั้งที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังมีโครงการสร้างเขื่อนใหม่ๆ ญี่ปุ่นที่มีขนาดเล็กกว่าไทยก็ยังมีเขื่อนมากกว่า แถมทั้งสองประเทศยังมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ลองพิจารณาดูเปรียบเทียบเพื่อสังคมอุดมปัญญา
หมายเหตุ
โปรดอ่านเพิ่มเติม ได้ที่: www.maewongdam.blogspot.com