เห็นรัฐบาลประยุทธ์จะสร้างแฟลตคนจน ให้เช่าเดือนละพันบาท 99 ปี โถลำพังแค่ค่าดูแลก็ไม่พอแล้วครับ สร้างไปมีแต่เจ๊ง ทำได้ไม่กี่น้ำก็จบ แถมหวังให้อยู่ 99 ปี กะจะ "ไม่ให้ผุด ไม่ให้เกิด" เป็นเศรษฐีกันบ้างหรือไร แฟลตดินแดงอายุ 50 ปี เป็นหลักฐานความล้มเหลว แล้วเราจะแก้ไขปัญหาแฟลตดินแดงอย่างไรดี
บั้นปลายของแฟลตดินแดงคือต้องรื้อ ก่อนที่จะพังลงมาทับคนตาย อันที่จริงหลังจากก่อสร้างเพียง 17 ปี ในปี 2525 การเคหะแห่งชาติก็วางโครงการ "ฟื้นนคร" คือรื้อแฟลตดินแดงออกเพื่อพัฒนาใหม่ให้เป็นแนวสูงเช่นเดียวกับในสิงคโปร์เพื่อสร้างชุมชนที่น่าอยู่และปลอดภัยสำหรับประชาชน
ตัวเลขน่าตกใจ
นับตั้งแต่สร้างแฟลตดินแดงสร้างในปี 2508 ถ้าการเคหะแห่งชาติเก็บค่าเช่าแฟลตแล้วฝากธนาคารไว้โดยไม่หักค่าใช้จ่ายจะเป็นเงิน 318,906 บาทต่อห้อง (ค่าเช่าเฉลี่ยห้องละ 400 บาท 30 ปี ดอกเบี้ย 5%) แต่กลับขาดทุนไป 239,180 บาทต่อห้องเพราะค่าดูแลสูงกว่ารายได้ และสำหรับการปล่อยเช่าช่วง ผู้ให้เช่ากลับได้กำไรถึง 741,206 บาทต่อห้อง และหากยังเก็บค่าเช่าได้น้อยกว่าค่าดูแลเช่นเดิม ก็เท่ากับว่าจะขาดทุนเป็นเงินปัจจุบันไปอีก 74,773 บาท
ดังนั้นโดยรวมแล้วการเคหะแห่งชาติจึงขาดทุนไปทั้งสิ้น 413,953 บาท เมื่อนับรวม 1,980 ห้อง ก็สูญเสียไปถึง 820 ล้านบาท นี่เท่ากับการเคหะแห่งชาติที่ให้พักอาศัยโดยไม่คิดมูลค่ามาเป็นเวลานาน การจะให้ทางราชการแบกรับภาระดูแลเฉพาะกลุ่มผู้เช่าแฟลตกลุ่มนี้ตลอดไป ย่อมเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำต่อประชาชนในภาคส่วนอื่น
การพัฒนาที่ดินทางเลือก
ทางเลือกหนึ่งก็คือการจัดสร้างที่อยู่อาศัยที่ใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ให้ผู้มีรายได้น้อยอื่นเข้ามาได้เพิ่มเติม เช่น บริเวณอาคารแฟลต 16-20 มีพื้นที่ประมาณ 7 ไร่ และมีห้องเช่าอยู่ 280 ห้อง อาจสร้างเป็นตึกสูง 20-30 ชั้น เพิ่มจำนวนห้องได้ถึง 1,680 ห้อง (7 ไร่ หรือ 11,200 ตารางเมตร สร้าง 6 เท่าของที่ดิน ให้ 70% เป็นพื้นที่ขาย และแต่ละห้องมีขนาด 28 ตารางเมตรเช่นห้องชุดราคาประหยัดทั่วไป)
บางท่านอาจวิตกว่าหากสร้างอาคารสูง ผู้เช่าแฟลตที่ประกอบอาชีพค้าขายจะไม่สะดวก กรณีนี้เมื่อครั้งจะสร้างแฟลต 5 ชั้นปัจจุบันแทนอาคารสงเคราะห์ห้องแถวไม้ 2 ชั้นเดิม ก็มีผู้ท้วงเช่นนี้ แต่ปรากฏว่าผู้เช่าแฟลตก็สามารถปรับตัวได้ด้วยการจัดเก็บสัมภาระต่าง ๆ ไว้ชั้นล่างของแฟลต นอกจากนี้ชุมชนแออัดย่านถนนพระรามที่ 4 ยังย้ายขึ้นอาคารสูง 20 กว่าชั้นมาแล้ว
แนวทางการเจรจากับผู้อยู่อาศัย
ต่อปัญหาแฟลตดินแดงที่ยืดเยื้อมานาน ทางราชการควรมีแนวทางการเจรจากับผู้เช่าแฟลตโดยควรประสานกับผู้เช่าแฟลตโดยตรงโดยไม่ต้องบอกสารผ่านผู้นำ การเคหะแห่งชาติควรพยายามอธิบายให้ผู้เช่าแฟลตได้เข้าใจถึง:
1. อันตรายจากการอยู่อาศัยในแฟลตการเคหะแห่งชาติที่หมดอายุขัยทางกายภาพ ซึ่งผู้เช่าแฟลตพึงทำประกันชีวิตให้กับตนเอง โดยการเคหะแห่งชาติคงไม่สามารถรับผิดชอบชีวิตและทรัพย์สินได้หากเกิดการพังทลายลงอย่างฉับพลัน เพียงแต่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้
2. การที่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยอื่นโดยรอบแฟลตการเคหะแห่งชาติ ล้วนต้องเช่าห้องเช่าเอกชนในราคา 2,500 – 3,000 บาทต่อเดือนกันทั้งสิ้น ดังนั้นผู้เช่าแฟลตดินแดงบางส่วนจะยึดครองที่ดินและแฟลตดินแดงไว้ใช้สอยส่วนตัวหรือหาประโยชน์เช่นนี้ตลอดไป คงไม่สามารถทำได้
3. ต่อกลุ่มผู้เช่าแฟลตที่สามารถที่จะย้ายไปอยู่ที่อื่นได้ ก็ควรย้าย โดยการเคหะแห่งชาติสมควรจ่ายค่าชดเชยและค่าขนย้ายส่วนหนึ่ง
4. สำหรับผู้เช่าส่วนที่ไม่สามารถจะหาซื้อหรือเช่าบ้านได้ในตลาดเปิดทั่วไปเพราะฐานะยากจนจริง ก็ควรจะจัดหาที่อยู่ให้ใหม่ โดยเฉพาะพลเมืองอาวุโสที่ไม่มีงานทำและยากจน อาจต้องจัดให้อยู่ในสถานดูแลผู้สูงอายุ หรืออื่นใด เพื่อให้มีชีวิตที่เป็นสุข แทนที่จะอยู่อาศัยในแฟลตที่ตนเองไม่สามารถที่จะจ่ายเพื่ออยู่อาศัยได้
แนวทางการโยกย้าย
สำหรับขั้นตอนในการโยกย้ายนั้น การเคหะแห่งชาติควรดำเนินการดังนี้:
1. การเคหะแห่งชาติยังควรตรวจสอบห้องพักในแฟลตที่ถูกปล่อยเช่าให้บุคคลอื่น ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 14% ตามผลการสำรวจ และเจรจากับผู้เช่าให้ย้ายออกไปเช่าที่อื่น และเจรจากับผู้ให้เช่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เองให้คืนห้องพักให้กับการเคหะแห่งชาติ และเมื่อได้ห้องพักคืนแล้ว ก็ปิดไว้เพื่อป้องกันการบุกรุก
2. สำหรับผู้เช่าแฟลตที่ยินดีที่จะรับเงินชดเชยและย้ายออกไปเลย ก็ให้จ่ายค่าชดเชยไปตามสมควร และให้การเคหะแห่งชาติปิดห้องเช่าเหล่านั้นเพื่อป้องกันการบุกรุกซ้ำซ้อน
3. การเคหะแห่งชาติควรประกาศหาห้องเช่าในแฟลตเช่าในบริเวณใกล้เคียงเพื่อโยกย้ายครัวเรือนชาวแฟลตดินแดงส่วนที่เหลือให้ไปอยู่อาศัยชั่วคราว ในระหว่างการก่อสร้างใหม่
สำหรับการชดเชยให้กับผู้เช่าแฟลต การเคหะแห่งชาติควรให้ค่าขนย้ายจำนวนหนึ่ง และให้ค่าชดเชยอีกจำนวนหนึ่ง เช่น หากค่าเช่าตลาดเป็นเงิน 3,000 บาทต่อเดือน ก็ควรที่จะให้ค่าชดเชยในกรณีย้ายออกไปเลยเป็นค่าเช่าดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปี รวม 155,861 บาท และค่าขนย้ายอีก 10,000 บาท เป็นต้น
ไม่ได้รังแกคนจน
กรณีนี้ไม่ใช่การรังแก "คนจน" จากการสำรวจในแฟลตดินแดงก็พบว่า 52% ของครัวเรือนเหล่านี้มีเครื่องปรับอากาศ 75% ชมโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม 41% มีรถ และ 31% มีที่อยู่อาศัยอยู่ที่อื่นนอกเหนือจากที่แฟลตดินแดงนี้ ดังนั้นผู้เช่าแฟลตเหล่านี้จึงไม่คนจน จึงควรเปิดโอกาสให้กับคนจนจริงๆ ที่จำเป็นต้องมีที่อยู่อาศัย
ประชาชนทั่วไปไม่มีโอกาสโชคดีได้ (อภิ)สิทธิ์ เช่นนี้ เพราะต้องเก็บหอมรอมริบไปหาซื้อบ้านราคาถูกนอกเมืองโดยต้องตื่นแต่เช้าเดินทางมาทำงานในเมือง หากแฟลตเหล่านี้เป็นของเอกชน คงไม่มีใครชดเชยให้ ที่ดินแฟลตดินแดงนี้ถือเป็นทรัพยากรของชาติ ควรเอามาใช้ประโยชน์แก่ส่วนรวมให้ดีที่สุด และเพื่อนำรายได้มาพัฒนาประเทศ
คนจนและความจนนั้นเป็นสิ่งสัมพัทธ์ ไม่ได้อยู่คู่ครอบครัวตลอดไป เมื่อหมดสภาพจนแล้ว ก็ควรจะย้ายออกให้คนจนอื่นอยู่แทน จะถือวิสาสะอยู่ไปชั่วกัลปาวสานไม่ได้ รัฐบาลควรเข้มแข็งในการจัดการพัฒนาพื้นที่แฟลตดินแดงขึ้นใหม่ให้เป็นตัวอย่างโดยโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก