อย่าไปเชื่อนายหน้าที่ชวนไปซื้อบ้านในอังกฤษ!
  AREA แถลง ฉบับที่ 46/2559: วันพุธที่ 03 กุมภาพันธ์ 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

            เมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ที่สัมภาษณ์บริษัทนายหน้าข้ามชาติ จูงใจให้นักลงทุนไทยไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ในอังกฤษ เราต้องคิดให้ดี หาไม่จะตกเป็นเหยื่อ เพราะยังไม่รู้ระบบภาษีที่นั่น นี่อาจถือเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจทางหนึ่งที่สื่อไม่ควรร่วมก่อ!
            ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวว่า แม้ตนเองจะเป็นที่ปรึกษาของสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย แต่ก็ขอให้ความเห็นเกี่ยวกับการจูงใจของบริษัทนายหน้าข้ามชาติ (ไม่ใช่นายหน้าท้องถิ่นไทยทั่วไป) ที่ให้คนไทยไปลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างแดน โดยไม่รู้ข้อเท็จจริงมากนัก โดยเฉพาะด้านภาษีที่เกี่ยวเนื่องกับอสังหาริมทรัพย์
            บริษัทนายหน้าข้ามชาติบางแห่งอาจพยายามจูงใจให้นักลงทุนไทยไปซื้อบ้านในอังกฤษ โดยให้ข้อมูลในด้านหนึ่งว่าราคาบ้านเพิ่มขึ้นจนน่าจูงใจเป็นอย่างยิ่ง จากข้อมูลล่าสุดของกรมที่ดิน ณ เดือนธันวาคม 2558 ราคาบ้านในสหราชอาณาจักรเฉลี่ยเป็นเงิน 9.72 ล้านบาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้นถึง 6.4% ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ยิ่งในกรณีกรุงลอนดอน ราคาบ้านเฉลี่ยสูงถึง 26.54 ล้านบาทหน่วย และเพิ่มขึ้นถึง 12.4% ต่อปี (http://bit.ly/1PfyaXL)
            ในแง่หนึ่งอังกฤษใจกว้างให้คนต่างชาติไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ เพราะคงหาใครไป "Take Over" ประเทศนี้ได้ยาก ต่างจากประเทศไทยที่มีมูลค่าน้อยกว่าอย่างเทียบไม่ติด และอาจถูก "ขาย" ได้ง่าย ๆ อย่างไรก็ตามในอังกฤษ ชาวต่างประเทศผู้ถือครองอสังหาริมทรัพย์ต้องเสียภาษีสูงมาก (http://bit.ly/1SX6Ser และดูที่ www.gov.uk/browse/tax) ได้แก่:

            1. ภาษีจากการให้เช่าทรัพย์สินอาจสูงถึง 40% ของรายได้ต่อปี
            2. ภาษีจากกำไรในการลงทุน (Capital Gains Tax) เช่น ซื้อมา 10 ล้านขายต่อ 15 ล้านบาท เงิน 5 ล้านที่กำไรต้องเสียภาษี โดยต้องเสียประมาณ 10-40% ของกำไรอีกต่างหาก
            3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีอัตราสูงถึง 17.5% (ยกเว้นในกรณีเสียภาษีจากการให้เช่าแล้ว)
            4. ภาษีมรดกจะเสียสำหรับทรัพย์สินที่มีค่าตั้งแต่ประมาณ 30 ล้านบาท โดยมีอัตราเพดานประมาณ 40% ของมูลค่า
            5. ค่าธรรมเนียมโอน เสียประมาณ 1-3% ของมูลค่าทรัพย์สิน ยิ่งมีมูลค่าสูง ยิ่งต้องเสียมาก
            6. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยแยกเสียตามชั้นของราคาของอสังหาริมทรัพย์ โดยปกติแล้วเสียประมาณ 1.5% ของมูลค่าทรัพย์สินในแต่ละปี

            ดังนั้นในแง่หนึ่งเราต้องวางแผนภาษีให้ดีก่อนที่จะไปซื้อทรัพย์สินในกรุงลอนดอน ซึ่งในบางช่วงก็มีราคาตกต่ำอย่างหนักเช่นกัน (แม้บางช่วงจะเพิ่มขึ้นสูงมาก) ในอีกแง่หนึ่งหากรัฐบาลประยุทธ์ต้องการจะให้ต่างชาติมาซื้อหรือเช่าทรัพย์สินในประเทศไทย ก็ควรมีการจัดเก็บภาษีให้จงหนักเช่นในอังกฤษหรือประเทศตะวันตกอื่น ๆ อย่างไรก็ตามในประเทศไทย ผู้มีอำนาจอาจไม่ต้องการเสียภาษี ดังนั้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและภาษีอื่นๆ ข้างต้นจึงแทบไม่เกิดขึ้น ผู้มีอำนาจเหล่านี้คงไม่ใช่นักการเมืองเสียแล้ว เพราะตอนนี้ไม่มีนักการเมืองมาเกือบ 2 ปีเศษแล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแต่ประการใด

            ตามภาษิตกฎหมายที่ว่า "ชนชั้นใดร่างกฎหมาย ก็เพื่อชนชั้นนั้น"

อ่าน 1,501 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved