พล.อ.ประยุทธ์ ควรใช้ ม.44 สั่งให้สถานีขนส่งรถโดยสาร 'หมอชิต' กับสถานีรถไฟ 'บางซื่อ' (หัวลำโพง 2) อยู่ด้วยกันเพื่อประโยชน์ของประชาชน ขืนให้ บขส. กับ รฟท. ตกลงกันเอง คงไม่มีโอกาสได้ทำในชาตินี้
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) เห็นว่าการย้ายหมอชิตไปรังสิตจะเป็นปัญหาแก่ประชาชน และขณะนี้ก็มีข่าวว่าอาจต้องย้ายไปพิจารณาที่ใหม่ที่ยิ่งไกลออกไปอีก ถือเป็นการเพิ่มภาระการเดินทางแก่ประชาชน ทั่วโลกเน้นให้ขนส่งผู้โดยสารเข้าถึงใจกลางเมือง และให้กระจายโดยระบบรถโดยสารต่างจังหวัด พร้อมให้ข้อสังเกตว่าขนาดที่ดินที่จะซื้อ น่าจะเล็กไป และควรให้มีการเชื่อมกับระบบขนส่งมวลชน ยิ่งกว่านั้นควรมีการตรวจสอบเรื่องความโปร่งใส รวมทั้งควรมีการว่าจ้างประเมินค่าทรัพย์สินให้ถูกต้องก่อนที่จะตัดสินใจทำธุรกิจซื้อที่ดินแปลงใดเพื่อการพัฒนา "บขส"
กรณีนิวยอร์ก "บขส" ของเขาอยู่ใจกลางเมืองที่ Port Authority ส่วนสถานีรถไฟอยู่ Penn Station เดินถึงกันได้เลย
แม้แต่นิวยอร์กที่แสนหนาแน่น/แต่ไม่แออัด ก็ยังมี 'บขส." และ 'หัวลำโพง' อยู่ติดกัน ดร.โสภณ ยกตัวอย่าง "บขส" คือ Port Authority Bus Terminal และ "หัวลำโพง" ของนครนิวยอร์ก (Penn Station) ก็ตั้งอยู่ใกล้กันในย่านใจกลางเมืองบนเกาะแมนฮัตตัน หรือในกรณีกรุงลอนดอน "บขส" ก็อยู่ใกล้พระราชวังบักกิงแฮมเลย ชื่อ Victoria Coach Station ดังนั้น
1. กรณีกรุงเทพมหานครไปตั้งอยู่นอกเมือง ห่างจากกรุงเทพมหานครถึง 40-60 กิโลเมตร ก็เท่ากับไม่มีรถ "บขส" เข้าเมืองเลยในอนาคต ต้องต่อรถกันพัลวัน เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 300-400 บาท หากนั่งแท็กซี่เข้าเมือง แพงกว่าค่าโดยสารรถ บขส. จากต่างจังหวัดเสียอีก
2. บางท่านอาจแย้งว่านั่งรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้าเมืองได้ แต่ความเป็นจริง รถไฟฟ้าสายสีแดง ออกแบบมาให้เพียงพอกับการใช้สอยในเมือง ไม่อาจมีความสามารถในการรองรับคนจากต่างจังหวัดนับแสน ๆ คนได้
กรณีลอนดอน "บขส" ของเขาอยู่ใกล้พระราชวังบักกิงแฮมเลย ชื่อ Victoria Coach Station
ในกรณีนี้ จะให้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยกับ บขส เจรจากันเองคงเป็นไปไม่ได้ รัฐบาลประยุทธ์ควรใช้ ม.44 หรืออำนาจเบ็ดเสร็จ (ถ้ามีจริง) สั่งให้หรือประสานให้อยู่ด้วยกัน หาไม่ต่างก็จะยึดถือประโยชน์ของหน่วยงานของตนเป็นที่ตั้ง พื้นที่ปัจจุบันที่ "หมอชิต 2" ใช้อยู่นั้นมีขนาดประมาณ 73 ไร่ หากย้ายไปรังสิตก็มีขนาดใกล้เคียงเพียง 80 ไร่นั้น มีความเหมาะสมเพียงใด ไม่ได้คิดเผื่อการขยายตัวในอนาคตหรือไม่
ดร.โสภณ มีความเห็นว่า "หมอชิต" ควรอยู่ที่เดิม เพราะประชาชนสามารถเลือกต่อรถไฟ รถไฟฟ้า หรือรถประจำทางได้สะดวก ไม่สิ้นเปลืองเงินทองและเวลาของผู้เดินทาง การทำทางเชื่อมกับทางด่วนขั้นที่ 2 ทั้งขาเข้าและขาออกเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางด้วยรถโดยสาร เป็นสิ่งจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง อันที่จริงหากพัฒนา "หมอชิต" ใหม่ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น น่าจะรองรับการเดินทางได้สะดวกกว่าในปัจจุบันเป็นอย่างมาก
รัฐบาลควรใช้ ม.44 ในทางสร้างสรรค์บ้าง!