ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะในกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้น 2%
  AREA แถลง ฉบับที่ 93/2559: วันพุธที่ 16 มีนาคม 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

          ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ในฐานะประธานมูลนิธิอิสรชน (www.issarachon.org) ที่ช่วยเหลือคนเร่ร่อนเปิดเผยว่า จากการสำรวจของมูลนิธิอิสรชน ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์โดยมี นายนที สรวารี เลขาธิการมูลนิธิ เป็นหัวหน้าโครงการสำรวจนั้น พบว่า ณ สิ้นปี 2558 มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ หรือคนเร่ร่อน 3,311 คน แยกเป็นชาย 2,041 คน หญิง 1,270 คน  โดยเขตที่มีคนเร่ร่อนมากที่สุดคือเขตพระนคร มี 595 คน รองลงมาเป็นเขตบางซื่อ จตุจักร ปทุมวัน มี 296, 235 และ 215 คนตามลำดับ

          จำนวนคนเร่ร่อนเพิ่มขึ้นจาก 3,249 คนในปี 2557 หรือเพิ่มขึ้น 2% ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา อัตราการเพิ่มขึ้นของคนเร่ร่อนนั้นแม้จะไม่มากนัก แต่ก็ยังสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของประชากรไทยที่ 0.5% ต่อปี อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนตุลาคม 2558 ดร.โสภณ ได้เคยประมาณการจำนวนคนเร่ร่อน ณ สิ้นปี 2558 ไว้ที่ 3,360 คน (http://bit.ly/1SveAJj) แต่ผลการสำรวจครั้งล่าสุดนี้ ปรากฏว่าไม่ได้เพิ่มเท่าที่ประมาณการไว้
          สำหรับสาเหตุของการเร่ร่อนนั้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความยากจน ความป่วยทางสภาพจิต ปัญหายาเสพติด ครอบครัวแตกแยก ขาดคนเหลียวแล ปัญหาเด็กและเยาวชน ปัญหาโสเภณี ฯลฯ  บุคคลกลุ่มนี้สมควรที่สังคมจะให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพราะเป็นผู้ที่ยากแค้นจริง ๆ เป็นพี่น้องประชาชนไทยที่ไม่มีบ้านและครอบครัว คนกลุ่มนี้ต่างจากขอทานที่เป็นบุคคลจากประเทศเพื่อนบ้านบ้างหรือคนไทยเองบ้าง แต่คนเหล่านั้นมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง เดินทางมาขอทานด้วยรถแท็กซี่บ้าง หรือมีคนมาส่งบ้าง และมีรายได้วันละ 700-1,500 บาท ต่างจากคนเร่ร่อนที่แทบไม่มีรายได้หรืออาชีพที่เป็นหลักแหล่ง 
          หากพิจารณาสถานการณ์ในระดับโลก คนเร่ร่อนนับเป็นปัญหาของ ‘the Fourth World” คือไม่ใช่ปัญหาความยากจนของโลกที 3 เท่านั้น แต่เกิดขึ้นเสมือนเงามืดในประเทศหรือเมืองที่ศิวิไลซ์เช่นกัน

สำหรับในต่างประเทศ มีนครที่มีคนเร่ร่อนมากที่สุด (bit.ly/1SKja9L) ดังนี้:
อันดับที่   นคร                         จำนวนคนเร่ร่อน
1  มะนิลา                                70,000  คน
2  นิวยอร์ก สหรัฐฯ                    60,352  คน
3  ลอสแองเจลิส แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ  57,000  คน
4  มอสโก รัสเซีย                      50,000  คน
5  เม็กซิโกซิตี้ เม็กซิโก              30,000  คน
6  จาการ์ตา อินโดนีเซีย             28,000  คน
7  มุมไบ อินเดีย                       25,000  คน
8  เอเธนส์ กรีก                        20,000  คน
9  บอสตัน แมสซาชูเซตต์ สหรัฐฯ 16,540  คน
10 เซาเปาโล บราซิล                 15,000  คน
11 บัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา       15,000  คน
12 วอชิงตัน ดีซี สหรัฐฯ              13,000  คน
13 ฟีนิกซ์ อริสโซนา สหรัฐฯ        11,314  คน
14 ซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ 10,373  คน
15 บูดาเปส ฮังการี                    10,000  คน

          จะเห็นได้ว่าเมืองส่วนมากที่มีปัญหาคนเร่ร่อนรุนแรง เป็นเมืองในประเทศตะวันตกที่มีความร่ำรวย แต่ก็มีบุคคลเหล่านี้ซึ่งถือเป็น “คนชายขอบ” ที่พึงได้รับความช่วยเหลือ
          ดร.โสภณ เชื่อว่าการช่วยเหลือคนเร่ร่อนนั้นทำได้ไม่ยาก เช่น การจัดหาที่พักให้ปลอดภัยทั้งต่อคนเร่ร่อนและประชาชนทั่วไปเองที่อยู่ร่วมกันในสังคม แต่ยังรวมถึงการจัดหางานให้ทำ หรือจัดหาที่อยู่ในลักษณะสถานสงเคราะห์ผู้ให้บริการทางเพศ เด็กเร่ร่อน ฯลฯ เพื่อการบำบัดเฉพาะทาง อย่างไรก็ตามในปัจจุบันกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีงบประมาณปีละเพียง 10,000 ล้านบาท หรือเพียงราว 3% ของงบประมาณแผ่นดินไทย จึงย่อมมีขีดความสามารถจำกัดในการช่วยเหลือ ภาคเอกชนและภาคประชาชนจึงควรร่วมช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง
          ดร.โสภณ ยังริเริ่มโครงการช่วยเหลือคนเร่ร่อนด้วยการขอรับบริจาค เช่าระยะสั้น หรือยืมใช้ที่ดินใจกลางเมืองที่เจ้าของยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อเป็นที่พัก อาศัยสำหรับผู้ไร้บ้าน ทั้งนี้ที่ดินดังกล่าวมีลักษณะดังต่อไปนี้
          1. มีขนาดเท่าไหร่ก็ได้ หรืออาจเป็นอาคาร เช่น ทาวน์เฮาส์ ตึกแถวหรือบ้านเดี่ยวที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์
          2. ในกรณีที่ดินเปล่า มูลนิธิอิสรชน อาจจัดเป็นเตนท์โดยไม่มีการก่อสร้างอาคารใด ๆ ไม่สร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สิน หรืออาจขอตั้งตู้คอนเทนเนอร์เพื่อเป็นที่พักอาศัยของคนเร่ร่อนในยามค่ำคืน โดยไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับชุนชนโดยรอบ
          3. อาคารหรือที่ดินควรตั้งอยู่ในเขตพระนคร เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตปทุมวัน หรือเขตบางรัก ในระยะแรกนี้

      ทั้งนี้เจ้าของทรัพย์อาจอนุญาตให้ใช้ใน ระยะเวลาประมาณ 1-3 ปี หรืออาจจะมากกว่านี้ก็ได้ โดยหากเกิน 3 ปี มูลนิธิจะขอเช่าในราคาถูก แต่หากเจ้าของที่ดินต้องการจะใช้ที่ดินเมื่อใด มูลนิธิยินดีย้ายออกก่อนกำหนดเวลาโดยไม่ขอรับค่าขนย้ายใด ๆ เพียงแต่แจ้งล่วงหน้า 2-3 เดือน
      สำหรับการจัดที่พักพิงชั่วคราวนี้ มูลนิธิจะจัดที่สำหรับการหลับนอนที่ปลอดภัยในยามค่ำคืน (ตั้งแต่เวลา 19:00 - 07:00 น. ของวันรุ่งขึ้น) แก่คนเร่ร่อนหรือประชาชนทั่วไปที่ขาดที่พักพิงชั่วคราว เช่น เพิ่งเดินทางมาจากต่างจังหวัดแต่ไม่พบญาติมิตร เป็นต้น มีพื้นที่สำหรับการอาบน้ำ มีอาหารในมื้อเช้าและมื้อค่ำ และมียารักษาโรคสำหรับการปฐมพยาบาลในเบื้องต้น
      อนึ่งสำหรับท่านที่ประสงค์จะให้การช่วยเหลือคอนเทนเนอร์เก่า เวชภัณฑ์ เครื่องนอนหมอนมุ้ง อาหาร หรืออื่น ๆ ก็สามารถแสดงความจำนงค์ได้เช่นกัน
      สำหรับผู้ที่ให้การสนับสนุน มูลนิธิจะตอบแทนด้วยการประชาสัมพันธ์การทำความดีนี้ผ่านสิ่งพิมพ์ หรือเว็บไซต์ของมูลนิธิ ตั้งชื่อบ้านตามชื่อที่ผู้ให้การสนับสนุนต้องการ เป็นต้น
      ผู้สนใจสามารถติดต่อ ดร.โสภณ ในฐานะประธานมูลนิธิอิสรชน ได้ที่ โทร.02.295.3905 Email: sopon@area.co.th

อ่าน 4,372 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved