มีข่าวเป็นระยะๆ ว่ารัฐบาลจะใช้ ม.44 ปลดล็อกผังเมืองไทย นี่แสดงให้เห็นว่าการผังเมืองไทยล้มเหลว วางผังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง แทนที่จะช่วยนำทางการพัฒนากลับกลายเป็นการกีดขวางการพัฒนาประเทศ
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) เสนอให้ทำผังเมืองให้เป็นเสมือนแผนแม่บทการใช้ที่ดินที่ทุกภาคส่วนมีส่วนรวม โดยมีบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการวางผังเมืองซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็น ๆ อย่างยิ่ง ไม่เช่นนั้นการผังเมือง ก็จะไม่มีประสิทธิภาพและไม่มีประสิทธิผลสำหรับการพัฒนาประเทศ
อย่างเช่นในกรณีผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร แม้สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร หรือแม้แต่กรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย จะพยายามจัดทำผังเมืองให้ดี แต่ก็ไม่สามารถบรรลุได้ เนื่องจากขาดบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไม่อาจจัดทำผังเมืองที่เป็นคุณต่อส่วนรวมได้ ดร.โสภณ จึงขอเสนอให้รัฐบาลเป็น "เจ้าภาพ" จัดทำผังเมืองในลักษณะการปฏิรูปใหม่ ให้ผังเมืองเป็นเสมือนแผนแม่บท 5 หรือ 10 ปี ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เมืองได้รับการพัฒนาเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยตรง
รัฐบาลควรรื้อระบบการวางผังเมืองใหม่หมดโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมจริง ไมใช่รับฟังแต่ในเชิงรูปแบบ อันที่จริงพึงให้ประชาชนในท้องที่กำหนดการใช้ที่ดินของตนเอง ไม่ใช่ให้รัฐโดยเฉพาะกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นผู้กำหนด ซึ่งมักจะมีปัญหาเพราะกำหนดไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงอยู่เนือง ๆ ต้องให้ประชาชนได้มีส่วนตัดสินใจ อย่างกรณีผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร แม้มีผู้ร้องราว 2,000 ราย แต่กรุงเทพมหานครก็ได้ตอบสนองแก้ไขเพียง 3 ราย ที่เหลือไม่ได้รับการแก้ไข และไม่ได้มีเหตุผลบันทึกให้เป็นที่เข้าใจร่วมกันแต่อย่างใด
ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับการวางผังเมือง ทุกวันนี้นอกเขตผังเมืองรวม จะสร้างอะไรก็ได้ โรงงานจึงไปผุดนอกเขตผังเมืองรวม เท่ากับผังเมืองรวมไม่มีความหมาย การบังคับใช้กฎหมายผังเมืองก็ไม่เคร่งครัด บ้างใช้ช่องโหว่ก่อสร้าง บ้างอาจมีการทุจริตในการอนุญาตการก่อสร้างในบริเวณที่ห้ามสร้างเป็นต้น
ดร.โสภณ ยังเสนอว่า เราควรทำผังเมืองเชิงรุก เช่น
1. การสร้างศูนย์กลางธุรกิจในใจกลางศูนย์ธุรกิจ (CBD in CBD) โดยมีการเวนคืนที่เป็นธรรม มีการก่อสร้างบ้านทดแทนในบริเวณที่ใกล้เคียงเดิม ไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน
2. การสร้างศูนย์ชุมชนนอกเมือง โดยเป็นพื้นที่ปิดล้อม เชื่อมต่อกับใจกลางเมืองด้วยทางด่วนและรถไฟฟ้า เพื่อไม่ให้เมืองขยายโดยไร้ขีดจำกัด
3. การจัดสรรที่ดินให้สร้างนิคมอุตสาหกรรม จัดสรรที่ดินให้สร้างหมู่บ้านจัดสรรและอาคารชุดพักอาศัย โดยที่ดินนี้มีสาธารณูปโภคครบครัน ไม่ให้ใครๆ ไปสร้างโครงการที่ได้ตามใจชอบเช่นปัจจุบัน
4. การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อเพิ่มอุปทานที่ดิน เป็นต้น
5. การให้แต่ละชุมรุมอาคาร ชุมชน และท้องถิ่นวางแผนการพัฒนาที่ดินของตนเอง ไม่ใช่ เป็นการวางแผน วางผังเมืองแบบจากบนสู่ล่าง (Top Down) เช่นที่ผ่านมา
ผังเมืองต้องวางโดยประชาชน เช่น อย่างกรณีซอยร่วมฤดีที่มีความขัดแย้งว่าควรสร้างโรงแรมสูงใหญ่หรือไม่ ถ้าให้ประชาชนวางผังเองเมื่อ 50 ปีก่อน เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่จะให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัย ห้ามสร้างตึกสูง แต่ขณะนั้นรัฐบาลสฤษดิ์-ถนอม คงไม่ต้องการให้มีผังเมืองเพราะเป็นสิ่งที่คิดในสมัยจอมพลแปลก จึงไม่นำพา ปล่อยให้กรุงเทพมหานครไม่มีผังเมืองมาจนถึงปี 2535 พอเวลาผ่านไป ในซอยร่วมฤดี เหมาะที่จะสร้างอาคารสูงใหญ่ ถ้าถามชาวบ้านอีกทีหนึ่ง ก็เชื่อว่าส่วนใหญ่ต้องการให้อนุญาตให้สร้างตึกสูงได้ ถ้าประชาชนได้มีโอกาสวางผังเมืองเอง ก็คงไม่มีใครเอาแง่กฎหมายมาเล่นงานกันและกันได้นั่นเอง
ในอีกแง่หนึ่ง การใช้ ม.44 นับเป็นการชี้ให้เห็นว่าการผังเมืองไทยไร้ประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่ง กลายเป็นตัวปัญหา มากกว่าจะเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหา จึงมีการเสนอให้ใช้อำนาจพิเศษ ระบบราชการไทยคงล้าหลังเกินเยียวยาอีกต่อไปนั่นเอง แต่ในอีกแง่หนึ่ง ม.44 เองก็คงเกิดได้ยาก เพราะการคิดแบบรัฐบาลประยุทธ์ก็ยังเป็นการคิดแบบเก่าๆ ของข้าราชการที่ไม่กล้าออกนอกกรอบ ดังนั้นจึงเชื่อว่าคงไม่มี่การใช้ ม.44 ในเชิงสร้างสรรค์อย่างจริงจัง และการใช้ ม.44 นี้ ก็ถือว่าเป็นการใช้อำนาจที่ได้รับการตั้งคำถามอยู่เหมือนกันว่า สมควรใช้หรือไม่ อย่างไรก็ตามในรัฐบาลจากการเลือกตั้งปกติ ก็สามารถแก้ไขผังเมืองได้ โดยยึดโยงกับคนส่วนใหญ่ อย่าได้ไปเชื่อพวก NGOs จะเห็นได้ว่า NGOs เช่น กลุ่มกรีนพีซ แทบไม่มีบทบาทในประเทศมาเลเซีย แต่กลับคล้ายสามารถขี่คอรัฐบาลไทยได้
แนวคิดผังเมืองแบบคร่ำครึควรแก้ไขได้แล้ว ทำมาตั้งแต่หนุ่มจนตาย จนแก่เฒ่าแล้ว ก็ยังคิดแบบเดิม ๆ แถมยังได้ความดีความชอบ จนกลายเป็นตัวกีดขวางการพัฒนา ก็เป็นสิ่งที่ควรคิดใหม่ได้แล้ว