ระบบคมนาคมที่ขาดประสานงาน ทำรัฐเจ๊งมาหลายครั้งแล้ว
  AREA แถลง ฉบับที่ 97/2559: วันศุกร์ที่ 18 มีนาคม 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

          ระบบคมนาคมทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้า แทนที่จะสร้างกันตามความจำเป็น กลับแล้วแต่กระเป๋าใครกระเป๋ามัน สุดท้ายเอกชนบางรายได้ประโยชน์หรือไม่

          ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) กล่าวถึง “ตลกร้าย” ในการวางแผนระบบการคมนาคมขนส่งของไทย ที่รัฐบาลประยุทธ์ก็อาจย่ำรอยเดิมหรือไม่ โครงการขนาดใหญ่มีปัญหาการจ่ายหัวคิว “ได้ทำ ก็ได้ตังค์” หรือไม่ ควรทำให้โปร่งใสอย่างไร

          1. กรณีที่เด่นชัดก็คือ ทางด่วนขั้นที่ 2 ดอนเมืองโทลเวย์และโฮปเวลล์ โดยต่างฝ่ายก็ต่างสร้างไปทางทิศเหนือเช่นเดียวกัน แต่คนละหน่วยงานโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง และการรถไฟแห่งประเทศไทย และโดยที่เส้นทางแข่งขันกันเอง แทนที่จะกระจายไปทำที่อื่นบ้าง ผลสุดท้ายก็ต้อง “เจ๊ง” กันไป หรือต่างก็เจ็บตัว นี่เป็นเรื่องคนละกระเป๋าที่ต่างหาช่องทาง “โกย” หรือไม่
          2. รถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีเขียว โดย รฟม.และบีทีเอส  อันที่จริงเส้นนี้ห่างกันแค่ 2 กิโลเมตร น่าจะไปสร้างไกล ๆ กันหน่อย หรือไปทำสีอื่น แต่ก็อาจเป็นเรื่องของคนละหน่วยงาน คนละกระเป๋าเหมือนกัน สุดท้ายอาจต้องมีเจ๊งสักเส้นหรือไม่ ก็ต้องคอยดูกัน
          3. ตอนนี้รัฐบาลกำลังจะสร้างสายสีเหลืองและสีชมพู ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ถือว่า “กำขี้ดีกว่ากำตด” แต่ก็อาจทำให้หลายคนห่วงถึงเรื่อง “เงินทอน” กันบ้าง เพราะยังมีสายที่ควรสร้างอีกหลายเส้นทางโดยเฉพาะที่เข้าเมือง ไม่ใช่ไปตีโค้งนอกเมืองแบบนี้
          4. การทำระบบขนส่งมวลชนประเภทรถไฟฟ้านั้นในอนาคตอาจถูกผูกขาดโดยบริษัทเอกชนรายใดรายหรือไม่ ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันเสรีหรือไม่ ขาดความโปร่งใสหรือไม่ และทำให้ระบบตั๋วโดยสารแบบรวมทุกระบบไม่อาจเกิดขึ้นหรือไม่
          5. ในด้านความโปร่งใส ดร.โสภณ ชี้ว่าทุกวันนี้ คนไทยเราจะได้มีโอกาสรู้ล่วงหน้าถึงการขึ้นค่ารถไฟฟ้า หรือค่าทางด่วนไม่กี่วันล่วงหน้าก่อนขึ้น  ทั้งที่สัญญาโครงการต่าง ๆ ทำมานานแล้ว ประชาชนน่าจะได้มีโอกาสรับรู้ หรือรัฐบาลควรแจงให้ประชาชนได้ทราบเป็นระยะ ๆ ว่าจะมีการขึ้นค่าโดยสารหรือค่าธรรมเนียมในช่วงไหนบ้างตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี  นี่คือความไม่โปร่งใสประการหนึ่ง
          6. ในการประมูลโครงการต่าง ๆ รัฐบาลจึงควรแจกแจงให้ชัดถึงกระบวนการประมูลที่โปร่งใสเพื่อกันข้อครหาถึงเรื่อง “เงินทอน” “หักปากถุง” ฯลฯ ที่มักเกิดขึ้นกับโครงการขนาดใหญ่ ความโปร่งใสในเชิงรูปแบบ แต่เนื้อหาหรือไส้ในไม่โปร่งใสเป็นสิ่งที่สังคมจะตั้งคำถาม จะอ้างความรีบเร่ง ก็คงไม่ได้ เพราะโครงการหลายโครงการควรดำเนินการมา 20 ปีแล้ว แต่ไม่ได้ดำเนินการเสียที รอให้โปร่งใส สักหน่อยคงไม่น่าจะเป็นไร
          7. ในการทำโครงการต่าง ๆ นั้น ควรอยู่บนพื้นฐานที่รัฐไม่ต้องจ่ายเงินอุดหนุน และสามารถคืนทุนกับประเทศชาติโดยรวม ไม่ใช่นำเงินภาษีประชาชนทั่วประเทศมาอุดหนุนโครงการของคนในกรุงเทพมหานคร ถ้าเช่นนั้นก็เป็นการเบียดเบียนคนส่วนใหญ่

          ความโปร่งใสในการทำโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้รัฐบาลประสบความสำเร็จ หาไม่ก็อาจทำให้รัฐบาลขาดความมั่นคงทางการเมืองอย่างรุนแรงได้

อ่าน 1,742 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved