การสรรหาแบบไทยๆ ไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย ก่อเกิดทุจริต
  AREA แถลง ฉบับที่ 102/2559: วันอังคารที่ 22 มีนาคม 2559

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

          ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะให้มีการสรรหา สว.บ้าง หรือตำแหน่งในองค์กรอิสระบ้าง แต่การสรรหาทั้งหลายนั้นไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นบ่อเกิดการทุจริต สมาคมองค์กรต่าง ๆ ไม่ได้มีไว้เพื่อประชาธิปไตย แต่เพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม บางสมาคมก็อยู่กันจนรากงอก สร้างระบบอุปถัมภ์ ทำชาติเสียหายมากกว่า

          ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) กล่าวว่าการสรรหา จากกลุ่มวิชาชีพนั้นไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสม สาเหตุที่องค์กรวิชาชีพไม่สามารถมาแทน สว. หรือองค์กรอิสระต่าง ๆ ได้ ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า:
          1. องค์กรวิชาชีพที่มีอยู่ไม่ได้ครอบคลุมทุกสาขาวิชาชีพ ดังนั้นจึงจะเกิดความลักลั่น ได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างองค์กรวิชาชีพ ถ้าคิดเป็นจำนวน ตัวแทนของประชาชนในแต่ละหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ไม่ได้สัดส่วนกับองค์กรวิชาชีพที่มีมากมาย แต่เป็นตัวแทนของคนส่วนน้อยนิด
          2. องค์กรวิชาชีพไม่อาจเป็นตัวแทนของประชาชน ทั้งนี้แต่ละองค์กรตั้งขึ้นมาเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของกลุ่มกรรมการหรืออย่างมากก็เฉพาะของวิชาชีพเป็นสำคัญ
          3. บางองค์กรก็ตั้งขึ้นมาเพื่อการกุศลหรือการบำเพ็ญประโยชน์ ไม่ได้เกี่ยวกับการเป็นตัวแทนใครเช่นกัน
          4. บางองค์กรก็ตั้งขึ้นมาเพื่อการสังสรรค์ ออกจะเป็นองค์กร Nominee สมาคมโต๊ะสนุกเกอร์ หรืออื่นใด ซึ่งไม่สามารถใช้แทนปวงชนชาวไทยได้
          5. การได้มาซึ่งประธาน กรรมการขององค์กรวิชาชีพหลายแห่งก็ไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นแบบพวกมากลากไป มีหลายครั้งที่แม้แต่ในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่สำคัญ ๆ ของประเทศ ก็มีเรื่องฉาวโฉ่ในการซื้อตำแหน่งบริหารองค์กรอยู่เป็นระยะ ๆ ดังนั้นขนาดว่าภายในองค์กรวิชาชีพ ก็ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ยังเป็นเผด็จการแล้วจะมาเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยได้อย่างไร
          6. กรรมการหลายคนในหลายองค์กรก็เข้ามาเพื่อแสวงหาโอกาส เครือข่าย เพื่อความได้เปรียบทางธุรกิจเหนือคู่แข่งอื่น หลายคนมารับ ไม่ได้มาให้สังคมอย่างแท้จริง
          7. ที่สำคัญที่สุดประชาชนน่าจะเป็นผู้แทนของพวกเขาเองโดยตรง ไม่ใช่ผ่าน "ร่างทรง" ซึ่งอาจไม่ตรงใจตรงความต้องการที่แท้จริงของพวกเขา

          ดร.โสภณ จึงมีความเห็นว่า ในกรณี สว. สส. กรรมการในองค์กรอิสระต่าง ๆ ควรกำหนดให้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ส่วนข้อวิตกว่าจะมีนักการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ข้อนี้ไม่ควรมีอคติกับนักการเมืองแบบเหมารวมอย่างนี้ คนที่เป็นสรรหาตามกระบวนการที่ผ่านก็ ก็ใช่ว่าจะน่าเชื่อถือจริงตามที่อ้างข้างต้น ที่สำคัญมักมีการเล่นพรรคเล่นพวก แม้มีการเสนอชื่อสรรหามากมาย แต่อยู่ที่คณะกรรมการสรรหาอีกทอดหนึ่ง โอกาสที่ฝ่ายที่เห็นต่างจากผู้มีอำนาจจะหลุดรอดเข้ามาคงเป็นไปได้น้อยมาก

          ยิ่งกว่านั้นคณะกรรมการสรรหา ก็ยังมีปัญหา ปกติมักกำหนดให้มีคณะกรรมการประกอบด้วย
          1. ประธานศาลฎีกา
          2. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
          3. ประธานศาลปกครอง
          4. ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร
          5. บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือก
          6. บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือก ฯลฯ

          การสรรหาแบบนี้ดูคล้ายกับการมีประชาธิปไตย แต่ในความเป็นจริงแล้ว การสรรหาโดยเฉพาะแบบไทย ๆ นี้ ไม่ต้องตามหลักประชาธิปไตย เพราะ
          1. ในการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหา ไม่ได้แสดงเห็นผลให้เป็นที่ประจักษ์ว่าผู้ที่ได้รับการสรรหา หรือการเลือกสรรของคณะกรรมการนั้น เหมาะสมกว่าท่านอื่นอย่างไร กรณีนี้ถือเป็นการวินิจฉัยของคณะกรรมการเป็นสำคัญ คนถูกเลือกย่อมอยู่ในอำนาจของคนเลือก
          2. แม้กรรมการมีตำแหน่งน่าเชื่อถือ แต่ก็ใช่ว่า จะมีการพิสูจน์ทราบว่าเป็นบุคคลเชื่อถือกว่าข้าราชการหรือบุคคลอื่นจริงหรือไม่ จะเห็นได้ว่าผู้ที่เป็นกรรมการสรรหา ส่วนใหญ่เป็นผู้พิพากษา
          3. การที่กรรมการคนหนึ่ง ๆ จะเลือกใครนั้น อาจขึ้นอยู่กับฉันทาคติหรืออคติต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่เสนอตัวให้กับการคัดเลือก จะมีเครื่องยืนยันหรือพิสูจน์ได้อย่างไรว่า กรรมการคัดเลือกไม่ได้มีความชอบพอกับใครเป็นพิเศษหรือไม่
          4. ใครเลือกก็เป็นคนของคนสรรหานั้น ระบบการสรรหาที่ว่าให้เน้นคุณธรรมและความซื่อสัตย์นั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจ ไม่อาจพิสูจน์ได้ อาจมีการแต่งตั้งบุคคลที่เป็นคนใกล้ชิดและเกิดการซื้อขายตำแหน่งได้ง่ายกว่าการ "ซื้อเสียง" (ถ้ามี) ซึ่งคาดว่าต้องใช้เงินจำนวนมากกว่ามหาศาลในการซื้อ อาจสร้างความแตกแยกให้กับประชาชนแทนที่จะเกิดความปรองดองหากการสรรหานั้นไม่มีความเป็นธรรม มีการเล่นพรรคเล่นพวก ขาดการตรวจสอบ

          ทางออกที่สมควรในการสรรหาบุคคลเป็นกรรมการในองค์กรอิสระใด ควรกำหนดคุณสมบัติที่ชัดเจน แล้วให้มีการคัดเลือกโดยประชาชนโดยตรง หรืออย่างน้อยก็นักวิชาชีพที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น ในกรณีกรรมการสิทธิมนุษยชน ควรเป็นผู้ที่ได้ดำเนินกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรมจริง แล้วให้ประชาชนเลือกโดยตรง หรือให้ผู้ที่มีบทบาทด้านสิทธิมนุษยชนเป็นผู้เลือกเป็นต้น

อ่าน 1,495 คน
2024 Copyright © by area.co.th All Rights Reserved