“การจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน... หมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ให้มีพอเพียงกับตัวเอง” {1}
ข้างต้นนี้เป็นพระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง พระราชทานแก่พสกนิกรเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ซึ่งผมอัญเชิญมาเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักว่า ในการบริโภคใด ๆ ก็ตาม เราควรประหยัด ไม่ควรฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ ใช่ว่ามีเงินก็จะใช้สอยตามอำเภอใจ เพราะทรัพยากรทั้งหลายเป็นของทุกคนโดยเฉพาะลูกหลานของเราในอนาคต จึงเอามาใช้โดยไม่ยั้งคิดไม่ได้
ในยามเศรษฐกิจตกต่ำ เราต้องกำเงินสดไว้ แต่รัฐบาลจะส่งเสริมให้คนใช้จ่าย ไปซื้อบ้าน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ขายสินค้าได้ อันนี้ผู้บริโภคพึงระวังเป็นอย่างยิ่ง อย่างฝรั่งเช่นเลแมนบราเธอร์ที่มาลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือหนี้ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำนั้น เขาซื้อกันที่ 16-30% ของมูลหนี้หรือราคาเดิม อย่างนั้นถึงน่าซื้อ
ทุกวันนี้ถ้าเราดูโฆษณาทางจอทีวี ก็มักพบการจูงใจให้ใช้ทรัพยากรอย่างไม่ยั้งคิด เช่น การส่งเสริมให้กู้เงิน (ด่วน) ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าคนเรามีความจำเป็นอะไรในการใช้เงินด่วนกันนักหนา (ถ้าไม่ใช่ในทางหมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย) จึงต้องโฆษณาให้กู้เงินกันมากมายและดูเป็นอาจิณเช่นนี้
ในแง่การเงินเคหะการของภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น เรามีข้อคิดสำหรับการเป็นหนี้ คือ:
1. ไม่มีความจำเป็นอย่ากู้ (โดยเฉพาะอย่ากู้มาเสพสุข ต้องเพื่อการลงทุนเป็นสำคัญ)
2. ถ้าต้องกู้ ก็อย่าสร้างหนี้หลายทาง (ตามความอยาก)
3. กู้ให้กู้แต่น้อย (อย่าเชื่อมั่นตัวเองจนเกินไป)
4. ผ่อนให้เสร็จเร็วที่สุด (เพราะการผ่อนช่วงแรก ๆ คือดอกเบี้ยทั้งนั้น)
แต่ทุกวันนี้เรากลับยุยงส่งเสริมให้กู้หนี้ยืมสินโดยไม่สนใจว่า เป็นการลงทุนหรือเพื่อการบริโภคกันแน่ บางคนมีบัตรเครดิตนับสิบใบ การยินดีเป็นหนี้เพื่อซื้อความสบายเฉพาะหน้านั้น ไม่น่าจะมีบั้นปลายที่ดีงาม ผู้ชมชอบการเสพสุขมาก ๆ อาจยอมเสียศักดิ์ศรี-เกียรติภูมิ หรือกระทั่งยอมทรยศต่อชาติเพื่อตนเองในวันหน้าได้
จากประสบการณ์ศึกษาเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติอส้งหาริมทรัพย์ของผม พบว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จะเจ๊งก็เพราะการขาดการศึกษาให้รอบคอบก่อนการตัดสินใจพัฒนาที่ดินประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งก็คือการลงทุนเกินตัว จะสังเกตได้ว่า โครงการใดที่ขาดการลงทุนอย่างเพียงพอในกระบวนการสำรวจวิจัยล่วงหน้า มักจะล้มเหลว นี่แสดงถึงภาวะ ‘ฆ่าควาย เสียดายเกลือ’ หรือ ‘เสียน้อย เสียมาก เสียยาก เสียง่าย’ ถือเป็นการขาดวิสัยทัศน์สำหรับผู้ประกอบวิสาหกิจ ในทางตรงกันข้าม การลงทุนเกินตัว แสดงถึงการขาดความยั้งคิด การละโมบ มุ่งฟุ้งเฟื่องโดยขาดปัจจัยพื้นฐานที่ดี หรือการขาดความตระหนักรู้ถึงความพอเพียงนั่นเอง
ในการทำธุรกิจ SMEs เราจึงต้องไม่ฟุ้งเฟ้อ ยิ่งมีทุนน้อย ยิ่งต้องรอบคอบ เพราะการก้าวพลาดย่อมยังความเสียหายมาก โดยเฉพาะการก้าวพลาดที่ไม่สมควร อันเกิดมาจากความฟุ้งเฟ้อนั่นเอง
สุดท้ายนี้ ผมขอยกคำสอนของท่านพุทธทาสมาฝากไว้บทหนึ่งว่า
“อันบุคคล กตัญญู รู้คุณโลก อุปโภค บริโภค มิให้หลาย
ข้าวหรือเกลือ ผักหรือหญ้า ปลาหรือไม้ ฯลฯ
รู้จักใช้ อย่าทำลาย ให้หายไป” {2}
การส่งเสริมให้คนซื้อบ้าน ใช้เงินเพื่อไปซื้อสินค้า แจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจล้วนแต่ไม่ใช่หนทางสู่ความสว่าง เป็นความสิ้นคิดของของรัฐบาลที่เสนอโดยทีมเศรษฐกิจภายใต้การนำของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
อย่าลืมนะครับ ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ย่อมไม่มีปัจจุบันที่สงบสุขและไม่มีบั้นปลายที่ดีงาม
อ้างอิง
{1} คัดจาก http://suwannaphum.roiet.doae.go.th/economic.htm
{2} คัดจาก http://www.technicrayong.ac.th/?q=node/437