รัฐบาลเอาเงินตั้ง 70,000 ล้านบาทไปใช้ทำโครงการบ้านประชารัฐทั้งที่งบประมาณแผ่นดินเหลือน้อยเต็มทน นี่เป็นความสูญเปล่า ยังมีวิธีกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้ผลโดยรัฐบาลแทบไม่ต้องเสียเงินแม้แต่บาทเดียว
โครงการบ้านประชารัฐไม่น่าจะมีประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง (http://bit.ly/1PsprjE) แต่เพื่อสนองตอบต่อการพยายามกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) มีข้อเสนอแนะง่าย ๆ แต่ได้ผล
ถ้ารัฐบาลอยากจะให้เศรษฐกิจดีขึ้น หนทางง่าย ๆ อย่างหนึ่งก็คือการส่งเสริมการซื้อบ้านมือสองซึ่งเป็นบ้านที่มีอยู่แล้ว ไม่ต้องเสียต้นทุนในการผลิตใหม่ โดยดำเนินการดังต่อไปนี้:
1. ประกาศให้ผู้ที่มีบ้านที่จะขายในราคาถูก ที่อาจเป็นทั้งผู้ประกอบการที่มีหน่วยขายเหลืออยู่น้อย ไม่มีงบประมาณในการโฆษณา หรือประชาชนทั่วไปผู้มีบ้านหรือห้องชุดเป็นของตนเอง
2. สินค้าบ้านราคาถูกนี้ เช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮาส์ หรือทาวน์เฮาส์ ที่มีราคาไม่เกิน 1,500,000 บาท เพื่อให้โอกาสคนซื้อบ้านได้ซื้อบ้านในราคาถูก และคนขายบ้านได้เงินสดไปหมุนเวียนโดยไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินหรือไม่ต้องไปขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล เป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาล
3. ให้ผู้สนใจขายบ้านลงทะเบียนไว้กับกรมบังคับคดี การเคหะแห่งชาติ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค บสก. หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง โดยต้องเสียค่าธรรมเนียมในการว่าจ้างบริษัทประเมินที่เป็นกลางไปประเมินหน่วยละประมาณ 3,000 บาท เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจกับผู้ซื้อบ้านว่า จะได้บ้านที่มีราคาที่เป็นธรรม และเพื่อป้องกันการทุจริต ก็ให้บริษัทประเมินทำประกันไว้ว่า หากประเมินผิดไปจากความเป็นจริงเกิน 10% ต้องเสียค่าปรับ 20 เท่าของค่าจ้าง
4. ให้ใช้หอประชุมกองทัพบก ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ หรือสถานที่อื่นใดจัดการขายบ้านเหล่านี้ โดยให้ผู้จะขายรายย่อยตั้งโต๊ะขายโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือให้บริษัทพัฒนาที่ดิน บสก. สถาบันการเงินที่มีทรัพย์สินจะขายจัดบูธได้โดยเสียค่าใช้จ่าย เพื่อสนับสนุนผู้ขายบ้านรายย่อย หรือให้บริษัทพัฒนาที่ดินที่มีสินค้าถูกเหล่านี้ขายมาขายกับผู้สนใจซื้อโดยตรง
5. ให้ผู้ขายบ้านตั้งราคาขายตามราคาที่ประเมินได้ ใครมาก่อนได้ไปก่อน โดยผู้จะซื้อแต่ละรายต้องวางเงินจองไว้ 50,000 บาท โดยสถาบันการเงินที่เป็นกลาง เป็นผู้เก็บรักษาเงินดังกล่าว หากตกลงกันแล้วแต่ผู้ซื้อกลับ 'เบี้ยว' ให้ยกเงินนี้ให้กับผู้ขาย ทั้งนี้ในการซื้อขายนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นการซื้อขายเฉพาะบ้านมือหนึ่งบ้านหลังแรกเท่านั้น เพราะวัตถุประสงค์หลักคือการกระตุ้นให้มีการซื้อบ้านเหล่านี้ได้โดยง่ายซึ่งจะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
6. ในกรณีที่ยังมีหน่วยขายเหลือ ให้ตกลงกับเจ้าของบ้านเพื่อลดราคาเหลือ 80% แล้วนำออกมาประมูลเพื่อส่งเสริมการขายในอีก 1 เดือนให้หลัง
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.โสภณ เคยประเมินไว้ว่าขณะนี้ที่อยู่อาศัยที่มีราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ที่เป็น "บ้านว่าง" หรือบ้านที่สร้างเสร็จแต่ไม่มีคนเข้าอยู่อาศัยจำนวน 142,438 หน่วย (http://bit.ly/1XrGaJM) ที่อยู่อาศัยเหล่านี้หากขายได้เพียง 10% ก็จะเป็นจำนวนถึง 14,244 หน่วยแล้ว ยิ่งหากนับรวม ที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาทที่มีคนอยู่อาศัยแต่ประสงค์จะซื้อขายเพื่อการหมุนเวียนเงินทุนทางเศรษฐกิจ อีกประมาณหนึ่งเท่าตัวก็เท่ากับจะมีการซื้อขายที่อยู่อาศัยในครั้งนี้จำนวน 28,288 หน่วย หากราคาขายเฉลี่ยตกที่ 1.2 ล้านบาทก็เท่ากับจะทำให้เกิดการซื้อขายกันถึง 33,946 ล้านบาท โดยรัฐบาลแค่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย และไม่นำสถาบันการเงินของรัฐเข้าสู่ความเสี่ยง ไม่เป็นการแทรกแซงตลาดสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และไม่ทำให้เกิดอาการฝนตกไม่ทั่วฟ้าในการซื้อบ้าน
เงินที่ได้ส่วนนี้จะช่วยหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อีกมาก และเป็นเงินสุทธิเพราะไม่ต้องผลิตที่อยู่อาศัยขึ้นใหม่ เงินทองไม่ไปสู่บริษัทปูนซีเมนต์หรือบริษัทเหล็กรายใหญ่ แต่จะกระจายไปสู่ประชาชนทั่วไปนั่นเอง บริษัทพัฒนาที่ดินซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทรายใหญ่ใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ตามก็ช่วยตัวเองได้อย่างมีศักดิ์ศรีอยู่แล้ว รัฐบาลจึงไม่จำเป็นต้องไปให้การช่วยเหลือใดๆ
รัฐบาลโดยทีมเศรษฐกิจที่นำโดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ควรวางแผนการใช้จ่ายงบประมาณอย่างชาญฉลาดมีประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผลไม่ควรนำเงินไปโปรยวานฉันที่ทำนี้ประเทศไทยยังต้องการเงินทุนเพื่อไปพัฒนาประเทศทางด้านอื่นอีกมาก